นายกฯ ฮุน เซน แห่งกัมพูชาก็เล่นบท “มือประสานระดับโลก” ได้เหมือนกัน
ในฐานะเป็นประธานอาเซียนที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียนและเอเชียตะวันออกในช่วง 12-13 พฤศจิกายนนี้ ฮุน เซน พยายามจะเชื้อชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียในสงครามยูเครนมาพูดจากันที่เวทีอาเซียนด้วย
เป็นก้าวย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจพอสมควร
ส่วนจะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในแวดวงการทูตนั้น เพียงแค่การแสดงท่าทีพร้อมจะ “อำนวยความสะดวก” ต่อคู่กรณีในข้อพิพาทก็ถือว่าได้บรรลุเป้าหมายเบื้องต้นแล้ว
ข่าวจากสื่อเขมรบอกว่า ฮุน เซน ต่อสายตรงกับเซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน และได้เสนอตัวจัดเวทีเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซียระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พนมเปญสัปดาห์หน้า
แถมพร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการทำลายวัตถุระเบิดไปฝึกคนยูเครนในการเก็บกู้กับดักระเบิดที่รัสเซียทิ้งไว้ในยูเครน
The Khmer Times รายงานว่า ผู้นำเขมรได้เชิญประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียไปร่วมประชุมสุดยอดกับอาเซียน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน Dmytro Kuleba มีกำหนดการจะเยือนกรุงพนมเปญเพื่อลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฮุน เซน ก็เลยมองเป็นโอกาสดีที่จะแสดงบทบาทสร้างสันติภาพเคียงคู่กับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ที่พยายามจะเชิญทั้งปูตินและเซเลนสกีมาเจอกันที่บาหลีช่วง 13-16 เดือนนี้ระหว่างการประชุมสุดยอด G-20 เหมือนกัน
ชัดเจนว่า ฮุน เซน พร้อมเล่นบทบาทประธานอาเซียนอย่างเต็มที่จนถึงนาทีสุดท้ายก่อนจะส่งไม้ต่อให้อินโดนีเซียซึ่งจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2023 ต่อ
ในการสนทนาระหว่างฮุน เซน กับเซเลนสกี ผ่านวิดีโอนั้น กัมพูชาและยูเครนตกลงแต่งตั้งเอกอัครราชทูตต่อกันและกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ฮุน เซน ยอมรับคำเชิญเยือนยูเครนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
ข้อตกลงที่ว่านี้มีขึ้นระหว่างการสนทนาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้
ฮุน เซน สั่งให้กระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์เล่ารายละเอียดของการแลกเปลี่ยนกับเซเลนสกีด้วย
“เมื่อสิ้นสุดการเจรจา [ฮุน เซน] ยอมรับคำเชิญให้ไปเยือนยูเครนในเวลาที่เหมาะสม” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์บอกว่า ฮุน เซน เคยไปเยือนยูเครนครั้งหนึ่งในปี 2524 ขณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
เซเลนสกีแสดงความขอบคุณฮุน เซน และอาเซียนที่สนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในการต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซียและการผนวกดินแดนของตน
ฮุน เซน กล่าวย้ำในระหว่างการสนทนาว่า กัมพูชายึดถือการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ
“ดังนั้นเราจึงต่อต้านการรุกราน การคุกคาม หรือการใช้กำลังที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐเอกราช อีกทั้งกัมพูชาไม่สนับสนุนการแยกตัวออกจากกันหรือการผนวกอาณาเขตของประเทศหนึ่งโดยอีกประเทศหนึ่งภายใต้สถานการณ์ใดๆ...”
ฮุน เซน แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในยูเครน
และแสดงความกังวลต่อการโจมตีล่าสุดของรัสเซียต่อเมืองหลวงกรุงเคียฟและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
รวมถึงความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน ไฟฟ้าดับ และขาดแคลนน้ำ
ฮุน เซน กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้วิกฤตการณ์พลังงานและอาหารแย่ลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
ฮุน เซน ยังเน้นย้ำว่า “สงครามไม่สามารถยุติด้วยสงครามได้”
และได้เสนอแบ่งปันบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากความทุกข์ทรมานของกัมพูชาผ่านการสู้รบที่ยาวนานมาก
“ฮุน เซน ย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาอย่างสันติและการแก้ปัญหา และหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาทางแก้ไขอย่างครอบคลุมเพื่อยุติสงครามในยูเครน เพื่อให้พวกเขาสามารถฟื้นสันติภาพ เสถียรภาพ บูรณภาพแห่งดินแดน และการพัฒนากลับคืนมา” ถ้อยแถลงระบุ
ผู้นำยูเครน “ขอบคุณจากใจจริง” สำหรับแถลงการณ์อาเซียนทั้งสามฉบับที่ออกเพื่อสนับสนุนยูเครน และขอบคุณกัมพูชาสำหรับการสนับสนุนคำขอของยูเครนในการภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)
นอกจากนี้ เซเลนสกียังขอโอกาสที่จะส่งคำแถลงผ่านลิงก์วิดีโอระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้น
และยืนยันอีกครั้งถึงความปรารถนาของยูเครนที่จะเป็นหุ้นส่วนการเจรจารายสาขาของกลุ่ม ซึ่งเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ที่ฮุน เซน สนับสนุน
เซเลนสกีเองก็รายงานกับประชาชนชาวยูเครนผ่านรายการแถลงประจำวันว่า
“วันนี้ผมได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้ อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีพลังมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ในบรรดาสมาชิก 10 ประเทศ” เขากล่าว
เห็นได้ชัดว่าสงครามยูเครนมีผลกระทบไปทั่วโลกจริงๆ เพราะแม้จะอยู่กันคนละทวีป แต่เซเลนสกีก็เห็นความสำคัญของอาเซียนในอันที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรที่จะสนับสนุนความเคลื่อนไหวของยูเครนในเวทีระหว่างประเทศ
การเดินเกมการทูตระหว่างประเทศของโจโกวีแห่งอินโดนีเซีย และฮุน เซน แห่งกัมพูชา ในกรณีสงครามยูเครนจึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว