เผือกร้อนขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่

ถือเป็นประเด็นร้อนประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ย.2565 สมาคมรถแท็กซี่ 4 แห่ง ได้แก่ สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ, สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ, สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า, สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย และกลุ่มแท็กซี่ทวงคืนความยุติธรรม นัดรวมตัวกันกว่า 200 คน บุกมาหน้าบริเวณกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่)

เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่จากประชาชนระหว่างกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้แทนภาคประชาชน และคณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Core CPI) โดยจะคำนึงถึงความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้บริการ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว 4 สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ยังไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าโดยสารที่เสนอ และคณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ได้นำเสนออัตราค่าโดยสารใหม่ในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระจนเกินไป และไม่เกินกรอบที่กระทรวงฯ กำหนด ดังนั้นจึงได้มีการนัดสรุปอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา

จึงเป็นที่มาของการรวมตัวของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในครั้งนี้ เรียกได้ว่ากว่าจะสรุปกันได้ก็ใช้เวลายืดเยื้อพอสมควร หลังจากกลุ่มแท็กซี่ต้องการที่จะให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาพูดคุยหารือด้วยตัวเอง ขณะที่ รมว.คมนาคมก็ได้ส่งตัวแทน คือนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. ร่วมประชุมหารือกับผู้แทน 4 สมาคม แม้จะมีข้อถกเถียงและบานปลายถึงขั้นปิดถนนราชดำเนินหน้ากระทรวงคมนาคมเกือบ 30 นาที แต่สุดท้ายก็ได้หาทางออกร่วมกันไปได้ด้วยดี

ท้ายที่สุดทางผู้แทน 4 สมาคมได้ยอมรับอัตราดังกล่าว จากนั้น ขบ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม มีความเป็นสากล รวมถึงการจัดหาแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างของมิเตอร์แท็กซี่ให้มีความเหมาะสมกับปัจจุบันและเป็นสากล ส่วนในขั้นต่อไปจะได้มีการออกประกาศกระทรวงคมนาคมเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ใหม่ ก่อนเริ่มให้มีการจูนมิเตอร์ โดยผู้แทน 4 สมาคมขอให้ ขบ.ช่วยเหลือให้ค่าจูนมิเตอร์มีราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ผู้ขับรถแท็กซี่จนเกินไป พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่ในการปรับจูนมิเตอร์ให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วต่อไป

สำหรับ การปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ครั้งนี้ต่างจากค่าโดยสารแท็กซี่ในปัจจุบันหลักๆ คือ ระยะทาง 1 กม.แรก รถใหญ่ ปัจจุบัน 35 บาท ปรับเป็น 40 บาท, ระยะทางเกินกว่า 1-10 กม. ปัจจุบันรถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 5.5 บาท ปรับเป็น กม.ละ 6.5 บาท, ระยะทางเกินกว่า 10-20 กม. ปัจจุบัน รถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 6.5 บาท ปรับเป็น กม.ละ 7 บาท, ระยะทางเกินกว่า 20-40 กม. ปัจจุบันรถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 7.5 บาท ปรับเป็น กม.ละ 8 บาท และระยะทางเกินกว่า 40-60 กม. ปัจจุบัน รถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 8 บาท ปรับเป็น กม.ละ 8.5 บาท ส่วนค่ารถติด ปัจจุบันรถเล็ก-รถใหญ่ คิดนาทีละ 2 บาท ปรับเป็นนาทีละ 3 บาท

ทั้งนี้ หลังจากนี้ ขบ.ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวจะเร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หากได้รับความเห็นชอบแล้วจะมีการออกประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป โดยในส่วนนี้จะมีผลเฉพาะแท็กซี่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในระบบทั้งหมด 80,000 คัน จากที่ให้บริการจริงในปัจจุบัน 60,000 คัน โดยหลังจากมีมติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว รถแท็กซี่ที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมดต้องมาปรับจูนมิเตอร์ค่าโดยสารใหม่

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้คงต้องมารอดูกันว่าหลังจากปรับขึ้นค่าโดยสารแล้วบรรดาผู้ขับแท็กซี่จะมีการปรับปรุงการให้บริการมากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้ ขบ.ได้เน้นย้ำแท็กซี่ในเรื่องพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดี เช่น ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร หากพบว่ามีการกระทำผิดจะลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบตัดแต้มใบอนุญาตขับรถ หรือหากมีการทำผิดซ้ำจะพักใช้ใบอนุญาตขับรถ 3-6 เดือน และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถแล้วแต่กรณี บทลงโทษเข้มข้นขนาดนี้ก็ไม่รู้ว่าการให้บริการจะดีขึ้นด้วยหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ

ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’

อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ

เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม

แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน

การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ

ของขวัญรัฐบาล

อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว

ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ