เมื่อประชากรโลกทะลุ 8,000 ล้าน ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งหนักขึ้น!

วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้องจารึกไว้ว่าประชากรโลกทะลุ 8,000 ล้านคน ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า เรากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อะไรบ้าง

สหประชาชาติบอกว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกมาจากประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกามากที่สุด

ปัญหาคือประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ที่ประเทศที่ยากจน ส่วนประเทศร่ำรวยกลับมีอัตราการเกิดลดน้อยลง

ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำระดับโลกถ่างกว้างขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

หนึ่งในประเทศที่ว่านี้คือ ไนจีเรีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีทรัพยากรในเกือบทุกๆ ด้านค่อนข้างจำกัด

กรุงลากอส เมืองหลวงของไนจีเรียมีคนมากกว่า 15 ล้าน แต่สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้เด็กทุกคนที่เกิดมามีความมั่นคงทางด้านอาหารและสุขอนามัยที่ดีได้

รายงานสหประชาชาติบอกว่า ในไนจีเรีย ประชาชนอยู่ในสภาพยากจน ต้องแย่งชิงใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา หรือระบบขนส่งมวลชน ซึ่งขาดแคลนอย่างมาก

รายงานวิจัยของยูเอ็นบอกว่า นักเรียนไนจีเรียจำนวนมากต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อให้ทันไปโรงเรียน

บนเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียนก็มีปัญหาจราจรที่ติดขัดอย่างหนักตลอด

คุณภาพชีวิตมีแต่จะย่ำแย่ลง

สหประชาชาติประเมินว่า ประชากรไนจีเรียจะเพิ่มขึ้นจาก 216 ล้านคน ในปีนี้ เป็น 375 ล้านคน ในอีก 30 ปีข้างหน้า

แต่รายได้ประชากรจะลดลง เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจไม่มีทีท่าว่าจะโตได้ทันการเพิ่มขึ้นของประชากรแต่อย่างใด

สถิติที่ทำให้มีความกังวลว่า หากการเพิ่มขึ้นของประชากรยังไต่ขึ้นอย่างที่พยากรณ์ไว้ ไนจีเรียก็จะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ เท่านั้น

ที่เป็นประเด็นน่ากังวลคือ ไม่ใช่แต่ไนจีเรียเท่านั้นที่ขาดทรัพยากรที่จะตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น

แต่ยังมีอีก 7 ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกทั้งหมด ระหว่างปี 2022-2050

กลุ่มประเทศที่ว่านี้คือ คองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อียิปต์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์

และอินเดียที่คาดว่าจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีหน้า

รายงานของสหประชาชาติฉบับนี้คาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านคน ภายในปี 2030

และถึง 9,700 ล้านคน ภายในปี 2050 ก่อนจะเพิ่มถึง 10,400 ล้านคน ภายในปี 2100

รายงานของสหประชาชาติเรื่องนี้ชื่อเรียกร้องความสนใจว่า "Day of 8 Billion"

อ่านแล้วก็เห็นภาพที่น่าเป็นห่วง เพราะประชากรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในหมู่ประเทศที่การพัฒนายังล้าหลัง

ซึ่งขาดแคลนปัจจัยแห่งชีวิตเกือบทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค การศึกษา การทำงาน และความมั่นคงด้านอาหาร

ขนาดประชากรยังไม่ได้เพิ่มทุกวันนี้ ประเทศเหล่านี้ก็เผชิญกับวิกฤตของความอยู่รอด

หากต้องเจอกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ก็ยิ่งจะทำให้โลกนี้ไร้เสถียรภาพ

เพราะโลกที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นตลอดเวลาย่อมไม่อาจจะคาดหวังว่าจะมีความสงบสุขได้

ประเทศร่ำรวยเองก็ไม่อาจจะสบายใจได้ว่าประเทศยากจนจะไม่ลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมและการแบ่งปันทรัพยากรด้วยเสียงอันดังมากขึ้น

และหากความเดือดร้อนของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนอง โลกก็อาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตด้านการเมืองและสังคมอย่างหนักก็ได้

รายงานชิ้นเดียวกันนี้บอกว่า แม้หลายประเทศจะมีประชากรเพิ่ม แต่มีอย่างน้อย 61 ประเทศ ที่จำนวนประชากรมีอัตราลดลงประมาณ 1%

ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ซึ่งวันนี้มีจำนวนประชากรประมาณ 333 ล้านคน

มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ระดับเพียง 0.1%...ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

จำนวนประชากรทั้งหมดบนโลกเพิ่มขึ้นจากเพียง 2 พันล้านคน ในปี 1927 เป็น 6 พันล้านคน ในปี 1998

ขณะที่ประเทศยากจนมีคนเพิ่มขึ้น ประเทศร่ำรวยกลับมีคนเกิดใหม่น้อยลง

เพราะค่าใช้จ่ายสูงในการเลี้ยงดูบุตร และอัตราการแต่งงานที่ลดลง ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งแต่เกาหลีใต้ไปจนถึงฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับจำนวนประชากรที่ลดลง เพราะทารกเกิดใหม่ไม่เพียงพอที่จะทดแทนผู้สูงอายุ

หลายประเทศพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานี้

บางประเทศใช้วิธีเสนอจ่ายเงินและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้นสำหรับครอบครัวที่มีลูกมากขึ้น

แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าใดนัก

สหประชาชาติบอกว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้น้อย

คาดการณ์ว่าในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า จำนวนประชากรที่อายุต่ำกว่า 65 ปีในประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลางระดับสูงจะลดลง

ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่าอายุดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น

สหประชาชาติคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ  

นั่นสร้างความท้าทายให้กับประเทศต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งประสบปัญหารายได้ต่อหัวที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

ด้วยจำนวนคนหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาระให้กับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพประเทศต่างๆ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจึงพยายามสร้างความตระหนักในประเด็นต่างๆ เช่น การคุมกำเนิดเพื่อลดอัตราการเกิด

เดิมมีการคาดการณ์ถึงวิกฤตที่จะมาพร้อมกับการมีประชากร “ล้นโลก”

ถึงขั้นมีการพูดถึง “วันสิ้นโลก” หากไม่สามารถป้องกันวิกฤตอันเกิดจากคนเกิดมากเกินทรัพยากรโลก

หนังสือชื่อดังเรื่องนี้ในอดีตเล่มหนึ่งที่ผมจำได้ชื่อ "The Population Bomb" ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ Paul Ehrlich ของ Stanford ในปี 1968

อาจารย์คนนี้เคยเตือนตอนนั้นว่า เมื่อคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเอาอาหารอะไรมาป้อนเด็กเกิดใหม่

แต่ปัญหานั้นไม่เกิดขึ้นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตรและการชะลอตัวของอัตราการเจริญพันธุ์

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ภาพของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในภาคประเทศยากจน แต่ลดลงในประเทศร่ำรวยนั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนักหน่วงระดับโลก เพราะสิ่งที่จะตามมาคือ การเติบโตของประชากรโลกจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

และจะยิ่งทำให้สภาวะโลกร้อนและการตัดไม้ทำลายป่าหนักหน่วงยิ่งขึ้น

คุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะเสื่อมทรุด

คนรวยเกิดน้อย คนจนเกิดมาก...โลกจะเข้าสู่ภาวะเอียงกระเทเร่จนกลายเป็นวิกฤตสังคมระดับโลกได้เช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ