นายกฯ เยอรมนี Olaf Scholz ไปเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนทางตะวันตกว่าจะเป็นการ “เอาใจ” ปักกิ่งมากไปหรือเปล่า
แต่ผู้นำจากเบอร์ลินก็ยืนยันว่าเขากำลังทำหน้าที่แทนยุโรปในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำจีน
จึงเป็นที่มาที่เขาต้องออกข่าวอย่างเป็นทางการว่า ได้ขอให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง “กดดัน” ประธานาธิบดี
วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียหาทางยุติสงครามยูเครนเสียโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า การเจรจาโดยตรงมีความสำคัญต่ออนาคตของสันติภาพโลก
และบอกกล่าวตั้งแต่ก่อนออกเดินทางว่า เมื่อได้เจอกับสี จิ้นผิง ก็จะไม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นที่มีความเห็นต่างระหว่างสองประเทศ
นั่นคือต้องการบอกว่าไม่ได้ไปปักกิ่งเพื่อ “เอาใจ” จีน
แต่ต้องการจะยกเรื่องราวที่ต้องพูดจากันขึ้นมาพูดกันให้ชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำเยอรมนีจึงเรียกร้องให้จีนใช้ “อิทธิพล” ของตนต่อรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครนระหว่างการแลกเปลี่ยนกับสี จิ้นผิง
นายชอลซ์กล่าวว่า ทั้งสองประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าการคุกคามทางนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้น “ไร้ความรับผิดชอบและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”
นั่นคือเนื้อหาที่รายงานนักข่าวเยอรมันอ้างว่าผู้นำทั้งสองได้กล่าวต่อกัน
ต้องไม่ลืมว่าผู้นำจีนยังไม่เคยออกมาประณามรัสเซียในเรื่องการส่งทหารบุกยูเครน
แต่สี จิ้นผิง ก็ไม่ได้เห็นพ้องกับปูตินในทุกรายละเอียดของสงคราม
ผู้นำจีนบอกกับนายกฯ เยอรมนีว่าประชาคมโลกควรสนับสนุนข้อเสนอเพื่อยุติวิกฤตการณ์อย่างสันติ และคัดค้านการใช้หรือคุกคามการใช้อาวุธนิวเคลียร์
แต่กระทรวงการต่างประเทศของจีนรายงานข้อสรุปของผู้นำทั้งสองโดยไม่ได้อ้างถึงประธานาธิบดีสีว่าใช้คำว่า "ไร้ความรับผิดชอบ" หรือ "อันตรายอย่างยิ่ง"
ชอลซ์กลายเป็นผู้นำตะวันตกคนแรกที่เดินทางไปปักกิ่งตั้งแต่เกิดโรคระบาดทั่วโลก
และเป็นผู้นำจากต่างประเทศคนแรก ๆ ที่ได้พบกับประธานาธิบดีสีนับตั้งแต่เขาได้ต่ออายุในฐานะเบอร์หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา
คนที่วิจารณ์เรื่องการไปเยือนจีนของนายกฯ เยอรมนีกลัวว่าการปรากฏตัวของเขาจะเป็นการ “ให้ความชอบธรรม” กับแนวทางกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของสีในเมืองจีนหรือไม่
แต่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนนี้ก็เช่นเดียวกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนก่อนที่ให้เหตุผลว่าปัญหาระดับโลกสามารถแก้ไขได้โดยความร่วมมือกับจีนเท่านั้น
ชอลซ์อ้างว่าการพบปะกันเป็นการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความเห็นในทุกเรื่อง
รวมถึงประเด็นที่ทั้งสองประเทศเห็นต่างกันอย่างมาก
สี จิ้นผิง บอกกับผู้นำเยอรมนีว่าทั้งสองประเทศต้องมีความปรารถนาที่จะทำงานร่วมกันใน "เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวาย"
ทั้งสองผู้นำมีข้อตกลงที่จะพูดคุยกันต่อไปว่าด้วยสงครามในยูเครน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการระบาดใหญ่ทั่วโลก
ประเด็นไต้หวันคือเรื่องร้อนที่นายชอลซ์ย้ำจุดยืนของเยอรมนี
โดยบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ใดๆ จะต้องเป็นไปอย่างสันติและด้วยข้อตกลงร่วมกัน
และด้านสิทธิมนุษยชนนั้นคนไต้หวันต้องได้รับการคุ้มครอง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในซินเจียงด้วย
ก่อนขึ้นอำนาจ นายชอลซ์รับปากว่าจะใช้นโยบายต่างประเทศที่เน้นค่านิยมและการเปลี่ยนแปลงในแนวทางของเยอรมนีที่มีต่อจีน
โดยย้ำก่อนเดินทางไปปักกิ่งว่า “หากจีนเปลี่ยนทิศทาง แนวทางของเราที่มีต่อจีนก็ต้องเปลี่ยน”
แต่ก็ยังมีคนที่ไม่ไว้ใจเขาในเรื่องนั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อเสนอล่าสุดและข้อขัดแย้งในการขายหุ้นในท่าเรือฮัมบูร์กให้กับบริษัทจีน
ในรัฐบาลก็มีรัฐมนตรีอย่างน้อยหกคนที่คัดค้านข้อตกลงนี้
ฝ่ายความมั่นคงก็เตือนให้มีความระมัดระวังช่องโหว่ในมาตรการรักษาความมั่นคงหากเปิดทางให้จีนเข้ามาถือหุ้นในท่าเรืออันสำคัญของเยอรมนี
แต่มีรายงานว่า นายชอลซ์ถูกกดดันบังคับให้เปิดไฟเขียวผ่านข้อตกลง
โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้ลดขนาดและอิทธิพลของสัดส่วนการถือหุ้น
จึงเกิดความระแวงสงสัยว่าเขาเดินทางไปปักกิ่งเพื่อมอบ "ของขวัญ" ชิ้นนี้ให้จีนหรือไม่
เพราะในคณะของนายกฯ เยอรมนีนั้น มีคณะติดตามที่เป็นผู้บริหารจากบริษัทเยอรมัน เช่น BASF, Volkswagen และ Bayer ด้วย
การพึ่งพาซึ่งกันและกันของธุรกิจทั้งสองประเทศมีตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ
เช่นกรณีรถยนต์ยักษ์ใหญ่ Daimler ซึ่งจำหน่ายรถยนต์มากกว่าหนึ่งในสามในจีน ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ธุรกิจของเยอรมนีลงทุนในประเทศจีนในปริมาณมากกว่าที่เคยเป็นมาด้วยซ้ำ
บริษัทเคมีภัณฑ์ BASF เพิ่งเปิดโรงงานแห่งใหม่ในจีนตอนใต้ และคาดว่าจะลงทุน 10 พันล้านยูโรภายในสิ้นทศวรรษนี้
และนายชอลซ์ต้องแสดงท่าทีที่รักษาสมดุลให้ได้
นั่นคือต้องปกป้องเศรษฐกิจของเยอรมนีโดยไม่เสี่ยงกับการกล่าวหาว่ายอม “อ่อนข้อ” ให้กับจีน
ทั้งหมดนี้กลายเป็นประเด็นร้อนของความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับจีนในภาวะที่ความขัดแย้งระหว่างสองขั้วกำลังเข้าสู่โหมดของการต้องชิงดีชิงเด่นกันอย่างเด่นชัด
ส่วนที่นายกฯ เยอรมนีเรียกร้องให้สี จิ้นผิง “กดดัน” ปูตินให้ยุติสงครามยูเครนนั้น จะประสบผลสำเร็จเพียงใดหรือไม่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครบอกได้
แต่อย่างไรเสีย สี จิ้นผิง ก็คงจะไม่รับปากรับคำเรื่องนี้แต่อย่างไร เพราะเป็นจุดยืนของจีนมาตลอดว่าจะไม่ก้าวก่ายเรื่องภายในของประเทศอื่น
อีกทั้งสีก็ต้องรักษาน้ำใจของปูตินด้วยการไม่ฟังตะวันตกกล่าวหาเพื่อนรักหน้าตาเฉย
สีคงไม่ต้องการให้ปูตินถามว่า “เยอรมนีพูดอย่างนี้กับคุณแล้ว คุณช่วยปกป้องผมหรือเปล่า?”
เพราะจะเป็นสภาวะที่กระอักกระอ่วนเกินกว่าที่จะคาดคิดได้แน่นอน
แต่ไหนแต่ไรมาก็มีหลายประเทศที่เรียกร้องให้จีนกดดันเกาหลีเหนือให้หยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ปรากฏผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
ยิ่งกับปูตินแล้ว สี จิ้นผิง ก็น่าจะเกรงใจมากกว่าคิม จองอึน ด้วยซ้ำไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ