
ปัจจุบัน นอกจากผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพที่มาแรงเพราะเทรนด์รักสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมแล้ว ยังมีเทรนด์เรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ที่คนตื่นตัวหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน มีการรณรงค์โครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดคือเรื่อง “พลาสติก” ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้พลาสติกอย่างมาก เพราะเป็นตัวการหลักที่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยหลายๆ ปัจจัย ทั้งการย่อยสลายยากและอื่นๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ “กระแสพลาสติกรักษ์โลกกดดันพลาสติกไทย..ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว แต่ยังเผชิญความท้าทาย” โดยระบุว่า ในระยะข้างหน้าอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยน่าจะเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น โดยในระยะสั้นภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และราคาเม็ดพลาสติกที่มีแนวโน้มย่อตัวตามราคาวัตถุดิบฟอสซิลในปีหน้า น่าจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกเม็ดพลาสติกไทยมีความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาหดตัวมากกว่า 2.5% ในปี 2566
ขณะที่ในระยะกลางถึงระยะยาว อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย ซึ่งมีโครงสร้างที่ยังพึ่งพาการส่งออกเม็ดพลาสติกฟอสซิลสูงถึงกว่า 96% ของปริมาณส่งออกก็น่าจะเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากกระแสลดโลกร้อน ซึ่งนานาประเทศรวมถึงประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญ และมีการหารือเพื่อผลักดันบนเวทีประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นทุกปีโดยสหประชาชาติ (COP) รวมทั้งในอีกหลายการประชุม เช่นล่าสุดคือ APEC 2022
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศได้มีการออกกฎกติกาเพื่อลดการใช้พลาสติกฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการห้ามหรือลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Used Plastic) ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น ตลอดจนมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดการหันมาใช้วัสดุทดแทนอย่าง “เม็ดพลาสติกรักษ์โลก” รวมทั้งประเภทรีไซเคิลและชีวภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปทานเม็ดพลาสติกรักษ์โลกมีแนวโน้มทยอยเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดโลกของเม็ดพลาสติกฟอสซิลมากขึ้น
โดยคาดว่าส่วนแบ่งเม็ดพลาสติกรักษ์โลกของตลาดโลกในปี 2566 นั้นจะเพิ่มสู่ระดับ 7.9% จากในปี 2562 อยู่ที่ 6.8% สวนทางกับเม็ดพลาสติกฟอสซิลที่ลดลงสู่ระดับ 92.1% จาก 93.2% ในปี 2562
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย พบว่า ปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกเม็ดพลาสติกฟอสซิลราว 60% ไปยังตลาดที่มีกฎระเบียบรักษ์โลก โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบรักษ์โลกที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้นอีกในระยะข้างหน้า แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยได้เริ่มทยอยปรับโครงสร้างสู่การออกเม็ดพลาสติกรักษ์โลกมากขึ้น แต่!! แนวโน้มดังกล่าวก็ยังช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ในตลาดโลก สะท้อนจากอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของยอดส่งออกเม็ดพลาสติกรักษ์โลกของไทยในช่วงปี 2563-2566 ที่ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ราว 3.8% ต่อปี ขยายตัวต่ำกว่าของอุปสงค์เม็ดพลาสติกรักษ์โลกในตลาดโลกที่อยู่ราว 5.8% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านี้ การปรับตัวของอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยดังกล่าวก็ยังคงจำกัดอยู่แต่เพียงผู้ประกอบการปิโตรเคมีรายใหญ่บางรายที่ได้เดินหน้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่างชาติที่มีเทคโนโลยี ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่ราว 20% ของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกฟอสซิลยังปรับตัวได้ช้ากว่าเพราะขาดเทคโนโลยีและเงินลงทุน ซึ่งน่าจะส่งผลกดดันต่อจังหวะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มในระยะถัดไป เห็นว่า ผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกรักษ์โลกไทยน่าจะหันมาจับตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศแทนการส่งออกมากขึ้น หลังการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของภาครัฐไทย แต่อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการไทยก็ยังต้องเผชิญแรงกดดันระยะสั้นจากห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัว จนทำให้อาจได้รับอานิสงส์ไม่เต็มที่จากการเติบโตของอุปสงค์พลาสติกรักษ์โลก ขณะที่ในระยะกลางถึงยาวแม้ธุรกิจเม็ดพลาสติกรักษ์โลกจะมีโอกาสเติบโตตามกระแสรักสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งจากจีนที่เร่งลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกรักษ์โลกทั้งชนิดรีไซเคิลและชีวภาพ ตามแรงสนับสนุนของนโยบายภาครัฐจีนด้านสิ่งแวดล้อม.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นวัตกรรมดัน‘เศรษฐกิจใหม่’
ท่ามกลางกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกขบวนการลงทุน มุมมองใหม่ๆ เข้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางการในเทคโนโลยี
อย่าฉวยโอกาสยามวิกฤต
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ใช้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนในทุกๆ ด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตอย่างอุตสาหกรรม การบริการ การขนส่ง ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันได้ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
อสังหาฯไทยอาจซึมยาว?
สถานการณ์การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนกำลังซื้อหดหาย ภาวะการเงินที่ไม่ผ่อนปรนเหมือนกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากหนี้เสียเริ่มลุกลามไปยังตลาดกลุ่มบน
จับตา“ส่งออกไทย”ท่ามกลางสงครามการค้า
“ภาคการส่งออก” ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกว่าจะขยายตัวได้ 2-3% หลังจากที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568
ผุดสถาบันปั้นซอฟต์พาวเวอร์
ประเทศไทยถือว่ามีซอฟต์พาวเวอร์อยู่หลายแขนง ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดค้นโซลูชัน วิธีการ