วันที่ผมเขียนคอลัมน์นี้เป็นช่วงระหว่างสองเหตุการณ์ที่คนให้ความสนใจ สำหรับสัปดาห์หน้าทั้งสัปดาห์ ทั้งคนและสื่อไทยจะมุ่งมั่นสนใจเรื่องของเอเปก 2022 เพราะถือว่าเป็นงานระดับต้นๆ ของโลก ที่จะเอาผู้นำจากหลายประเทศมารวมตัวกันในที่เดียว ส่วนเนื้อหาสาระ หรืออะไรที่แตะต้องเป็นรูปธรรมจะเป็นเช่นไร ก็ว่ากันไปครับ แค่ระดับผู้นำมารวมตัวกันในบ้านเราก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและเรื่องสนุก
ถึงแม้ผู้นำของรัสเซียและสหรัฐอเมริกาไม่ได้มาร่วมก็ตาม แต่ถือว่าในฐานะประเทศเราเป็นเจ้าภาพ ยังไงหวังขอให้งานออกมาราบรื่น ไม่มีใครคิดถล่ม ไม่มีใครคิดบุกทำลายการประชุมเหมือนกรณีอาเซียนในพัทยาเมื่อหลายปีก่อน และสิ่งที่คู่กับเอเปก หรือการประชุมแบบนี้ ก็คือการชุมนุมหรือการประท้วงจากกลุ่มนานาชาติต่างๆ
แต่ก่อนจะมีการชุมนุมและประท้วงเรื่องโลกาภิวัตน์ เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา แต่สมัยนี้การชุมนุมที่ยอดฮิตและถือว่ายกระดับให้ก้าวร้าวมากขึ้น คือบรรดากลุ่มผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น Greenpeace หรือกลุ่มที่ผมเขียนถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน Just Stop Oil กลุ่มเหล่านี้เขาเลยจุดเพียงถือป้าย ถือโทรโข่ง และเดินขบวนเป็นพันๆ คน กลุ่มเหล่านี้เน้นเรื่อง Disruption ประเภทสุดโต่ง เพื่อให้คนสนใจและเป็นกระแส ไม่งั้นการชูป้าย พูดโทรโข่งและเดินเป็นพัน ไม่ได้ผลอะไรครับ ดังนั้นผมจะไม่แปลกใจถ้าเผื่อมีการแสดงจุดยืนหรือแสดงพลังอะไรบางอย่าง จากกลุ่มประเภท Greenpeace กับ Just Stop Oil ในครั้งนี้ด้วยครับ
ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งเพิ่งจบไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกกันว่า Mid-term elections ซึ่งวันเวลาที่ผมเขียนคอลัมน์นี้อยู่ มันยังไม่สามารถประกาศ ชัดเจนว่าพรรคไหนชนะ เพราะยังมีบางรัฐนับคะแนนไม่หมด และบางรัฐยังต้องนับอีกรอบหนึ่ง วันนี้ผมจะไม่วิเคราะห์ผลเลือกตั้งที่ออกมา ปล่อยให้บรรดา “ผู้เชี่ยวชาญ” วิเคราะห์แม่น….หลังผลออกมา…ทำหน้าที่ของเขา วันนี้ผมจะตอบคำถามที่หลายคนอาจมีในใจมานานเกี่ยวกับการเลือกตั้งอเมริกา
มีคนเคยถามว่า ทำไมถึงต้องเรียกว่า Mid-term elections ต่อเมื่อไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกประธานาธิบดี คำว่า Mid-term มันเป็น Mid-term ของใครต่อเมื่อ Congress (ส.ส.) มีวาระ 2 ปี ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี และ Senator (วุฒิสมาชิก) มีวาระ 6 ปี ต่อเมื่อคนอเมริกันเลือกประธานาธิบดีเมื่อสองปีที่แล้วพร้อมกับ Congress ทั้งชุดทำไมยังเรียกว่า Mid-term elections? แล้วทำไมวาระของ Congress มันเพียงแค่ 2 ปี? ทำไมไม่ให้มันครบ 4 ปีไปเลย?
สิ่งที่พวกเราต้องเข้าไจคืออเมริกาก่อตั้งมากว่า 250 ปี ในยุคนั้นเป็นยุคที่คนอพยพมาจากทวีปยุโรปเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือหาโอกาสที่ดีกว่า ดังนั้นในการก่อตั้งประเทศ เขาเลียนแบบระบบเดิมที่อยู่ในทวีปยุโรป และมาประยุกต์ใช้ในประเทศใหม่ คิดเสียว่า “คิดใหม่…ทำใหม่” ของแท้ คือ คิดใหม่…กว่าระบบเดิม ทำใหม่…กว่าเก่า
การร่างรัฐธรรมนูญในยุคนั้นที่ยังเป็นกระดูกสันหลังของสหรัฐอเมริกาจนถึงบัดนี้ ยึดหลักการ การกระจายอำนาจ และไม่ให้มีการผูกขาด การครองอำนาจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกว่าสร้างระบบกระจายอำนาจ หรือระบบถ่วงอำนาจ หรือระบบตรวจสอบ ก็ได้หมดครับ
แนวความคิดให้ระดับ Congress (ส.ส.) มีวาระเพียง 2 ปี คือให้มีการสมดุลกันระหว่างผู้มีประสบการณ์กับพลังของคนรุ่นใหม่ ให้มีความผสมผสานกันระหว่างความเก๋าทางการเมืองกับความสดทางการเมือง คือพูดง่ายๆ ครับ ให้เลือดเก่ากับเลือดใหม่ทำงานคู่กันตลอดเวลา ให้ระบบเป็นการคัดเลือกเป็นการสรรหา เป็นการล้างระบบในตัว ในแนวความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าวาระ 2 ปีทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องทันต่อความต้องการของประชาชน
ที่เขาลงเอยที่วาระละ 2 ปี อาจมาจากแนวความคิด “คิดใหม่…ทำใหม่” คือในยุคนั้นผู้ดำรงตำแหน่งระดับรัฐมีการเลือกตั้งทุกปี และจากหลายประเทศในทวีปยุโรปมีการเลือกตั้งผู้แทนของเขาทุก 3 ปี ก็เลยเอา 2 ปีสำหรับวาระผู้แทนในประเทศใหม่
กลับกัน ที่ประธานาธิบดีมีวาระ 4 ปี ก็เพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งได้ทำงานเต็มที่โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเลือกตั้งใหม่ จะได้ทำงานต่อเนื่องและเต็มประสิทธิภาพ ส่วนวุฒิสมาชิกที่มีวาระ 6 ปี ก็เพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งเน้นการทำงานต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องใกล้ชิดความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่อาจมีความต้องการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในหลักความคิด คือให้วุฒิสมาชิกสร้างความมั่นคงอีกชั้นหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย
ส่วนวุฒิสมาชิก ถึงแม้มีวาระ 6 ปีก็ตาม เวลามีการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือเป็นช่วง Mid-term elections ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะต้องมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกไปด้วย แต่ไม่ได้เป็นการเลือกวุฒิสมาชิกทั้งคณะ
ในระบบของการเมืองสหรัฐอเมริกาจะเป็นการเผื่อสิ่งร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างหรือสุญญากาศทางอำนาจ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะต้องมีการเลือกวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งในสามทุกๆ ครั้ง เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรร้ายแรง ทำให้ฝ่ายบริหารสูญหายไปหมด พร้อมกับระดับ ส.ส.ต้องหายไปหมดเช่นเดียวกัน ยังมีกลุ่มวุฒิสมาชิกยังคงอยู่ตลอดเวลา
ขออธิบายแบบนี้เพิ่มเติมครับ ในระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ยังไงๆ จะมีการเลือกตั้งทุกสองปี และจากการเลือกตั้งทุกครั้ง (คือทุก 2 ปี) จะต้องมีการเลือกตั้งระดับ ส.ส.ทั้งหมด และวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งในสาม ส่วนปีไหนที่ตรงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีการเลือกตั้งทั้ง ประธานาธิบดี (1 คน) ส.ส. (ทั้งหมด) และวุฒิสมาชิก (จำนวนหนึ่งในสาม) ทุกครั้งครับ
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมถึงต้องให้หนึ่งในสามวุฒิสมาชิกมีการเลือกตั้งทุก 2 ปี เหตุผลคือ เพื่อไม่ให้วุฒิสมาชิกทั้งคณะอยู่ห่างไกลความต้องการของประชาชน ถ้าเผื่อวุฒิสมาชิกทั้งคณะมีการเลือกตั้งทุก 6 ปี จะทำให้ห่างเหินประชาชนทั้งคณะ แต่ถ้าทุก 2 ปี มีหนึ่งในสามต้องมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่ยังอยู่ในตำแหน่ง ที่ยังไม่ถึงคิวเลือกตั้ง ยังต้องเกาะความต้องการของประชาชนอยู่ดีเพื่อเป็นการช่วยพรรค
ผมไม่แน่ใจว่า ผมอธิบายให้แฟนคอลัมน์เข้าใจระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกามากน้อยเพียงใด เพราะถ้าจะให้ลึกกว่านี้ มันลึกกว่านี้ได้อีกเยอะครับ แต่ผมว่าเราเอาเพียงหลักๆ ไว้ก่อน เพราะผมกลัวว่าการอธิบายของผมในวันนี้จะทำให้สับสนไปกว่าความรู้เดิมที่มีอยู่ เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสในวันข้างหน้า ผมจะพยายามอธิบายดีกว่านี้ครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
A Whole New World? หรือ Same Same, But Different?
ในเร็วๆ นี้ โลกของเราจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม จะอยู่ใน Gen ไหน สิ่งที่พวกเราต้องยอมรับกันคือ
วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'
หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
'This is what butterflies listen to after a long day.'
ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว