ใครจะเจอใครตัวต่อตัวในการประชุมใหญ่ 3 เวทีในอาเซียน ช่วงวันที่ 11-19 พฤศจิกายนนี้ กำลังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันอย่างน่าระทึกใจทีเดียว
ตัวละครเอกที่จะไปร่วม 3 “ซัมมิต” หรือประชุมสุดยอดที่พนมเปญ, บาหลี และกรุงเทพฯ ก็คือ สี จิ้นผิง ของจีน, โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และปูตินของรัสเซีย
ล่าสุดทำเนียบขาวคาดว่าไบเดนกับ สี จิ้นผิง อาจจะพบกันตัวต่อตัวในเวที G-20 ที่บาหลี
คนที่ออกข่าวนี้คือโฆษกด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว นายจอห์น เคอร์บี
เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯ และจีน อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อปูทางให้มีการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำ
ซึ่งก็คงจะเป็นการคุยกันนอกรอบการประชุมปกติของสมาชิก G-20
เดือนกันยายนที่ผ่านมา โจ ไบเดน ยืนยันว่า ตนจะพบกับ สี จิ้นผิง “อย่างแน่นอน” ในจังหวะที่ผู้นำทั้ง 2 จะเข้าร่วมประชุมสุดยอด จี-20 ในบาหลี อินโดนีเซียของอินโดฯ
ตอนนั้นการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนยังไม่เสร็จสิ้น ข่าวคราวจากเมืองจีนจึงยังไม่แน่นอน
วันนี้เมื่อทุกอย่าง “เรียบร้อยโรงเรียนสี” แล้ว บรรยากาศก็โล่งสำหรับการที่สีกับไบเดนจะได้เจอกัน
เพราะ 2 คนนี้มีเรื่องต้อง “เคลียร์” กันมากมาย
ส่วนปูตินจะมาหรือไม่ มีประเด็นทับซ้อนหลายด้าน เพราะเขาต้องประเมินสถานการณ์สงครามในยูเครนจากนี้ไปถึงตอนนั้นจะเป็นเช่นไร สถานการณ์สู้รบในยูเครนยังมีความไม่แน่นอนสูง
ปูตินต้องอยู่บัญชาการรบที่บ้าน โดยเฉพาะหากหิมะเริ่มจะตกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
อีกทั้งการสู้รบในสมรภูมิด้านตะวันออกและทางใต้ รวมถึงคาบสมุทรไครเมียยังมีความผันผวนแปรปรวนตลอดเวลา
ปูตินจะพร้อมเจอตัวเป็นๆ กับไบเดนในเวทีประชุมซัมมิตแถวนี้หรือไม่ จึงยังเป็นปริศนาขณะนี้
ที่แน่ๆ คือประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนคงไม่พร้อมจะเจอกับปูติน ไม่ว่าจะเวทีไหน
เพราะทั้ง 2 ยืนอยู่คนละฟากฝั่งของสถานการณ์ชนิดที่พูดกันไม่รู้เรื่องแน่นอน
เดิมที ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย บินไปเชิญปูตินและเซเลนสกีด้วยตัวเอง
ทั้งปูตินและเซเลนสกีไม่รับปาก ต่างบอกว่าขอบคุณที่เชิญ แต่ขอ “ประเมินสถานการณ์” อีกที
ยิ่งใกล้วันของการประชุมสุดยอดที่บาหลี ความตึงเครียดที่ยูเครนก็หนักขึ้น
ปูตินบอกว่าพร้อมจะเจรจากับยูเครน แต่เซเลนสกีบอกว่าไม่พร้อม เพราะกล่าวหาว่ารัสเซียได้ใช้วิธีการ “ก่อการร้าย” ในการโจมตียูเครน
รัสเซียกล่าวหากลับว่ายูเครนต่างหากที่เป็นฝ่ายบิดพลิ้ว ไม่ยอมนั่งลงเจรจา
พิจารณาจากเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายแล้วก็ไม่น่าที่จะสามารถแม้จะนัดพบปะกันได้
เพราะยูเครนมีเงื่อนไขหลักว่า การเจรจาจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อรัสเซียต้องถอนทหารทั้งหมดออกจากยูเครน
และต้องคืนดินแดนทั้งหมดที่รัสเซียยึดครองกลับมาให้ยูเครนทั้งหมด
รวมถึงคาบสมุทรไครเมียด้วย
หากรัสเซียทำอย่างนั้นแล้วจึงจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องเจรจาสันติภาพได้
อย่างไรเสีย รัสเซียก็คงไม่ยอมตามเงื่อนไขของยูเครน
เพราะปูตินได้ประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครนไปเป็นของรัสเซียแล้ว
อีกทั้งรัสเซียยืนยันว่านี่ไม่ใช่การรุกรานยูเครน หากแต่เป็นการส่งทหารมาเพื่อคุ้มครองปกป้องคนที่มีเชื้อชาติรัสเซียที่ถูกยูเครนข่มเหงรังแกต่างหาก
ดังนั้นมอสโกจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยอมรับว่า “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ครั้งนี้เป็นเรื่องของการ “รุกราน”
ยูเครนย้ำว่าสิ่งที่รัสเซียทำคือการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตน
เป็นการจงใจทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ
ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในสมัชชาสหประชาชาติก็ได้ลงมติไปตามแนวทางนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เมื่อเห็นจุดยืนของทั้ง 2 ห่างไกลกันลิบลับอย่างนี้ จึงเกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดว่าปูตินกับเซเลนสกีจะสามารถนัดหมายพบปะกันก่อนสิ้นปีนี้
ดังนั้นสิ่งที่พึงหวังได้ในยามนี้ก็คือ สี จิ้นผิง กับไบเดนจะพบกันเพื่อถกประเด็นความขัดแย้งระดับโลก โดยมี 2 ยักษ์ใหญ่พยายามจะสร้างความได้เปรียบของตนเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง
แน่นอนว่าหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการพูดคุยของ 2 คนนี้ก็คือเรื่องสงครามยูเครน
ซึ่งแม้จะคาดหวังไม่ได้ว่าจะมีความคืบหน้าในทางสร้างสรรค์อย่างไร (เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่อาจจะยอมถอยให้แก่กัน โดยเฉพาะในเวทีระหว่างประเทศที่ผู้คนคอยจับจ้องทุกถ้อยคำและลีลา) แต่การที่ผู้นำ 2 มหาอำนาจได้พบกันย่อมจะดีกว่าไม่ยอมสนทนากัน
ความจริง สี จิ้นผิง และไบเดนได้เคยหารือเกี่ยวกับเรื่องจะเจอกันตัวเป็นๆ ในการประชุมของ 2 ผู้นำผ่านทางออนไลน์ ที่กินเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ในเวทีนั้นมีการหารือถึงความตึงเครียดที่โยงกับแผนการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.แนนซี เพโลซี แต่สุดท้าย เพโลซีก็ไปเยือนไต้หวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ไม่นานหลังการหารือของผู้นำจีนและสหรัฐฯ ในครั้งนั้นแต่อย่างใด
ตามแผนการเดินทางของไบเดน เขาจะไปร่วมประชุมโลกร้อน COP27 ที่อียิปต์ วันที่ 11 พฤศจิกายน ก่อนบินไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่พนมเปญ, กัมพูชา 12-13 และไปบาหลีเพื่อร่วม G-20 ช่วง 13-16 พฤศจิกายน
ไบเดนไม่มาร่วมประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ อ้างว่าติดงานแต่งงานของหลาน
และส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส มาแทน
แต่อย่างไรเสีย นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทยก็จะได้เจอกับไบเดนที่พนมเปญ
และผู้นำไทยจะได้ต้อนรับตัวเป็นๆ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กรุงเทพฯ
หรือเราจะจัดให้กลมา แฮร์ริส จิบกาแฟกับสี จิ้นผิง...ในฐานะคนเชื้อสายเอเชียด้วยกัน?
ฝ่ายการทูตแย้งว่า คนหนึ่งเป็นเบอร์หนึ่ง อีกคนเป็นเบอร์สอง ไม่สมศักดิ์ศรี
ก็ชวนท่านผู้นำฝรั่งเศสและแคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้มาร่วมวงสังสรรค์แบบไทยๆ ก็ได้นี่นา
ทุกอย่างอยู่ที่การประเมินสถานการณ์หน้างานครับ!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว