ชัดเจนในล้มล้าง

กะล่อนกันเก่งเหลือเกิน

ม็อบสามนิ้ว โดยการบงการของเพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาแนวใหม่ แต่ย้อนหลังไปไกลถึง ๘๙  ปี

ประกาศลุกขึ้น ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สโลแกนชุมนุมวานนี้ (๑๔ พฤศจิกายน) ดูเหมือนจะเกรงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่บ้าง จึงออกมาดูแปร่งๆ

....นี่ไม่ใช่การไล่ประยุทธ์

นี่ไม่ใช่การยกเลิก ๑๑๒

นี่ไม่ใช่การปฏิรูปฯ

นี่ไม่ใช่การล้มล้างฯ

นี่คือการต่อสู้เพื่อยืนยันว่าประเทศนี้ต้องปกครองด้วยระบอบที่คนทุกคนเสมอหน้าเท่าเทียมกัน นี่คือการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย...

รู้สึกประหลาดใจ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเข้าใจว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยปกครองใน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทั้งๆ ที่ ถูกล้มล้างไปแล้วเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕  โดยคณะราษฎร

แต่เป็นที่รู้กัน นี่คือการตะแบง ไม่เอาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จะฝักใฝ่สาธารณรัฐ หรือสังคมนิยม เพราะเห็นมีการประกาศเป็นคอมมิวนิสต์กันหลายคน ก็เอาที่สบายใจ แต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ก็คือการล้มล้าง

สุดท้ายเป็นการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี

และที่รู้สึกประหลาดใจหนักเข้าไปอีก มีการขุดคุ้ยประวัติศาสตร์บางมุม โจมตี ปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ยอมเชื่อ หลวงพิบูลสงคราม ให้ถอนรากถอนโคนแบบที่ทำกันในยุโรป

โดยเฉพาะฝรั่งเศส           

คำกล่าวของ หลวงพิบูลสงคราม ในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๓ อ้างว่าสิ่งที่ทำมาคือความผิดพลาด

"....ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ เพราะเหตุเราจะต้องประสานกัน เราต้องการความสงบสุข เราต้องการสร้างชาติ

เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔  มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เราจึงไม่ได้ทำอะไรเลยกับพวกที่เห็นตรงกันข้าม ใครจะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้

เมื่อเปรียบกับในต่างประเทศ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า เราทำมาผิดกันไกล เช่น ฝรั่งเศสปฏิวัติกัน เขาก็ฆ่ากันนับพันๆ  คน จนถึงกับเอาใส่รถใส่เกวียนไปฆ่ากัน          

ส่วนเราเปลี่ยนกัน เปลี่ยนทั้งพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนทั้งอำนาจอะไรต่ออะไรด้วย เราก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย มิได้มีการเสียเลือดเนื้อกันเลย และผมว่า ในชีวิตเรา ในชีวิตลูกของเรา  พวกรักระบอบเก่าแก้แค้นก็ไม่หมด เพราะว่าเราปล่อยไว้ 

อย่าว่าแต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เลย ขอให้มองดูใกล้ๆ การเปลี่ยนแต่พระมหากษัตริย์ ตัวอย่าง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เปลี่ยนจากพระเจ้าตากมาแล้ว ฝ่ายพระเจ้าตากเป็นอย่างไร ฝ่ายพระเจ้าตากต้องถูกประหารชีวิตหมด

ถึงกระนั้นก็ดี ตอนหลังก็ยังปรากฏว่าจะมีการแย่งกันอีกเล็กน้อย นี่ตัวอย่างที่เราเป็นมาแล้ว แต่เราไม่ได้ทำอันตรายใครเกินเหตุ จึงทำให้พะวักพะวนอยู่ แต่ห่วงพวกรักระบอบเก่า  พวกผมขอให้หมด ปิดฉากพยาบาทกัน แต่พวกตรงข้ามเขาไม่ยอม ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร

เขาแสดงทีท่าว่า ต่อให้ถึงลูกหลานเหลนของเราก็ต้องรบกันอยู่นั่นเอง ก็มีปัญหาขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงไม่แก้เล่า ถ้ามีการแก้ ก็ต้องทำเด็ดขาดอย่างพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปฏิบัติกับพวกเจ้าตาก ซึ่งได้ผลดีมาแล้ว แต่เราทำไม่ได้ จะไปล่มเรือฆ่ากันอย่างนั้นพ้นสมัย และกลัวบาปด้วย แต่ฆ่า ๑๘ คนเท่านี้ก็พออยู่แล้ว เป็นประวัติการณ์ที่เรายังไม่ลืมเหตุการณ์อันนี้  ถ้าเราจะให้หมดไปจริงๆ ที่จะให้ระบอบใหม่นี้มั่นคงแล้วจะเป็นอย่างไร

ดูอย่างฝรั่งเศสเมื่อครั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ นั้น เอาไปประหารกันทีเดียว

อีกอย่างหนึ่ง เราจะปราบด้วยวิธีอื่นก็ได้ พวกที่อยู่ในระบอบเก่าไม่เปลี่ยนหัวมาเป็นระบอบใหม่ ก็ให้หนีไปเสียจากเมืองไทย สภาฯ นี้ก็อนุมัติให้รัฐบาลทำได้ ให้ออกกฎหมายว่าพวกนี้ให้ผมริบทรัพย์ แล้วเนรเทศไปให้หมด...."

เป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่ใฝ่รู้ในประวัติศาสตร์

แต่การหยิบยกเอาความคิด จอมพล ป. มาสรุปในบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ต่างจากการจับแพะชนแกะ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ

ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงคิดจะนำพาประเทศไทยกลับไปสู่ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกครั้งแต่อย่างใด

ดังบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"....ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด

ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้  สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว

แต่ว่าฉันเสียขวัญ...."

เหตุการณ์ที่เกิดในห้วงเวลานั้น เมื่อคณะราษฎร จับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน อาทิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี  หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (สวัสดิ์ บุนนาค)  เสนาธิการทหารบก เป็นต้น ไว้เรียบร้อยแล้วจึงได้ออกประกาศว่า

"ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย"

ฉะนั้นคำกล่าวของหลวงพิบูลสงคราม มิได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด

และคณะราษฎรเองก็มิได้ใจดีกับพระบรมวงศานุวงศ์

แต่เพราะเหตุการณ์บังคับให้คณะราษฎรไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้ เพราะเกรงการนองเลือด จนยากที่คณะราษฎรจะควบคุมสถานการณ์

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดนับตั้งแต่นั้น  ระบอบใหม่หลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๘๙ ปี ลุ่มๆ ดอนๆ มีประชาธิปไตย สลับ รัฐประหาร

โดยเฉพาะการ รัฐประหาร ไม่ได้ทำเพื่อนำประเทศกลับเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลย

ช่วงแรกของการรัฐประหารในไทย หรือจะเรียก ต้นแบบ หรือ จุดเริ่มต้น ล้วนเป็นการกระทำเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ผู้นำคณะราษฎรทั้งสิ้น โดยเฉพาะ ๕ ครั้งแรก

รัฐประหาร ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

รัฐประหาร ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

รัฐประหาร ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐประหาร ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

และที่น่าสนใจ "กบฏแมนฮัตตัน" ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ รัฐประหารปี  พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นการพยายามกลับเข้ามาของ "ปรีดี พนมยงค์" กับกลุ่มอดีตเสรีไทยที่ลี้ภัย

แต่ยึดอำนาจจอมพล ป. ไม่สำเร็จ

กลายเป็น "กบฏแมนฮัตตัน"

ถ้าสำเร็จก็เป็นการรัฐประหาร "ปรีดี พนมยงค์" ก็อาจกลับเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ครับ...ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษาเป็นบทเรียน ไม่ใช่เพื่อตะแบง

รัฐประหารในไทยยังมาจากอีกหลายสาเหตุ แต่ยุคหลังๆ อ้างเรื่อง คอร์รัปชัน

ไม่มีครั้งไหนเลยที่จะพาประเทศกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

และคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพรัก และทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ฉะนั้นเมื่อวันนี้คนรุ่นใหม่ของชาติ ประกาศต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็แปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

นี่คือการเตรียมการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ