เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับสี จิ้นผิง ได้หารือตัวต่อตัวกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งความร่วมมือและข้อห่วงใยของแต่ละฝ่าย เอ่ยถึงเส้นต้องห้ามของกันและกัน ประเด็นไต้หวันคือเรื่องที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุด
ประธานาธิบดีสีย้ำว่าประเด็นไต้หวันเป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งของจีน ผูกกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอย่างล้ำลึก เป็นเส้นต้องห้ามแนวแรก (first red line) ต้องไม่ล่วงล้ำ ไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีน คนจีนหวังรวมชาติเป็นหนึ่ง พิทักษ์บูรณภาพแห่งดินแดน จะไม่ยอมเรื่องนี้ให้ใครเด็ดขาด
จีนหวัง 2 ฝั่งช่องแคบไต้หวันมีสันติและเสถียรภาพ แนวคิดไต้หวันเป็นไทเป็นเหมือนน้ำกับไฟที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ หวังว่าคำพูดและการกระทำของสหรัฐจะตรงกันดังที่ยึดมั่นนโยบายจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ ไม่ใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือ
สหรัฐผู้สนับสนุนจีนเดียวและการแยกตัว: ความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-สหรัฐเสื่อมทรามอย่างรวดเร็วเมื่อแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวัน เข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม เพโลซีกล่าว รัฐบาลสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงที่ทำกับไต้หวัน อันหมายถึงสนธิสัญญาความมั่นคง สหรัฐจะปกป้องไต้หวัน เป็นจุดยืนดั้งเดิม ชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ผู้รักเสรีภาพ
กองทัพจีนประกาศว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือการแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของจีน กองทัพจีนจะตอบโต้แน่นอน เป็นที่มาของการซ้อมรบหลายวันรอบไต้หวันด้วยกระสุนจริงและทดสอบยิงขีปนาวุธหลายชนิด กลายเป็นว่าทุกวันนี้เครื่องบินรบจีนบินรอบเกาะไต้หวันเป็นประจำ
หวัง อี้ (Wang Yi) มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ว่า ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐประกาศยึดมั่นหลักจีนเดียวแต่กลับสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องไต้หวันแยกตัวจากจีน ที่นำโดยพรรค Democratic Progressive Party ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ในขณะนี้ เท่ากับเป็นการสนับสนุน “จีนที่แยกเป็น 2”
การเยือนของแนนซี เพโลซี กับคณะเมื่อ 4 เดือนก่อนทำให้ความสัมพันธ์ 2 ประเทศเลวร้ายลงมาก การพบปะตัวต่อตัวของ 2 ผู้นำครั้งนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระดับปกติอีกครั้ง
ผลการหารือ ผู้นำทำเนียบขาวประกาศจุดยืนยึดมั่นนโยบายจีนเดียว (one China policy) ไม่คิดให้สถานการณ์ไต้หวันเปลี่ยนจากที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อโลกหากช่องแคบไต้หวันมีสันติและเสถียรภาพ ไม่เห็นด้วยที่จีนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อไต้หวัน
จุดยืนของไบเดนไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนๆ นั่นคือยึดมั่นนโยบายจีนเดียว แต่หากพิจารณาลงรายละเอียดรัฐบาลสหรัฐจะพูดต่อว่าไต้หวันมีสิทธิตัดสินอนาคตของตนเอง เป็นประเด็นว่าหากวันใดไต้หวันประกาศเอกราช สหรัฐต้องเข้าปกป้องตามคำมั่นที่ให้ไว้ เท่ากับไต้หวันเป็นผู้ตัดสินอนาคตของสหรัฐด้วย เรื่องเช่นนี้คนอเมริกันยอมรับได้หรือ อาจคิดต่อว่าเรื่องที่ว่าคงไม่เกิดเพราะรัฐบาลไต้หวันจะต้องปรึกษาสหรัฐก่อน ต้องรอ “ไฟเขียว” ก่อน หากยึดแนวทางหลังเท่ากับว่ารัฐบาลไต้หวันเป็นหมากของอเมริกาที่ใช้เล่นงานจีนใช่หรือไม่
คาดการณ์สงครามในอนาคต:
ถ้ามองจากมุมจีน ฝ่ายจีนไม่ต้องการสงครามเพราะต้องการรักษาบรรยากาศสงบสันติ มุ่งทำมาค้าขายกับทุกประเทศ ให้ประชากรกว่า 1,400 ล้านคนเป็นปกติสุข หากเกิดสงครามย่อมทำลายบรรยากาศการค้า การลงทุนและไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกจะใช้สงครามเป็นความชอบธรรมให้นานาชาติร่วมคว่ำบาตรจีน วิธีง่ายๆ คือไม่ทำธุรกิจด้วย หรือลดการทำมาค้าขาย หากเกิดขึ้นจริงจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้อีกนาน
Yang Jin จาก Chinese Academy of Social Sciences อธิบายว่า จีนหวังค้าขายกับชาติตะวันตก ร่วมมือทางวัฒนธรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ ส่วนความคิดต่างเป็นเรื่องปกติพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
หลายปีที่ผ่านมามีนักการทหาร นักวิชาการหลายท่านคาดการณ์สงครามที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปีที่แล้ว (2021) พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการ Indo-Pacific Command กล่าวต่อวุฒิสภากังวลว่าจีนจะโจมตีไต้หวันภายในปี 2027
สงครามคงไม่เกิดในสมัยไบเดนแต่อนาคตไม่แน่ การเอ่ยถึงสงครามในอนาคตเป็นอีกข้อที่ทำให้สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันตึงเครียดมากขึ้นทุกที
ประเด็นที่ต้องเอ่ยถึงเสมอคือหากไต้หวันประกาศเอกราช กองทัพจีนจะบุกไต้หวันหรือไม่ และคำถามสำคัญที่ตามมาคือรัฐบาลสหรัฐจะจัดการอย่างไร เพราะรัฐบาลสหรัฐให้คำมั่นเรื่อยมาว่าจะปกป้องเกาะแห่งนี้ที่มีประชากร 24 ล้านคน เป็นประเด็นที่ถกอยู่เสมอเหมือนเรื่องที่คุยไม่รู้จบ
ความจริงที่ทุกคนประจักษ์คือกองทัพจีนในวันนี้ไม่เหมือนกองทัพจีนสมัยเหมา เจ๋อตง อีกแล้ว เครื่องบินรบที่บินวนเวียนรอบเกาะไต้หวันในยามนี้บ่งชี้ว่าจีนพร้อมที่จะทำตามแผนที่เตรียมไว้ กองทัพสหรัฐเหนือกว่าแต่พร้อมจะสูญเสียเพื่อไต้หวันหรือไม่ ประเด็นร้ายแรงคือ หาก 2 มหาอำนาจรบกันจริงย่อมส่งผลต่อระเบียบโลกใหม่ที่จะตามมา
ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ระบุว่า จีนเป็นคู่แข่งประเทศเดียวที่ต้องการเปลี่ยนระเบียบโลกและมีพลังมากขึ้นที่จะทำเช่นนั้น มีพลังทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต การทหารและเทคโนโลยี หวังมีอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและเป็นผู้นำโลก (the world’s leading power) มีอิทธิพลในสถาบันระหว่างประเทศที่เกื้อหนุนระบอบอำนาจนิยมของตน มักใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจบีบบังคับประเทศอื่นๆ จีนฉวยประโยชน์การเปิดเศรษฐกิจของนานาชาติในขณะที่จำกัดต่างชาติที่ต้องการเข้าถึงตลาดของตน พยายามสร้างโลกที่พึ่งพาจีนในขณะที่จีนลดการพึ่งพาโลก พัฒนากองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว กองทัพมีขีดความสามารถเข้าถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและขยายสู่จุดต่างๆ ทั่วโลก บั่นทอนพันธมิตรของสหรัฐในทุกภูมิภาค
ก่อนหน้านี้สหรัฐมียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่ขัดแย้งกับจีน ขัดแย้งกับเส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) ของจีนที่ไม่สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ หลายชาติไม่ยอมรับ เกิดปมขัดแย้งและน่าจะเป็นเช่นนี้อีกนาน เป็นอีกเวทีความขัดแย้งสำคัญระหว่างมหาอำนาจที่สัมพันธ์กับประเทศรอบข้างทั้งหมดไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม
ในภาพกว้าง ไม่ว่าจะมีไต้หวันหรือไม่ 2 มหาอำนาจขัดแย้งกันและน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป จุดสำคัญคือจะกำหนดกรอบความขัดแย้งนี้ให้อยู่ตรงไหน จำต้องเกิดสงครามจริงๆ หรือไม่
อนาคตไต้หวันของคนไต้หวัน:
ความจริงที่น่าเศร้าของสงครามยูเครนในขณะนี้คือ กว่า 2 แสนรายบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้ว เป็นทหารฝ่ายยูเครน 60,000 คน พลเรือน 40,000 คน (ตามการประเมินของ Mark Milley หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐ) ส่วนทหารรัสเซียบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 1 แสนราย
บ้านเมืองพังไปทั่ว บัดนี้ยูเครนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากแม้นได้ข้อตกลงสันติภาพไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะคืนดินแดนให้ (หรือคืนให้ทั้งหมด) ที่แน่นอนคือคนที่เสียชีวิตไม่อาจฟื้นคืนอีก อนาคตของชาวยูเครนหลายสิบล้านคนเปลี่ยนไป
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์แก่ทุกประเทศโดยเฉพาะไต้หวันที่มักมีข่าวจีนจะบุกไต้หวัน นักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ชี้ว่าจะเกิดสงครามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แต่หากพิจารณาให้ดี ถ้าไต้หวันไม่ประกาศเอกราช ไม่ขอแบ่งแยกดินแดน ก็ไม่มีเหตุผลที่กองทัพจีนจะบุกไต้หวัน ประเด็นอยู่ที่จะมีรัฐบาลแปลกๆ เหมือนเซเลนสกีหรือไม่ คนไต้หวันจะสามารถควบคุมรัฐบาลของเขาได้แค่ไหน คนไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการประกาศเอกราชหรือไม่ เพราะในระยะหลัง (สมัยรัฐบาลไช่ในขณะนี้) เสียงส่วนใหญ่ส่อชี้ไปทางนั้น
ย้อนหลังเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นถ้ารัฐบาลเซเลนสกียอมระงับการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโต ยูเครนจะยังสงบสุข แต่ตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐกับนาโตชี้ว่ายูเครนมีสิทธิตัดสินอนาคตของตนเอง สังเกตว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้คำพูดเดียวกันนี้กับไต้หวัน เป็นสิทธิของไต้หวันที่จะตัดสินอนาคตด้วยตัวเอง ชื่นชมไต้หวันเป็นผู้รักเสรีภาพ ประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการแปลความตรงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง