เริ่มชัดเจนกับแผนอุ้มน้ำมัน

ผ่านมาก็หลายสัปดาห์แล้ว ไม่สิ ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ความคืบหน้าที่ดูเหมือนจะชัดเจนก็ยังดูคลุมเครือ และดูเลื่อนลอย แต่ก็ยังต้องหวังกันต่อให้สามารถสรุปจบได้ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกมาหลายเดือน และดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยเก็บสะสมไว้มาใช้จนล่าสุดติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว

เมื่อวิกฤตเกิด แผนกู้วิกฤตก็ต้องตามมา แน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพลังงานก็กระตือรือร้นอยู่บ้างที่จะผลักดันแผนดูแลราคาพลังงานต่างๆ หลากหลายวิธี จนมาจบอยู่ที่การกู้เงิน โดยเรื่องนี้คุยกันมายาวนานหลายเดือน จนประชาชนเริ่มสงสัยแล้วว่าจะไปจบที่ตรงไหน

แต่ล่าสุดลำแสงที่ปลายอุโมงค์ก็เริ่มโผล่มาให้เห็น เพราะการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค. มีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดย สกนช. วงเงิน 150,000 ล้านบาท พร้อมมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาปรับแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้นๆ

ซึ่งแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยจะทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 (กู้ยืมครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565-ก.พ.2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 ซึ่งจะชำระหนี้ครบภายในเดือน ก.พ.2568

ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือน ต.ค.2572

นอกจากนี้ล่าสุดได้ยินข่าวมาว่า กบน.ก็เตรียมเดินหน้าเต็มกำลัง โดยจะเตรียมประชุมเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดวงเงินกู้ครั้งแรกและแผนการชำระหนี้เงินกู้ที่ชัดเจน ภายหลังจากได้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านความเห็นชอบ 3 แผนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แล้ว คือ แผนการกู้เงิน, แผนการชำระหนี้ และแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และกฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทก็มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 5 ต.ค.2566

และแน่นอนว่า หลังจากนี้ สกนช.จะเตรียมขั้นตอนการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะประกาศเชิญชวนสถาบันการเงินต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมปล่อยกู้ในรูปแบบการประมูลที่รายใดเสนอเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ดีที่สุดจะได้รับการพิจารณาก่อน และหลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ พิจารณาเลือกสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ คาดว่ากองทุนจะได้รับเงินในเดือน พ.ย.นี้

โดยอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวว่า สำหรับวงเงินก้อนแรกของ 1.5 แสนล้านบาทที่ได้บรรจุไว้ในหนี้สาธารณะแล้ว คือวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่ง กบน.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเริ่มต้นกู้เท่าไหร่ ซึ่งอาจไม่ถึง 30,000 ล้านบาท โดยจะดูตามความจำเป็นในการใช้เงินเป็นหลัก หากไม่จำเป็นจะไม่กู้มากเกินไป เพราะจะกลายเป็นภาระหนี้ประเทศ        

ทั้งนี้ หากในอนาคตจำเป็นต้องกู้เพิ่ม เช่น 20,000 ล้านบาท ก็ต้องให้ ครม.บรรจุวงเงินนั้นไว้ในหนี้สาธารณะก่อน จึงจะเริ่มกู้ได้ แต่โดยรวมต้องไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และมีระยะเวลาให้ทำเรื่องกู้ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่จำเป็นต้องกู้ให้ครบ 1.5 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก

เท่านี้ก็น่าจะเริ่มอุ่นใจได้แล้วว่าความเลื่อนลอย หรือการที่ดูไร้หลักแหล่งก่อนหน้านี้ของเรื่องการกู้เงินดังกล่าว เริ่มจะทำให้กลับมามีหวังได้ว่าจะสามารถทำได้โดยเร็ว แต่หลังจากนั้นก็ต้องมานั่งพิจารณากันต่อว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นดาบสองคมหรือไม่ เพราะเป็นเหมือนนโยบายที่ทำก็ดี ไม่ทำก็อาจจะดีเช่นกัน.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสำเร็จของแบรนด์กับการใช้Meta

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากร 700 ล้านคน และมี GDP รวมประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

หวยเกษียณแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการออมของประชาชนในประเทศ

เจ็บแล้วจบ

หลังการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาเดินหน้ามาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

3แผนกรีนดันอุตฯไทยรักษ์โลก

เทรนด์รักษ์โลกยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และตลอดปี 2567 ที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงาน หลายบริษัทก็ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันแรงกล้านี้ และยังแห่ประกาศแผนดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

เร่ง“ปรับ”ก่อน(ถูก)“เปลี่ยน”

ยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เพราะหดตัวลงถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าทั้งปีจะหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

เปิดไม้เด็ดธุรกิจขนาดเล็กสู้ในตลาด

หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจที่มีทุนหนาและมีส่วนแบ่งการตลาดมาก มักจะถูกมองว่าเป็น “ปลาใหญ่” ที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่าซึ่งเปรียบเหมือน “ปลาเล็ก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เห็นชัดที่สุดคือ การมี Economy of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าหรือบริการในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง พูดง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนการผลิตยิ่งลดลง และยิ่งคุ้มค่ามากขึ้น” โดยต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการจะแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) และต้นทุนผันแปร (variable cost) ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเป็นจำนวนคงที่ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าใดก็ตาม เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่วนต้นทุนผันแปร