ปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

กระแสฟุตบอลโลกของประเทศไทยในขณะนี้ต้องเรียกได้ว่า จืดชืดสนิท ก็หากยึดตามวัน-เวลาการแข่งขัน ต้องบอกว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนร่วมทัวร์นาเมนต์การแข่งขันแล้ว โดยหากยึดตามปฏิทินการแข่งขัน คู่แรกเปิดสนาม กาตาร์ เจ้าภาพในครั้งนี้ จะดวลแข้งกับทีมเอกวาดอร์ ในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.ที่จะถึงนี้

แต่จนถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าจะได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือไม่ และถ้าได้รับชมก็ไม่ทราบว่าจะได้รับชมทุกคู่หรือไม่

ซึ่งหากเกาะติดเรื่องนี้ให้ดี ทางรัฐบาล นำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลในเรื่องกีฬา ก็ออกมารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าคนไทยจะได้รับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลกอย่างแน่นอน โดยจะมีการนำเงินจากหน่วยงานอย่าง กสทช.ไปซื้อลิขสิทธิ์

แต่ปัญหาที่เจอตอนนี้ และมีการปูดข้อมูลกันอย่างหนักก็คือ ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกของไทยเนี่ยราคาพุ่งกระฉูดถึงกว่า 1,600 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายิ่งซื้อใกล้ช่วงเวลาแข่งขัน ยิ่งถูก แต่จากข้อมูลที่ออกมานั่นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

และยิ่งเมื่อไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่เขาซื้อราวๆ 500 ล้านถึงไม่เกิน 1,000 ล้านบาท หากไทยต้องเสียเงินในอัตราที่สูงขนาดนั้นก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเอางบบริหารประเทศไปใช้จ่ายในรายการแบบนี้

โดยมีแหล่งข่าววงในออกมาแฉอีกว่า สาเหตุที่ราคาแพงเพราะเอเยนต์ของฟีฟ่ามีการโก่งราคา เนื่องจากทราบว่าประเทศไทยมีกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ที่ระบุว่า ฟุตบอลโลกเป็น 1 ใน 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรี แถมภาครัฐบาลยังออกมาย้ำว่าคนไทยได้ดูแน่ จึงทำให้ทางเอเยนต์ของฟีฟ่ามีข้อต่อรองในการเรียกราคาได้ เพราะรู้ดีว่ารัฐจะไม่ยอมเสียหน้า และเอเยนต์รายนี้ก็หัวหมอในการใช้คนไทยเป็นตัวประกันในการต่อรอง

แต่อย่างไรก็ดี สมมติว่าปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์ครั้งนี้จบลง และรัฐบาลใช้งบของ กสทช.ไปจ่ายจริงๆ แม้ทัวร์นาเมนต์นี้จบลงแต่ในการแข่งขันครั้งต่อไปก็จะกลายเป็นปัญหากลับขึ้นมาอีก และรัฐบาลจะต้องมานั่งแก้หน้าเสื่อทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบีบคอเอกชน จ่ายเงินซื้อ หรือใช้งบจากหน่วยงานราชการมาช่วยซื้อลิขสิทธิ์

จริงๆ ปัญหานี้มันควรแก้ไข โอเคถ้าคิดว่ารัฐบาลรับมือไหวก็มีการตั้งงบซื้อฟุตบอลโลก บอลยูโรไปเลย ให้ชัด จะได้ไม่ต้องรอถึงโค้งสุดท้ายแบบนี้ แต่ในเชิงปฏิบัติทำได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ ซึ่งแนวทางนี้ก็ถือว่าชัดเจนดี เพียงแต่ต้องตอบคำถามประชาชนที่ไม่ดูบอลให้ได้

หรืออีกทาง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำการสื่อสารอย่างชัดเจนว่า ฟุตบอลโลก หรือบอลยูโร ไม่ใช่ของฟรี และจะดูฟรีเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว และยกเลิกกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ออกไป เพื่อให้กลไกในการทำธุรกิจกลับมา และจะได้ดูว่า จะมีเอกชนรายไหนกล้าเสนอตัวซื้อลิขสิทธิ์แล้วมาจัดแพ็กเกจขายให้ประชาชนบ้าง

โดยหากเทียบกับในต่างประเทศ อย่างเพื่อนบ้านของเรา เช่นในมาเลเชีย เขาเลือกถ่ายทอดสด 27 แมตช์ ซึ่งรวมไปถึงรอบชิงชนะเลิศ และถ่ายทอดเทปบันทึกการแข่งขัน 14 แมตช์ จากการแข่งขันทั้งหมด 64 แมตช์ ทำให้ซื้อลิขสิทธิ์ได้ราคาถูก ส่วนฟิลิปปินส์ ถ่ายทอดสดผ่านทาง TAP สามารถรับชมทุกแมตช์ด้วยระบบ Pay-Per-View (PPV) ค่าดูที่ 1,999 เปโซ หรือประมาณ 1,306 บาท สิงคโปร์ StarHub, Singtel และ Mediacorp ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาที่ราคา 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 948 ล้านบาท สตรีมมิง ราคา 98 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2,636 บาทต่อ 64 แมตช์ และถ่ายทอดสดแบบ Free-to-Air ใน 9 แมตช์สำคัญทางช่อง Mediacorp หรือแม้กระทั่งประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างญี่ปุ่นยังไม่ได้ดูฟุตบอลโลกฟรีเลย

ดังนั้น ถึงเวลาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมาคิดทบทวนแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยมันใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่ และถึงเวลาต้องทบทวนกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) หรือยัง.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเกือบ 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค.2567 ทั้งสิ้น 20,335,107 คน

ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

หลังจากนายกรัฐมนตรีหญิง แพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งอย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนต่างก็ดีใจ เพราะไม่ทำให้ประเทศเป็นสุญญากาศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งแรกที่ภาคเอกชนอย่าง

แนะเจาะใจผู้บริโภคด้วย‘ความยั่งยืน’

คงต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลงัดทุกทางพยุงตลาดหุ้น

หลังจากปล่อยให้ตลาดหุ้นซึมมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1,300 จุด เรียกได้ว่าสำหรับนักลงทุนถือเป็นความเจ็บปวด เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน

ดันอุตฯไทยไปอวกาศ

แน่นอนว่าในยุคที่โลกต้องก้าวหน้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น และต่อไปไม่ได้มองแค่ในประเทศหรือในโลกแล้ว แต่มองไปถึงนอกโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคพื้นที่มีความแข็งแกร่งส่งผ่านไปยังอุตสาหกรรมอวกาศได้

แบงก์มอง ASEAN ยังมาเหนือ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า