กรุงบัวโนสไอเรสมีการตัดถนนเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมจำนวนนับไม่ถ้วน ผังเมืองดูคล้ายตะแกรงเหล็กหรือกระดานหมากรุก แบ่งอาคารบ้านเรือนเป็นบล็อกๆ มีสี่แยกเต็มไปหมด สามารถบอกพิกัดว่าตัวเองอยู่ตรงไหนโดยการบอกชื่อถนน 2 เส้นที่ตัดกัน
แต่มีถนนอยู่ 2 เส้นที่ตัดไม่เหมือนใคร ออกมาในแนวทแยง ชื่อถนน Av.Julio A. Roca หรือที่คนเรียกติดปากว่า Diagonal Sur และถนน Av.Roque Saenz Peña หรือ Diagonal Norte แปลว่า “ทแยงใต้” และ “ทแยงเหนือ” ตามลำดับ
หากมองลงมาจากท้องฟ้า ถนน Diagonal Sur ตัดผ่าน 3 บล็อกทิศทางตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงขอบของจัตุรัส Plaza de Mayo ฝั่งตะวันตก โดยถนน Bolivar ตัดผ่านเป็นขอบของจัตุรัสฝั่งนี้ มีถนน 3 เส้นตัดตั้งฉากออกไปทางซ้ายมือจากถนน Bolivar ได้แก่ ถนน Hipolito Yrigoyen ถนน Av.De Mayo และถนน Rivadavia
จาก Plaza de Mayo ถนน Diagonal Norte ตัดไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทะลุ 6 บล็อก ถึงเสาหิน Obelisco และเลยเสาหิน Obelisco ไปอีก 1 บล็อก ส่วนทางทิศตะวันออกของ Plaza de Mayo คือ Casa Rosada (บ้านสีชมพู) ทำเนียบรัฐบาลอาร์เจนตินา รายรอบ Plaza de Mayo มีอาคารของหน่วยงานสำคัญของรัฐนับสิบแห่ง
ผมเดินจากย่าน San Telmo ขึ้นไปทางทิศเหนือโดยใช้ถนน Peru ถึงถนน Diagonal Sur ที่ตัดทแยงมาแล้ว 2 บล็อก แล้วเดินไปบนถนนเส้นนี้อีก 1 บล็อกถึงจัตุรัส Plaza de Mayo พื้นที่ 2 เฮกตาร์ หรือเท่ากับ 12 ไร่ครึ่ง
เมื่อ ค.ศ.1536 “เปโดร เด เมนโดซา” นายทหารและนักสำรวจจากสเปนเดินทางมาถึง San Telmo ก่อตั้งบัวโนสไอเรสขึ้นในชื่อ Nuestra Señora del Buen Ayre เป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครอง “อันดาลูเซียใหม่” ทว่าต่อมาถูกกองทัพชนพื้นเมืองโจมตีอยู่เนืองๆ จนบัวโนสไอเรสต้องร้างไป กระทั่ง ค.ศ.1580 “ฆวน เด การาย” นายทหารและนักสำรวจคนใหม่ล่องเรือมาขึ้นฝั่งใกล้ๆ Plaza de Mayo ในปัจจุบัน และตั้งเมืองขึ้นใหม่
การปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ.1775-1783) การปฏิวัติในฝรั่งเศส (ค.ศ.1789-1799) และการปฏิวัติของเฮติล้มเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส (1791-1804) ทำให้ชาวอาณานิคมสเปนในลาตินอเมริกาฝันถึงการปฏิวัติของพวกเขาบ้าง
เรืออังกฤษที่เดินทางมาถึงกรุงบัวโนสไอเรสเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1810 บรรทุกหนังสือพิมพ์มาด้วย ในนั้นมีรายงานข่าวกองทัพนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสเข้ายึดครองสเปนได้สำเร็จ และพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 ถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ข่าวนี้ยิ่งทำให้ชาวอาณานิคมมีความหวังในการปลดแอกจากจักรวรรดิสเปน
“บัลตาซาร์ ฮิดัลโก เด ซิสเนรอส” อุปราชสเปนแห่ง Virreinato del Rio de la Plata (ปัจจุบันคืออาร์เจนตินา โบลิเวีย ปารากวัย อุรุกวัย และบราซิลบางส่วน) ต้องการคงอำนาจของตัวเองไว้ เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองในนามของกษัตริย์สเปน มีการเรียกประชุมผู้นำภาคส่วนต่างๆ ในวันที่ 22 พฤษภาคม หนึ่งวันต่อมาที่ประชุมปลดซิสเนรอสจากตำแหน่งอุปราช แต่เพื่อรักษาความต่อเนื่องก็ได้มีมติในวันที่ 24 พฤษภาคม ให้เขาดำรงตำแหน่งประธานของคณะผู้ก่อการ
วันที่ 25 พฤษภาคม “ปอร์เตโย” คือชื่อที่ชาวบัวโนสไอเรสเรียกตัวเอง หมายถึง “คนท่าเรือ” ทราบข่าวว่าซิสเนรอสยังอยู่ในอำนาจ ลุกฮือขึ้นประท้วงแสดงการต่อต้านจนซิสเนรอสยอมลาออก และแล้วรัฐบาลใหม่ก็ถูกตั้งขึ้นในชื่อ Primera Junta มีตัวแทนส่วนใหญ่จากบัวโนสไอเรส รวมทั้งได้เชิญให้เมืองอื่นๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วม
นับจากเวลาดังกล่าว สงครามก็ปะทุขึ้นทันทีระหว่างฝ่ายปฏิวัติเดือนพฤษภาคมกับฝ่ายที่ยังภักดีต่อสเปน สงครามดำเนินไปถึง 5 ปี ฝ่ายปฏิวัติได้รับชัยชนะ ประกาศอิสรภาพจากสเปนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1816 ตั้งประเทศขึ้นใหม่ในชื่อ Provincias Unidas del Río de la Plata (Río de la Plata คือชื่อของแม่น้ำที่ได้จากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำปารานาและแม่น้ำอุรุกวัย “รีโอเดลาปลาตา” ไหลต่อไปอีก 290 กิโลเมตรลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก)
การปฏิวัติเดือนพฤษภาคมดังกล่าวได้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจหนุนส่งให้เกิดการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในดินแดนอื่นๆ ของอาณานิคมสเปน ซึ่งต่างประสบความสำเร็จทั้งสิ้น จนสุดท้ายสเปนสูญเสียอาณานิคมทั้งหมด โดย 3 ประเทศสุดท้าย ได้แก่ คิวบา เปอร์โตรีโก และฟิลิปปินส์ ที่ได้ถูกชิงไปโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1898
หลังการปฏิวัติเดือนพฤษภาคม 1 ปี มีการสร้าง Piramide de Mayo (พฤษภาพีระมิด) ขึ้นบริเวณกลาง Plaza de Mayo ในปัจจุบัน โดยชื่อ Plaza de Mayo นั้นมีการใช้เมื่อล่วงถึงปี ค.ศ.1884 เข้าไปแล้วหลังการรื้อถอนอาณาเขต Recova ซึ่งกั้นกลางระหว่าง Plaza de la Victoria และ Plaza 25 de Mayo
นับแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน จัตุรัส Plaza de Mayo ถือเป็นศูนย์กลางการรวมตัวเพื่อต่อสู้ทางการเมืองของคนอาร์เจนตินา มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย หากเทียบกับเมืองไทยคงเปรียบได้กับถนนราชดำเนิน
ขอยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์ในอดีต แค่ที่เกี่ยวข้องกับ “นายพลฆวน โดมิงโก เปรอน” คนเดียวก็มีถึง 2 เหตุการณ์เป็นอย่างน้อย คือเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1945 ประชาชนประมาณ 2 แสนคนออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวเปรอนที่ถูกคุมขัง เขาเป็นรัฐมนตรีแรงงานที่เพิ่งถูกปลด กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากชนชั้นแรงงานในอาร์เจนตินา รัฐบาลขณะนั้นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมปล่อยตัว
และอีกเหตุการณ์คือวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1955 ตอนที่เปรอนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมานาน 9 ปี เกิดความขัดแย้งกับกองทัพและฝ่ายศาสนจักร ประชาชนประมาณ 3 แสนคนที่ออกมารวมตัวสนับสนุนเปรอนบริเวณจัตุรัส Plaza de Mayo ถูกเครื่องบิน 30 ลำของกองทัพเรือทิ้งระเบิดใส่ นับเป็นการทิ้งระเบิดลงบนแผ่นดินอาร์เจนตินามากสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้สนับสนุนเปรอนที่ชุมนุมอยู่กลางจัตุรัส Plaza de Mayo เสียชีวิตเกือบ 400 คน
การสู้รบในบริเวณใกล้เคียงทำให้คนตายราว 2 พัน กำลังของฝ่ายเปรอนโต้คืนอย่างทันท่วงทีเพราะได้กลิ่นรัฐประหารโชยมาก่อนแล้ว เกิดการต่อสู้จากเที่ยงวันจนถึงช่วงเย็น คณะทหารพ่ายแพ้กลายเป็นกบฏ ทว่าอีกไม่กี่เดือนต่อมาเปรอนถูกยึดอำนาจจนได้ ต้องหนีไปลี้ภัยในเวเนซุเอลาและสเปนยาวนาน 18 ปี
วันนี้ท้องฟ้ามืดครึ้ม ถ่ายรูปไม่ค่อยสวย และผมไม่มีเวลามากนักที่จัตุรัส Plaza de Mayo เนื่องจากตอนบ่าย 3 โมงมีนัดกับคู่รักชาวไทยในอาร์เจนตินาคู่หนึ่งชื่อคุณแม็คและคุณแจ็ค ต้องรีบเดินไปเช็กอินที่ Ideal Hostel ใกล้ๆ เสาหิน Obelisco ก่อน โดยทั้งคู่จะมารับผมไปเที่ยว Bario Chino หรือไชน่าทาวน์แห่งบัวโนสไอเรส ซึ่งกำลังจะไปเป็นวันที่สองติดต่อกัน
ระหว่างทางเดินบนถนน Diagonal Norte มองเห็นเสาหินแต่ไกล และภาพสองข้างทางดูน่าอภิรมย์ยิ่ง อาคารในย่านนี้เก่าแก่และสวยงาม ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศสและอิตาลี
ขณะเช็กอินผมได้รับโทรศัพท์จากคุณแม็คซึ่งกำลังรออยู่ด้านล่างตึกของโฮสเทลบนถนน Suipacha จากโฮสเทลเราเดินแค่ 1 นาทีถึงรถไฟใต้ดิน Diagonal Norte นั่งไปสถานีกลาง Retiro ต่อรถไฟบนดินไปยังสถานี Belgrano C โดยที่ป้ายสถานีวงเล็บไว้ว่า Barrio Chino หมายถึง “ย่านจีน”
เมื่อปี ค.ศ.2006 กลุ่มนักธุรกิจชาวจีนได้ยื่นเรื่องขอให้สำนักผังเมืองของกรุงบัวโนสไอเรสอนุมัติให้ไชน่าทาวน์เป็น Bario หรือเขตหนึ่งของกรุงบัวโนสไอเรส จากเดิมที่อยู่ในเขต Belgrano (บัวโนสไอเรสมี 48 Bario) ทว่าถูกปฏิเสธ เพราะมีชาวจีนอาศัยอยู่ในเขตเบลกราโนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด
ข้อมูลจากเว็บไซต์ wander-argentina ระบุว่าชาวจีนในย่านนี้อพยพมาจากไต้หวันเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1980 แล้วจึงตามด้วยชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในทศวรรษต่อมา นอกจากตลาดจีนที่มีร้านค้าประมาณ 100 ร้านตลอด 5 บล็อกถนนแล้ว ในเขตเบลกราโนยังมีวัดพุทธจีน 2 วัด สถานที่สำหรับวิปัสสนาอีก 1 แห่ง ทั้งนี้ทั่วกรุงบัวโนสไอเรสมีชาวจีนประมาณ 120,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตอื่นที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเบลกราโน อาทิ ออนเซ, ฟลอเรส และบารากัส
เราเดินลอดซุ้มประตูจีนขนาดยักษ์เข้าไป ซุ้มประตูนี้ถูกขนใส่คอนเทนเนอร์ 5 ตู้ลงเรือมาจากจีนแล้วนำมาประกอบติดตั้ง ทำพิธีเปิดเมื่อ ค.ศ.2009 เมื่อผ่านซุ้มประตูก็เห็นสาวกของลัทธิฟาหลุนกงจำนวนหนึ่งยืนทำกิจกรรมและแจกโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์ สองฝั่งถนนคนเดินเต็มไปด้วยร้านอาหาร นอกจากร้านจีนแล้วก็ยังมีร้านเกาหลีและญี่ปุ่นด้วย คนเดินอยู่เต็มถนน ประมาณกันว่าแต่ละสุดสัปดาห์ย่านไชน่าทาวน์มีผู้คนมาเยือนถึงประมาณ 15,000 คน
คุณแม็คเรียกไชน่าทาวน์ว่าตลาดจีน คงเพราะนอกจากร้านอาหารแล้วยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อยู่อย่างน้อย 2 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่เราเดินเข้าไปมีโซนที่ขายอาหารกระป๋อง อาหารแห้ง และเครื่องปรุงสารพัดจากเมืองไทย และหากต้องซื้อเนื้อวัวคุณแม็คก็จะเดินทางไกลจากบ้านพักในเขต Constitucion มาถึงที่นี่ เพราะว่าเนื้อของตลาดจีนนั้นชำแหละสวยและล้างสะอาด ผิดกับของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะเนื้อที่จะนำไปย่างไฟอ่อนหลายชั่วโมงที่เรียกว่า “อาซาโด” นั้น คนอาร์เจนตินาบอกว่าห้ามล้างเด็ดขาด ไม่งั้นผิดสูตร
เราแวะต่อคิวที่ร้านบะหมี่ขึ้นชื่อช่วงปลายๆ ของตลาด เวลาเย็นแล้วแต่คิวยังล้นไปนอกร้านยาวเกือบ 20 เมตร เมื่อได้โต๊ะ ติ่มซำก็มาเสิร์ฟทันที เพราะพนักงานนำเมนูไปให้สั่งตั้งแต่ตอนเข้าคิว จากนั้นบะหมี่ลูกชิ้นเนื้อจึงตามมา รสชาติดีคุ้มค่าการเข้าคิว อร่อยที่น้ำซุปและลูกชิ้น ราคาชามละประมาณ 300 บาท ถือว่าแพงมากสำหรับชาวอาร์เจนตินา แต่อย่างที่เคยบอกไปครับ เรื่องกินคือเรื่องหลักของคนที่นี่
แม้ว่าลูกค้าแน่นร้าน แต่มีหนุ่มพนักงานเสิร์ฟคนหนึ่งแวะมาคุยกับผมบ่อยมาก เขาอายุประมาณ 25 ปี อยากเดินทางไปเป็นดาราที่เมืองไทย ถามผมว่าต้องทำอย่างไร ผมตอบว่าให้สมัครกับบริษัทโมเดลลิง น่าจะสมัครออนไลน์ได้ หน้าตาเขาไม่หล่อ สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร แถมยังผอมกะหร่อง เพียงแต่พูดภาษาอังกฤษดีมากเพราะมีแม่เป็นชาวสกอต ผมอวยพรให้เขาสมหวัง เราเดินออกจากร้านเขาก็ยังตามมาส่ง
ตอนนั่งรถไฟใต้ดินกลับที่พัก มีเด็กชายหญิง 2 คน แต่งตัวมอซอ ตัวเหม็นสาบทั้งคู่ เด็กชายตัวเล็กกว่ามาก พอได้จังหวะเด็กหญิงเปิดดนตรีแบ็กกิงแทร็ก เด็กชายร้องแรปขึ้นมา คำแรกคือ “โปลิติโก” หมายถึงการเมือง แรปเสร็จก็เดินขอเงิน คุณแจ็คล้วงกระเป๋ายื่นเงินให้ ทำให้เขายิ่งเข้ามาใกล้ ผมรับกลิ่นเค็มๆ เปรี้ยวๆ มาเต็มๆ แม้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม
การหากินในรถไฟฟ้ากรุงบัวโนสไอเรสนี้เท่าที่เห็นมีหลายวิธี ที่ทำกันบ่อยคือเดินแจกบัตร เอกสาร ถุงเท้า หรือของที่ระลึกบางอย่าง ถ้าเรารับไว้สักพักพวกเขาจะเดินกลับมาเก็บเงิน หรือดีหน่อยก็กลับมาเก็บของกลับไปกรณีที่เราไม่ต้องการ แต่หากว่าเกิดขึ้นในบางสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่านมากนัก ถ้าเราถูกจับยัดของใส่มือ และของมาอยู่ในมือ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่จนต้องยอมจ่ายเงิน
ผมลงที่สถานี Diagonal Norte แยกกับคู่รักที่นั่งต่อไปจนสุดสาย ก่อนเข้าโฮสเทล อดใจไม่ไหวที่จะต้องเดินชื่นชมและถ่ายรูปเสาหิน Obelisco และเดินอ้อยอิ่งอยู่อีกพักใหญ่ แม้ว่าอากาศจะหนาวขึ้นเมื่อโมงยามแห่งค่ำคืนยิ่งผ่านไป
เพราะความรู้สึกลึกๆ ผมกลัวติดโควิดในโฮสเทล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง
เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้
แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ
ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว
ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย
คำอวยพรปีใหม่ 2568
ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง
ก้าวสู่ปีใหม่ 2568
สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว