ใครจะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ ถ้าเป็นคนเปิดใจกว้าง และไม่มองอะไรเป็นการเมืองตลอด 24 ชั่วโมงนั้น จะต้องปรบมือให้กับรัฐบาลในฐานะเป็นเจ้าภาพ APEC 2022
ใครจะว่าเอเปกเป็นเรื่องไกลตัวคนทั่วไป เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยงบประมาณแผ่นดิน เป็นเรื่องนามธรรมที่แตะต้องไม่ได้ ก็ถือว่าถูกของเขา แต่ถ้าจะมองการเป็นเจ้าภาพเอเปกเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมองทุกงานที่มีเจ้าภาพว่าเป็นเช่นนั้นเช่นเดียวกัน (ผมขอถามว่า อันไหนมันจะแย่ไปกว่ากัน ระหว่างการแสดงศักยภาพเป็นเจ้าภาพที่ดี กับการปฏิเสธเป็นเจ้าภาพ เพราะไม่มีศักยภาพ?)
ไม่ว่าจะเป็นงานประชุม งานกีฬา งานวันเกิด งานบวช หรืองานแต่งงาน ถ้าใครจะพยายามสาดโคลนกับเรื่องเป็นเจ้าภาพเอเปกว่าเราไม่ได้อะไรขึ้นมา กรุณาพูดแบบนี้กับทุกงานเลี้ยงที่คุณไปร่วมด้วย เพราะในหลักการก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ การเป็นเจ้าภาพเป็นการแสดงความพร้อมของผู้เป็นเจ้าภาพ การเป็นเจ้าภาพหมายความว่าให้แขกผู้มีเกียรติรู้สึกประทับใจกับการดูแลของเรา พร้อมสถานที่จัดงานด้วย แต่ก็เข้าใจครับ งานเลี้ยงทั่วไปเป็นการใช้งบของผู้เป็นเจ้าภาพ งานแบบเอเปกนี้เป็นเงินแผ่นดิน มันก็เลยเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ครบถ้วนก็ว่าได้ครับ
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ารัฐบาลชุดนี้ (บวกกับคนที่รักรัฐบาลชุดนี้) จะบอกว่าเป็นการจัดประชุมเอเปกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ และดีที่สุดเพราะรัฐบาลชุดนี้ อันนั้นก็ไม่ถูกเหมือนกัน รัฐบาลได้เครดิตครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งต้องปรบมือดังๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่เหน็ดเหนื่อย และให้คำสั่งที่เป็นคำพูดและลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นรูปธรรม
เรื่องความประทับใจของแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน อันนี้ผมไม่เถียงแม้แต่นิดเดียว ผมรู้แก่ใจว่าเรื่องการสร้างความประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เรื่องตกแต่งสถานที่ รายละเอียดของงานเลี้ยง และการเอาใจใส่ในการดูแลแขกผู้มีเกียรติทุกท่านนั้น ไม่มีใครสู้ไทยได้ ไทยเราทำเต็มที่ และทำด้วยความเต็มใจ เรื่องนี้ไทยเราเป็นมืออาชีพ และเรื่องนี้ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพงานอะไรก็แล้วแต่ ในอดีตและอนาคต ไทยเราจะทำได้ดีมาก ผู้นำรัฐบาลได้หน้า และเป็นหน้าของงานทุกครั้ง แต่หัวใจของงานอยู่ที่เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่คนนอกไม่เห็น
ถ้าเอาเข้าจริง วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่คนไทยเราสามารถพูดถึงเรื่องเอเปกได้ จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ใครจะเขียน (หรือพูดถึง) เรื่องเอเปก จนกว่าเราจะเป็นเจ้าภาพอีกรอบหนึ่ง เพราะเราจะไม่ให้ความสนใจเรื่องเอเปก หรือเรื่องประชุมอะไรก็แล้วแต่ นอกจากปีที่เราเป็นเจ้าภาพ อย่าว่าแต่เฉพาะคนไทยที่เป็นเช่นนี้ เป็นเหมือนกันหมดทั่วโลกครับ
ในครั้งนี้ ไม่ทราบว่าใครจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ แต่ผมรู้สึกประทับใจ และภาคภูมิใจที่เราสามารถจัดงานได้ดีขนาดนี้ ถึงแม้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่ได้มา และประธานาธิบดีรัสเซียไม่ได้มาเช่นเดียวกัน อันนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกจัดงานขึ้นมานะครับ ในอดีตเป็นอันเข้าใจว่า ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่ได้มาร่วมงานประชุมเอเปกนั้น ถือว่าล้มเหลวไม่ว่าเขาจะส่งใครแทนก็ตาม และในใจลึกๆ ถ้าผมเป็นเจ้าภาพ ผมก็อยากให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มา เพราะเป็นเกียรติ เป็นธรรมเนียม และเป็นอันเข้าใจ
แต่โลกปัจจุบัน ไม่เหมือนโลกในอดีต โลกสมัยนี้ไม่ได้หมุนรอบสหรัฐอเมริกาแล้ว และศูนย์กลางจักรวาลไม่ใช่สหรัฐอเมริกาที่เดียวต่อไป แต่แน่นอนครับ พูดไปก็เป็นการปลอบใจตัวเอง ถ้าให้เลือกก็อยากให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาอยู่ดี
อย่างที่บอกครับ หลังจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่มีคนไทยคนใดพูดถึงเรื่องเอเปก ผมก็เลยถือโอกาสปิดท้ายเอเปก หรือจะเรียกว่าปิดท้ายความสนใจของเอเปก ด้วยเรื่องราวของเอเปกเล็กน้อยก็แล้วกัน เพราะถ้าไม่พูดในวันนี้ ผมไม่รู้จะพูดได้อีกทีเมื่อไหร่
ผมเพิ่งรู้ว่าเอเปกก่อตั้ง (หรือจะเรียกว่าริเริ่ม) เมื่อ ค.ศ.1989 เอง ถึงแม้จะครบเวลา 33 ปีแล้ว และเป็นประวัติเกือบยาวนานนั้น ผมมีความรู้สึกว่า ปี 1989 ไม่นานมากนัก อาจเป็นเพราะเมื่อปีนั้นผมอายุ 19 ปีเอง ความรู้สึกของผมคือ องค์กรประเภทเอเปกควรจะต้องริเริ่มหรือก่อตั้งก่อนผมเกิดถึงจะรู้สึกขลัง ซึ่งผมเข้าใจว่าไม่ได้เป็นหลักการหรือหลักเกณฑ์อะไรที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ผมคิดว่าประวัติของเอเปกจะมากกว่านี้
แล้วผมก็เพิ่งรู้ว่า เอเปกริเริ่มจากแนวความคิดของอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Bob Hawke เพื่อส่งเสริมและผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง 12 เขตเศรษฐกิจ (ประเทศ) ผู้ก่อตั้งคือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา และค่อยๆ เพิ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจ (ประเทศ) ให้ครบ 21 เขตเศรษฐกิจ (ประเทศ) เหมือนในปัจจุบัน
การประชุมระดับผู้นำเอเปกครั้งแรกเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1993 และประเทศไทยของเรานับว่าเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกมากที่สุด (3 ครั้ง) ครั้งแรกคือ ค.ศ.1992 ครั้งที่สองคือ ค.ศ.2003 และครั้งที่สามคือครั้งนี้ แต่การประชุมเอเปกเมื่อ ค.ศ.1992 เป็นระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ไม่ใช่ระดับผู้นำ ส่วนปีหน้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพเอเปก ก็จะพูดเต็มปากเต็มคำว่า เขาเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำเอเปกได้เยอะสุด ครั้งแรกคือ ค.ศ.1993 ครั้งที่สองคือ ค.ศ.2011 และครั้งต่อไปคือปีหน้า
ส่วนอีกความรู้ใหม่ที่หลายคนอาจไม่สนใจ (แต่ผมสนใจครับ) ผมเพิ่งรู้ว่าเอเปกมีสำนักเลขาธิการด้วย มีเลขาธิการ และมีเจ้าหน้าที่ทำงานถึงเกือบกว่า 50 คน สำนักเลขาธิการเอเปกตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นอาคาร 4 ชั้น ที่ไม่ใช่ตึกแถวหรือห้องแถว เป็นอาคารของเขาเอง และเหมือนจะเพิ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อ ค.ศ.2010 ที่จะมีเลขาธิการมีวาระ 3 ปี เพราะก่อนหน้านั้น ผู้เป็นเลขาธิการเอเปกจะหมุนเวียนทุกปีตามประเทศผู้เป็นเจ้าภาพ แล้วก่อนที่จะแต่งตั้งเลขาธิการอย่างเป็นทางการ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการเอเปกจะเป็นระดับเอกอัครราชทูต เพื่อประสานงานและเป็นศูนย์รวม
ที่ผมสนใจประเด็นตรงนี้ เพราะผมเคยเป็นเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผมทราบดีว่าบทบาทขององค์กรแบบนี้จะเป็นเช่นไรเมื่อมีการจัดประชุมใหญ่ และแน่นอนครับ เครดิตทุกอย่างจะไปที่เจ้าภาพ เพราะเขากำหนดทุกสิ่งอย่างของการประชุม แต่องค์กรสำนักเลขาธิการ ไม่ว่าจะเอเปก อาเซียน สหประชาชาติ หรือ AIPA ของผมนั้น ก็มีบทบาทในการจัดประชุมให้สำเร็จเช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำของรัฐบาลเป็นหน้าของพระ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลนั้นๆ ปิดทองหลังพระ เจ้าหน้าที่องค์กรสำนักเลขาธิการ ปิดทองหลังกุฏิเจ้าอาวาส
ถือว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะมีคนพูดถึงเรื่องเอเปก เพราะหลังวันนี้เป็นต้นไป ความเป็นเอเปกของคนไทยนั้นจะถูกกลมกลืนกับเรื่องบอลโลก เรื่องการเมือง และเรื่องอื่นๆ ทั่วไป แต่อย่างน้อยๆ ในช่วงสัปดาห์ของเอเปกที่เพิ่งผ่านมานั้น ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเรา มันมีให้เห็นชัดๆ
ขอปรบมือดังๆ ให้กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้ APEC 2022 ประสบความสำเร็จ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง
เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ
'ศาลอาญาระหว่างประเทศ….มีไว้ทำไม?'
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu
'BRO!!!!!'
เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า
“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย
ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้
ผมจะไม่แปลกใจถ้าTrumpชนะ….แต่ผมจะแปลกใจถ้าHarrisแพ้
อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะได้รู้กันว่าใครจะเป็นผู้นำ “The Free World” ระหว่างอดีตประธานาธิบดี กับอดีตรองประธานาธิบดี