ชีวิตหักเหทางการเมืองของอันวาร์ อิบราฮิม มาถึงจุดสูงสุดในวัย 75
แต่แม้จะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมใจแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความยั่งยืนมั่นคง
เพราะต้องอาศัยจมูกของพรรคร่วมรัฐบาลมากมายหลายพรรคหายใจ
เรื่องของการแทงข้างหลังและการเบี้ยวข้อตกลงเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองมาเลเซียเหมือนกับอีกหลายประเทศ
เมื่อปี 1997 อันวาร์ได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ยกย่องให้เขาเป็นสัญลักษณ์ของ "อนาคตของเอเชีย"
ในที่สุด “อนาคต” ก็มาถึงเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย จากความพยายามครั้งที่ 4 ของการดิ้นรนต่อรองและรณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
คำมั่นสัญญาแรกกับประชาชนในฐานะผู้นำคนใหม่คือ จะจัดการกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำหรับอันวาร์ การได้มานั่งทำงานที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีนั้นถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนสถานะอย่างมีนัยสำคัญจากห้องเรือนจำที่จำกัดเสรีภาพของเขามากกว่า 1 ครั้ง
ด้วยข้อหาหลายกระทงที่เขายืนกรานปฏิเสธมาตลอด
ในฐานะเป็นผู้นำของกลุ่ม “พันธมิตรแห่งความหวัง”
Pakatan Harapan (Alliance of Hope) กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อีกหลายประการ
นั่นคือการนำความมั่นคงมาสู่ประเทศในฐานะนายกฯ คนที่ 4 ใน 4 ปี
ในบรรยากาศที่ยังแปดเปื้อนไปด้วยเรื่องอื้อฉาวทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ...คอร์รัปชันที่โยงถึงอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค ในคดี 1MDB
อันวาร์มีความเชี่ยวชาญด้านภาษามลายู เรียนหนังสือจบที่มหาวิทยาลัยมาลายา ก่อนจะกระโจนเข้าสู่การเมืองในปี 1972
โดยก่อตั้งขบวนการเยาวชนมุสลิมแห่งมาเลเซีย
อันวาร์ได้ชื่อว่าเป็นนักพูดที่มีทักษะคล่องแคล่วและสามารถชักจูงคนฟังได้อย่างแหลมคม
เขาได้รับเลือกเข้าสภาเป็นครั้งแรกในปี 1982 ในฐานะสมาชิกของ United Malays National Organization (UMNO)
อันเป็นพรรคที่ปกครองมาเลเซียมาเกือบตลอดประวัติศาสตร์หลังประเทศได้รับเอกราช
อันวาร์เติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการในคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ที่เห็นศักยภาพของหนุ่มไฟแรงคนนี้เกือบจะทันทีที่ได้สัมผัส
จากจุดนั้น อันวาร์ใช้เวลาเพียง 1 ปีในการได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรัฐมนตรี
และตั้งแต่ปี 1983 ถึง 1998 เขาได้ควบคุมพอร์ตการลงทุนต่างๆ ตั้งแต่เยาวชนและกีฬา ไปจนถึงวัฒนธรรม การเกษตร การเงิน และการศึกษา
ปี 1993 เป็นปีแห่งความรุ่งเรืองทางการเมืองของเขา เพราะได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
เป็นที่ชัดเจนว่ามหาธีร์วันนั้นกำลังป่าวประกาศให้คนมาเลเซียทั้งประเทศได้รับรู้ว่าอันวาร์คือ “ทายาททางการเมือง” ต่อจากเขา
แต่ในปี 1998 ซึ่งเป็นปีหลังจากที่อันวาร์ได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ทุกอย่างกลับพังทลายลง
อันวาร์ถูกไล่ออก ติดคุก หรือแม้แต่ถูกหัวหน้าตำรวจทำร้าย ซึ่งในเวลาต่อมาจะได้รับโทษจำคุกสั้นๆ ฐานทำร้ายร่างกาย
ในปี 1999 อันวาร์ถูกศาลตัดสินมีความผิดในข้อหาทุจริตและประพฤติผิดทางเพศกับผู้ชาย ถูกส่งตัวเข้าคุก
เขานอนคุกถึงปี 2004 เมื่อมีคำสั่งลดโทษบางส่วน
อันวาร์เดินหน้าต่อสู้ทางการเมืองด้วยการตั้งพรรค People’s Justice Party
โดยในช่วงต้นพรรคนี้มีแกนนำคือภรรยาของอันวาร์ วัน อาซิซาห์ วัน อิสมาอิล ทั้ง 2 มีลูกด้วยกัน 6 คน
ในปี 2008 อันวาร์ประสบความสำเร็จในการกลับเข้าสู่รัฐสภาด้วยการชนะการเลือกตั้งซ่อม
แต่ในปีเดียวกัน เขาก็โดนข้อหาเรื่องพฤติกรรมทางเพศครั้งใหม่ และถูกสั่งจำคุกอีกครั้งในปี 2015
ในปีเดียวกันนั้นเองก็เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตว่าด้วยการฉ้อฉลอย่างมโหฬารใน 1Malaysia Development Berhad (1MDB)
ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลที่ตั้งและบริหารโดยผู้มีอิทธิพลในพรรค UMNO โดยเฉพาะนายกฯ Najib Razak
เชื่อกันว่าเงินจำนวน 4.5 พันล้านดอลลาร์ (162,000 ล้านบาท) ถูกยักยอกไปจากกองทุนนี้
อันวาร์กับมหาธีร์กลับมาจับมือกันอีกครั้งด้วยความจำใจ ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วยังมีความแค้นเคืองกันอย่างหนัก
นั่นคือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018
แม้จะมีความร่วมมือไม่ราบรื่นนัก และอันวาร์จะยังอยู่ในคุก แต่เมื่อรวมพลังกันแล้วก็สามารถคว้าชัยชนะเหนือแนวร่วมแห่งชาติของนายกฯ นาจิบได้อย่างเกรียวกราว
สิ้นสุดการครองอำนาจเบ็ดเสร็จของพรรค UMNO อย่างมีนัยสำคัญ
จากผลการเมืองตั้งครั้งนั้น มหาธีร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และวัน อาซิซาห์ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี
ต่อมาอันวาร์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 1 สัปดาห์ หลังจากมหาธีร์เข้ารับตำแหน่ง
เป็นที่รับทราบว่าเขาและมหาธีร์มีข้อตกลง (แม้จะไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร) ว่าภายใน 2 ปี มหาธีร์จะส่งไม้ต่อให้อันวาร์
แต่แล้วท่านผู้เฒ่าก็เบี้ยวจนได้
ไม่ช้าไม่นาน การเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดอาการรวนเร นำไปสู่การก่อขบถภายในที่ทำให้มหาธีร์ลาออกในช่วงต้นปี 2020
เปิดทางให้แนวร่วมในอดีต มูห์ยิดดิน ยัสซิน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจาก UMNO
เป็นการพลิกเกมการเมืองที่อื้อฉาวเกรียวกราวไปด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการทรยศหักหลังกันอย่างวุ่นวาย
ปีที่แล้วรัฐบาลของมูห์ยิดดินล้มครืน เปิดทางให้ UMNO กลับมามีบทบาทสำคัญอีก
แต่แล้ว UMNO ก็ฟื้นไม่ได้เต็มตัว ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าพรรคเก่าแก่แห่งนี้หมดสภาพของการเป็นพรรคใหญ่แล้ว
เพราะพันธมิตรกลุ่ม UMNO ที่เรียกว่า BN นั้นได้ที่นั่งเพียง 30 ในสภาครั้งนี้
แต่แล้วอันวาร์ก็จำเป็นต้องพึ่งพาพรรคเก่าของตน ทั้งๆ ที่เคยประกาศจะไม่เผาผีกับพรรคนี้ เพราะปัญหาคอร์รัปชัน
เงาของอดีตนายกฯ นาจิบยังยืนตระหง่านอยู่ข้างหลัง UMNO
เพราะเขากำลังนั่งอยู่ในเรือนจำจากคำพิพากษาของศาลให้จำคุก 12 ปี จากข้อหาโกงกินที่โยงกับ 1MDB
จากนี้ไป นายกฯ อันวาร์ต้องเจอกับความท้าทายที่เหนื่อยยากและลำบากอย่างยิ่ง
แต่ในเมื่อเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตแล้ว เขาก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องลุยต่อไปข้างหน้า
ไปตายเอาดาบหน้า...ส่วนดาบหน้าจะมาในกี่วันกี่เดือนก็ยังไม่อาจจะทราบได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว