ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑๗)

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่นายแฮโรลด์ เอน. เดนนี ซึ่งต่อมานายเดนนีได้ส่งบทความการสัมภาษณ์ดังกล่าวไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ภายใต้หัวข้อ  “พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางโครงการที่จะให้มีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อทดลองประชาธิปไตย”  (https://www.nytimes.com/1931/04/28/archives/suffrage-for-siam-is-planned-by-king-to-test-democracy-fatherly.html) ฉบับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 

นายเดนนีได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบไปว่า “ตั้งแต่สมัยโบราณมา พระมหากษัตริย์สยามถือเป็นพ่อของราษฎร โดยหลังจากที่ผู้คนเป็นอิสระ (จากการปกครองของชนชาติอื่น/ผู้เขียน)   จึงเลือกที่จะเรียกตัวเองว่า ‘ไท’ ‘อิสระ’ (“Thai” “Free” ) และเลือกที่จะเรียกกษัตริย์ของพวกเขาว่า  ‘พ่อของประเทศ (Father of the country)’ ….พ่อเมือง (Po Muang)..ซึ่งเป็นแนวคิดในสยามที่ พระมหากษัตริย์คือพ่อของประชาชนของพระองค์ (the father of his people) และพระมหากษัตริย์จะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างลูก….”  

ก่อนหน้าบทสัมภาษณ์นี้  หลักการการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้ปรากฏในปาฐกถาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงแสดงในปี พ.ศ. ๒๔๗๐  ในปาฐกถานั้น กรมพระยาดำรงฯทรงกล่าวว่า การปกครองลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยในสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งหลักฐานอ้างอิงที่พระองค์ท่านทรงใช้คือหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไปในตอนก่อนๆแล้วว่า ไม่มีข้อความใดในหลักศิลาจารึกที่กล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงปกครองประชาชนประดุจพ่อปกครองบุตร แต่น่าจะเป็นการตีความของกรมพระยาดำรงฯเอง  ขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ เพราะเหตุใด กรมพระยาดำรงฯทรงต้องกล่าวเทียบเคียงการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับคำภาษาอังกฤษว่า “จึงเห็นได้ว่าวิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตร หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า Paternal Government” ?

ผู้เขียนมีสมมุติฐานว่า การที่กรมพระยาดำรงฯทรงเทียบเคียงการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัยกับคำว่า Paternal Government เพราะพระองค์น่าจะทรงอ่านเอกสารภาษาอังกฤษที่มีการกล่าวถึง Paternal Government  ซึ่งแปลความได้ว่า การปกครองในแบบพ่อ  

เท่าที่ผู้เขียนสำรวจเอกสารที่เป็นงานทางความคิดทางการเมืองตะวันตก จะพบการใช้คำว่า Paternal Government ในผลงานของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer) ในหนังสือของเขาชื่อ  Patriarcha or the Natural Power of Kings (ปิตาธิปไตย หรือ พระราชอำนาจตามธรรมชาติของกษัตริย์) ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่สิบเจ็ด  

คำว่า Patriarcha มีความหมายเดียวกันกับคำว่า Patriarchy ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ปิตาธิปไตย หรือการปกครองที่ผู้ปกครองปกครองประชาชนในลักษณะของการเป็นบิดาของประชาชน ซึ่งเป็นความหมายในแง่บวกในความคิดของฟิลเมอร์  (แต่ในทฤษฎีการเมืองแนวสตรีนิยม คำว่า Patriarchy หมายถึงการปกครองที่พ่อในฐานะที่เป็นผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นความหมายในแง่ลบ)  

ในการอธิบายความเป็นมาของการปกครองแบบพ่อ ที่ฟิลเมอร์เห็นว่าเป็นการปกครองที่ธรรมชาติให้พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีอำนาจเหนือสมาชิกในครอบครัว ดังที่ปรากฏในชื่อหนังสือของเขาว่า the Natural Power of Kings  นั่นคือ พระราชอำนาจตามธรรมชาติของกษัตริย์  เมื่อฟิลเมอร์เชื่อว่า การปกครองตามธรรมชาติคือ การปกครองของพ่อ ดังนั้น เขาจึงอธิบายย้อนไปในประวัติศาสตร์เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ในยุคโบราณได้ปรากฏการปกครองตามธรรมชาติที่ผู้ปกครองอยู่ในสถานะของพ่อของประชาชน โดยเขาได้กล่าวว่า มีร่องรอยของการใช้อำนาจปกครองแบบพ่อตัดสินเรื่องราวต่างๆในหมู่ชาวอิสราเอล  แต่การปกครองแบบพ่อปกครองลูกในหมู่ชาวอิสราเอลต้องขาดตอนลง เพราะเมื่อชาวอิสราเอลอพยพเข้ามาในอียิปต์ (เพราะหนีภัยแล้ง) ก็ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองอียิปต์ที่ไม่ได้ปกครองอย่างพ่อ แต่จะปกครองในฐานะนายกับทาส

แต่ประวัติศาสตร์ที่ฟิลเมอร์ใช้คือ เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล ! ซึ่งในสมัยของฟิลเมอร์ยังเชื่อว่า เรื่องราวในไบเบิลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แต่ต่อมา เมื่อจากความก้าวหน้าในความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ดีและการศึกษาประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ก็ดี ทำให้ทราบว่าเรื่องราวในไบเบิลไม่น่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์   ดังนั้น แนวคิดการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของฟิลเมอร์จึงเป็นการตีความเรื่องราวในไบเบิลเสียมากกว่าจะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จริงๆ และผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นไปได้ว่า กรมพระยาดำรงฯจะทรงเคยอ่านงานของฟิลเมอร์หรืองานในลักษณะเดียวกันนี้ของฝรั่ง และพระองค์ทรงเชื่อว่า การปกครองในยุคโบราณทั่วไปน่าจะเคยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระองค์จึงทรงตีความลักษณะการกครองของไทยโบราณในสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่ามีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยโบราณของไทยเช่นกันเหมือนที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวอิสราเอล และทรงสันนิษฐานและตีความจากการเรียกตำแหน่งผู้ปกครองในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า “พ่อขุน” และการปกครองแบบพ่อปกครองลูกก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ก็เปลี่ยนไปเรียกผู้ปกครองว่า พระยา ดังที่ปรากฎในชื่อของผู้ปกครองต่อจากพ่อขุนรามคำแหง  

ส่วนข้อความในปาฐกถาอีกข้อความหนึ่งที่กรมพระยาดำรงฯทรงใช้สนับสนุนการมีอยู่ของการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงคือ  “บิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน (คำว่า ‘พ่อครัว’ เดิมทีเดียวเห็นจะหมายความว่าเป็นผู้ปกครองครัวเรือน อันธรรมดาย่อมร่วมครัวไฟกัน ภายหลังมาจึงเข้าใจคำพ่อครัวกลายเป็นผู้ประกอบอาหาร)  หลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของ ‘พ่อบ้าน’ ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่า ‘ลูกบ้าน’  หลายบ้านรวมเป็นเมือง”  

จากข้อความดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงข้อเขียนของอริสโตเติลที่กล่าวถึงพัฒนาการของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ตั้งแต่การมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวไปจนถึงหมู่บ้านและรัฐ โดยในหนังสือเรื่อง “Politics”  อริสโตเติลได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า การมาอยู่รวมกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพื่อจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ประจำวันคือ ครัวเรือน โดยสมาชิกของครัวเรือนเป็นคนที่กินข้าวร่วมครัวเดียวกัน และหมู่บ้านคือการมาอยู่ร่วมกันในเบื้องต้นที่ประกอบไปด้วยครัวเรือนหลายครัวเรือน และการมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านก็จะตอบสนองความต้องการที่มากกว่าที่เกิดขึ้นในแต่ละครัวเรือน  ตามธรรมชาติแล้ว การเกิดหมู่บ้านดูจะคล้ายการเกิดเมืองบริวารที่เกิดการขยายตัวจากรัฐๆหนึ่ง แต่หมู่บ้านก็คือการขยายตัวของครัวเรือนกระจายออกไปจากครัวเรือนแรกที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่คนในครัวเรือนต่างๆในหมู่บ้านก็ล้วนเป็นญาติ ลูกพี่ลูกน้องกัน เป็นลูกของลูของลูก และต่อมาเมื่อขยายตัวเป็นเมือง และเกิดกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่จริงๆแล้วก็คือสมาชิกวงศาคณาญาติที่อาวุโสสุงสุด

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อความของกรมพระยาดำรงฯกับของอริสโตเติล จะเห็นถึงความคล้ายคลึงกันในการอธิบายการกำเนิดชุมชนและผู้ปกครองที่เป็นพ่อบ้านหรือพ่อครัว (เรือน)  

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า การอธิบายหลักการการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงของกรมพระยาดำรงฯน่าจะมาจากการตีความศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงโดยมีแนวคิดเรื่องปิตาธิปไตยของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์และข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ “Politics” ของอริสโตเติลเป็นแนวทางในการอธิบายลักษณะการปกครองของไทยโบราณ

และข้อสันนิษฐานนี้จะได้รับการยืนยัน เมื่อค้นรายการหนังสือความคิดทางการเมืองฝรั่งในหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งก่อตั้งขึ้น “เนื่องในอภิลักขิตสมัยครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะทรงสถาปนาสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ถาวรเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่าประเทศสยามยังไม่มีหอสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือที่เป็นสมบัติของชาติเช่นเดียวกับนานาประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอสมุดซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ ๓ แห่ง ได้แก่ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธสาสนสังคหะ จัดตั้งเป็นหอสมุดสำหรับให้บริการประชาชนทั่วไป และพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” โดยได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีที่ทำการอยู่ที่หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม)

หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีการบริหารจัดการโดยสภานายกและกรรมการ ๔ คน สภาสมัยแรกประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสภานายก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เน้นโดยผู้เขียน) พระยาโบราณบุรานุรักษ์ และพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เป็นกรรมการ นายออสการ์ แฟรงเฟิร์ตเตอร์ (Oscar Frankfurter) หัวหน้าบรรณารักษ์ของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้เขียนบันทึกเรื่องหอพระสมุดวชิรญาณฯ ไว้ในหนังสือเรื่อง “Twentieth Century Impressions of Siam: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources” ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ว่า ในระยะแรกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครมีการจัดหนังสือแบ่งออกเป็น ๓ แผนก ได้แก่ แผนกหนังสือพระพุทธศาสนา แผนกหนังสือไทย และแผนกหนังสือทั่วไป (ซึ่งในหนังสือ “ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร” จัดพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เรียกว่า แผนกหนังสือต่างประเทศ/เน้นโดยผู้เขียน) นอกจากหนังสือแล้วหอสมุดฯ ยังได้เก็บรักษาภาพถ่ายและตราประทับซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณี ตลอดจนเอกสารสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและรายงานของรัฐบาลที่ออกโดยกรมต่าง ๆ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 33): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 43: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 32): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490