นึกสนุกอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ ผมถึงเข้าพักในโฮสเทลยอดนิยมแห่งหนึ่งของกรุงบัวโนสไอเรสช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวนักเดินทาง ในโฮสเทลมีบาร์ มีปาร์ตี้เล็กๆ มีการพูดคุยสนทนากันอย่างออกรสชาติ แถมห้องนอนเป็นแบบดอร์มหรือห้องนอนรวม ในโฮสเทลไม่มีใครสวมหน้ากาก ผมเองก็เลยไม่กล้าสวมเพราะกลัวโดนเด็กล้อ จะสวมก็แค่ตอนเข้าห้องน้ำ
น่าดีใจ ผมรอดมาได้อีกคำรบ อีก 3 สัปดาห์ต่อมาผมกลับมายังกรุงบัวโนสไอเรสอีก คราวนี้ไม่พร้อมเสี่ยงโควิด เพราะกำลังจะเข้าโหมดเดินทางยาวๆ หลายเมือง หากติดเชื้อขึ้นมาก็จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน และทำให้การเดินทางขาดตอน จึงเลือกเข้าพักในโรงแรม
ปลายทางของผมอยู่ที่นครเซาเปาโล ประเทศบราซิล แต่ไม่ต้องการเดินทางตรงไปยังเซาเปาโล มีแผนแวะกราบนมัสการพระสงฆ์ลาวที่วัดลาวเมืองโปซาดัส รัฐมิซิโอเนส ทางเหนือของอาร์เจนตินาก่อน จากนั้นจะเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังเมือง “ปวยโตอีกวาซู” ข้ามพรมแดนสู่ “ฟอสดูอีกวาซู” ของบราซิล แล้วจึงค่อยมุ่งหน้าทิศตะวันออกตรงไปยังเซาเปาโล
แผนการเดินทางจะไม่มีการขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้หากนั่งรถบัสโดยตรงจากกรุงบัวโนสไอเรสไปยังนครเซาเปาโล รถจะวิ่งเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ใช้เวลาราวๆ 40 ชั่วโมง ซึ่งการอยู่บนรถบัสนานขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ส่วนแผนการเดินทางที่ผมเลือกจะกินระยะทางประมาณ 2,500 กิโลเมตร เพิ่มมาแค่ 200 กิโลเมตร แต่จะได้แวะเมืองตามรายทางอีกถึง 3 เมือง
จากโรงแรมที่พักบนถนน Tucuman เขต San Nicolas ผมเดินประมาณ 2 กิโลเมตรไปพบคู่รักชาวไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรสคู่เดิมที่ Retiro ศูนย์กลางการขนส่งมวลชนของกรุงบัวโนสไอเรสซึ่งตั้งอยู่ในเขต หรือ Bario ชื่อ Retiro เหมือนกัน
การนัดพบกันที่สถานี Retiro นั้นต้องระบุให้ชัดว่าพบกันตรงไหน เพราะแต่ละประเภทรถและสายรถไม่ได้อยู่อาคารเดียวกัน มีทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟสาย San Martin รถไฟสาย Tigre และสถานีรถบัส (Terminal de Omnibus Retiro) ซึ่งคุณแม็คและคุณแจ็คไปถึงก่อนแล้วโทรศัพท์บอกทางผมว่าให้เดินบนบาทวิถีไปจนสุดทางของแถวแนวอาคารเหล่านี้ ซึ่งแต่ละอาคารไม่ได้เชื่อมต่อหรืออยู่ติดกัน มีคั่นด้วยตลาดและปากทางเข้าสลัม ขอทานและคนจรจัดปะปนอยู่กับพ่อค้าแม่ค้าที่วางของขายทั้งที่มีแผงและแบกะดิน คุณแม็คกำชับให้ระวังเรื่องกระเป๋าและโทรศัพท์
ทั้งคู่มาช่วยผมซื้อตั๋วรถบัสไปเมืองโปซาดัส เพราะห่วงว่าลำพังผมคนเดียวคงสื่อสารกับคนขายตั๋วยากหน่อย ลักษณะห้องขายตั๋วเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดานคล้ายๆ หมอชิตหรือสายใต้บ้านเรา แต่ห้องขายตั๋วของที่นี่มีขนาดใหญ่กว่า
เจอห้องขายตั๋วไปโปซาดัสแล้วคุณแม็คก็สอบถามเที่ยวรถและราคา ตกลงเดินทางเที่ยว 2 ทุ่มวันรุ่งขึ้น เป็นรถของบริษัท Singer (อ่าน “ซิงเก”) เก้าอี้ปรับนอนได้ 180 องศา ราคาตั๋ว 12,400 เปโซ หรือประมาณ 1,600 บาท การเดินทางใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง
คุณแม็คและคุณแจ็คจะเดินไปส่งผมถึงที่พัก แต่ผมขอให้คู่รักแยกไปก่อนเพราะเกรงใจและทราบว่ามีธุระรออยู่ ทั้งคู่เดินเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน ส่วนผมเดินขึ้นไปยังเนินเขาเตี้ยๆ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดไม่ใหญ่นักเพื่อชมวิวยามใกล้ค่ำ
สวนสาธารณะขนาดเล็กที่อาร์เจนตินามักถูกเรียกว่า Plaza หรือจัตุรัส สวนสาธารณะแห่งนี้ชื่อว่า Plaza General San Martin ตั้งตามชื่อ “General Jose de San Martin” หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติอาร์เจนตินา เป็นผู้บัญชาการรบกับกองทัพจักรวรรดิสเปนในสงครามเพื่อเอกราชของอาร์เจนตินาระหว่าง ค.ศ.1810-1818 โดยพื้นที่บริเวณนี้นายพลซานมาร์ตินเคยใช้ในการฝึกกองทัพของตนเพื่อออกไปต่อสู้กับกองทัพสเปน อนุสาวรีย์ขี่ม้าของนายพลซานมาร์ตินตั้งอยู่ทางด้านใต้ของจัตุรัส
ข้างล่างของเนินเขาเล็กๆ นี้ ฝั่งที่ผมเดินขึ้นมาคืออนุสรณ์สถานทหารพลีชีพในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ หรือที่ชาวอาร์เจนตินาเรียกว่า “หมู่เกาะมัลวีนัส” สงครามนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1982 เมื่อกองทัพอาร์เจนตินาบุกจู่โจมเกาะที่อังกฤษยึดไว้ตั้งแต่ 50 ปีก่อนหน้านั้น อังกฤษส่งกองทัพเรือมาตอบโต้และสามารถปิดเกมลงได้หลังสงครามดำเนินไป 10 สัปดาห์ โดยการยอมแพ้ของฝ่ายอาร์เจนตินา
ทหารอาร์เจนตินาเสียชีวิต 649 นาย ฝ่ายอังกฤษ 255 นาย ชาวเกาะสังเวยไป 3 ชีวิต ทุกวันนี้หมู่เกาะนอกชายฝั่งแอตแลนติกทางใต้สุดของอาร์เจนตินายังเป็นสมบัติของอังกฤษ
เมื่อก้มมองลงไปยังอนุสรณ์สถานทหารพลีชีพของอาร์เจนตินาแล้วค่อยๆ เงยขึ้นไป เห็นถนน Avenida del Libertador คั่น จากนั้นจะพบกับหอนาฬิกาสูง 75.5 เมตรตั้งอยู่อีกฝั่งถนนในจัตุรัส Plaza Fuerza Aerea Argentina ภายในหอนาฬิกาแบ่งเป็น 8 ชั้น สามารถขึ้นไปชมวิว เห็นครอบคลุมทั้งเขต “เรตีโร”
หอนาฬิกานี้ชื่อว่า Torre Monumental ก่อนหน้านี้มีชื่อว่า Torre de los Ingleses ซึ่งแปลว่า “หอนาฬิกาอังกฤษ” เพราะสร้างขึ้นโดยชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งรกรากในอาร์เจนตินา ทำพิธีเปิดใช้งานเมื่อ ค.ศ.1916 อันเป็นปีครบรอบ 1 ศตวรรษการประกาศเอกราช
หากหันไปทางขวามือของจัตุรัส Plaza General San Martin มีอาคาร Kavanagh ที่โด่งดังตั้งอยู่อย่างโดดเด่น อาคารนี้สร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ.1936 มี 31 ชั้น สูง 120 เมตร ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในลาตินอเมริกา และเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงที่สุดในโลกเวลานั้น ผสมผสานระหว่างสไตล์โมเดิร์นและอาร์ตเดโค จากการสำรวจชาวบัวโนสไอเรสที่ไม่ใช่สถาปนิกและไม่ได้อยู่ในวงการก่อสร้างอาคาร พวกเขาชื่นชอบตึกนี้มากกว่าตึกอื่นใดในเมือง
ผมเดินเล่นอยู่บนเนินเขาจนฟ้ามืด รู้สึกเริ่มหิว ดูแผนที่กูเกิลในมือถือแล้วตัดสินใจเดินไปย่านปวยโตมาเดโร (Puerto Madero) ซึ่งอยู่ห่างออกไปพอๆ กับเดินกลับที่พัก
ปวยโตมาเดโร แปลว่า “ท่าเรือมาเดโร” เป็น 1 ใน 48 เขตของกรุงบัวโนสไอเรส ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำรีโอเดลาปลาตา (Rio de la Plata) แต่ดูๆ ไปแม่น้ำช่วงนี้มีลักษณะคล้ายทะเลมากกว่า หากจะเดินทางไปฝั่งตรงข้ามซึ่งก็คือเมืองโคโลเนียเดลซาคราเมนโต ประเทศอุรุกวัย ต้องนั่งเรือเฟอร์รีนานกว่า 1 ชั่วโมง ช่วงที่กว้างสุดนั้นกว้างถึง 220 กิโลเมตร หากจัดว่าเป็นแม่น้ำก็ต้องถือว่าเป็นแม่น้ำที่กว้างที่สุดในโลก แต่เมื่อดูจากแผนที่แล้วมีลักษณะของความเป็นอ่าว (Gulf) หรือทะเลชายขอบทวีป (Marginal sea) มากกว่า ทว่าชาวปอร์เตโยพอใจที่จะเรียกว่า “แม่น้ำ” หรืออย่างน้อยก็ต้อง “ปากแม่น้ำ”
ท่าเรือแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1897 และหมดประโยชน์ในการเป็นท่าเรือสินค้าเพียง 30 ปีหลังจากเปิดใช้งานเนื่องจากน้ำตื้น เรือมีปัญหาในการเข้าเทียบท่า และเมื่อมีการสร้างท่าเรือใหม่ Puerto Nuevo ขึ้นในเขตเรตีโร (เลยท่ารถบัสไป) ปวยโตมาเดโรก็กลายเป็นย่านที่ถูกทอดทิ้งให้มีแต่โกดังเก่าๆ เพิ่งจะกลับคืนชีพเมื่อ 20 กว่าปีมานี้เอง โดยความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งการแปลงโฉมสิ่งปลูกสร้างเก่า ปรับสภาพพื้นที่ และเนรมิตเมืองบางส่วนขึ้นมาใหม่
ทุกวันนี้ปวยโตมาเดโรเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรู อพาร์ตเมนต์ราคาแพง มหาวิทยาลัยเอกชน อาคารพาณิชย์ สำนักงานธนาคาร โรงหนัง โรงละคร ศูนย์วัฒนธรรม แกลเลอรี ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ ถนนคนเดินหลายเส้น และสวนสาธารณะ นี่คือย่านใหม่สุดและมีความโมเดิร์นที่สุดในกรุงบัวโนสไอเรส
ส่วนที่เป็นท่าเรือเก่ามี 2 ฝั่ง คือฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่ตั้งขนานกันยาวเกือบ 3 กิโลเมตร มีระยะห่างประมาณ 200 เมตร ตรงกลางคือทางน้ำที่ได้จากการถมฝั่งตะวันออกจนกลายเป็นคลอง หรือช่องสำหรับนำเรือเข้าไปจอด ร้านอาหารและผับบาร์ตั้งเรียงอยู่ริมฝั่งทั้งสองช่วงบน (ทิศเหนือ) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร หรือราวครึ่งหนึ่งของความยาวท่าจอดเรือ
มีสะพาน (เขื่อน+สะพาน+ถนน) สำหรับข้ามฝั่งไปมา 5 สะพาน และสะพานที่ยังไม่ได้นับแต่เป็นแลนด์มาร์กของย่านนี้เลยก็ว่าได้ มีลักษณะเป็นรูปตัว V ล้ม บางคนบอกว่าดูคล้ายขาของคู่เต้นแทงโก สะพานมีชื่อว่า Puente de la Mujur แปลว่า “สะพานสตรี” เวลานี้สะพานปิดชั่วคราว เขียนไว้ว่ากำลังทาสีใหม่
สาเหตุที่มีชื่อว่า “สะพานสตรี” เพราะถนนในย่านปวยโตมาเดโรล้วนนำชื่อของสุภาพสตรีดังๆ มาตั้ง อาทิ Cecilia Grierson นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเป็นผู้หญิงคนแรกในอเมริกาใต้ที่สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ระดับปริญญา (เมื่อ ค.ศ.1889) และ Azucena Villaflor ผู้ก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหว Madres de Plaza de Mayo (หมู่แม่แห่งจัตุรัสพฤษภาคม) เรียกร้องการค้นหาบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายในช่วงที่อาร์เจนตินาปกครองด้วยระบอบทหารระหว่าง ค.ศ.1976-1983
ผมเดินไปได้แค่ 1 กิโลเมตรบนฝั่งตะวันออกแล้วข้ามสะพานเขื่อนกลับมาฝั่งตะวันตก เดินเลือกร้านอยู่นาน เห็นร้านชื่อ “Johnny B. Good” เข้าใจว่าตั้งเลียนชื่อเพลง “Johnny B. Goode” ของ “Chuck Berry” โดยตัดตัว e ออกไป ร้านน่าสนใจ แต่พอเดินเข้าไปเห็นคนแน่นทั้งโซนในร้านและนอกร้าน คิดว่าต้องรออาหารนานแน่นอน อีกทั้งไม่แน่ใจว่าจะมีโต๊ะหรือเปล่า ออกจาก Johnny B. Good แล้วเดินไปเรื่อยๆ จนสุดโซนบาร์ของฝั่งตะวันตกที่ร้านชื่อ KRAKEN หมดแรงและเมื่อยขาแถมหนาวจึงนั่งลงที่ร้านนี้ สั่ง Papas Fritas con Queso และ Cerveza Patagonia โปรโมชั่น 2 ไพนต์ราคาพิเศษ
เบียร์สด Patagonia แบบ Rojo (สีแดง) มาเสิร์ฟก่อน รู้สึกว่าจืดกว่าแบบกระป๋อง ไม่นาน Papas Fritas con Queso ก็มาเสิร์ฟ ซึ่ง “ปาปัสฟรีตัส” คือมันฝรั่งทอด ส่วน “เกโซ” คือชีส เป็นเชดดาร์ชีสร้อนที่ราดลงบนมันฝรั่งทอด ซึ่งมันฝรั่งทอดของอาร์เจนตินานุ่มนิ่มไม่มีความกรอบ ผมเคยถามคนลาวว่าทำไมไม่กรอบ คนลาวตอบว่าพวกเขากินกันอย่างนี้แหละ
แม้จะหิวขนาดไหนปาปัสฟรีตัสนี้ก็ยังเหลือค่อนจาน คิดว่ากิน 2 คนก็คงไม่หมด ทำให้ไม่ได้สั่งอย่างอื่นเพิ่ม เบียร์แก้วที่ 2 ผมขอเปลี่ยนเป็นแบบ Rubia (สีบลอนด์) รสชาติจืดยิ่งกว่าเดิม หรือไม่แน่อากาศที่หนาวเกินไปและลมที่เริ่มพัดแรงมีส่วนทำให้เบียร์จืด
ไม่ควรนั่งต่อเพราะลมอาจแรงขึ้นอีก ผมออกเดินฝ่าความหนาวไปอีกกิโลครึ่งถึงโรงแรมที่พัก ตั้งแต่เย็นเป็นต้นมาคงเดินไปไม่น้อยกว่า 7 กิโล
เช้าวันใหม่ตื่นมาพร้อมอาการจามอย่างหนักและน้ำมูกไหลไม่หยุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง
เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้
แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ
ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว
ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย
คำอวยพรปีใหม่ 2568
ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง
ก้าวสู่ปีใหม่ 2568
สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว