เผด็จการทหารพม่าเดินหน้า ฟาดฟันกับอาเซียนอย่างเปิดเผย

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของพม่ากำลังจะงัดข้อกับอาเซียนอย่างถึงพริกถึงขิง

ข่าวบางกระแสบอกว่า เป้าหมายของเขาคือการจะต้องขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศด้วยวิธีการต่างๆ ผ่านอำนาจเบ็ดเสร็จที่มาพร้อมกับรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

แม้จะต้องฟาดฟันกับอาเซียนในทุกวิถีทางก็ตาม

อาเซียนเองก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะหากปล่อยให้มิน อ่อง หล่าย ยังปราบปรามประชาชนและกลุ่มต่อต้านทั้งหลายด้วยวิธีการรุนแรงที่ละเมิดกฎกติกาของอาเซียนและนานาชาติ, ความศักดิ์สิทธิ์ของอาเซียนก็จะหมดสภาพ

แถลงการณ์หลังการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ยกเว้นพม่า) ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้แสดงความผิดหวังที่ไม่มีอะไรคืบหน้าเกี่ยวกับ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่ตกลงกันเอาไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายนปีที่แล้วแม้แต่น้อย

จึงมีข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้ว่า จะมี “ข้อเสนอชุดหลัก” (key recommendations) ให้กับที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายนนี้

รายละเอียดของข้อเสนอชุดใหม่นี้เป็นอย่างไรไม่เป็นที่เปิดเผย แต่พอจะเดาได้ว่าจะต้องมีเนื้อหาที่มีความชัดเจนกว่าที่ผ่านๆ มา

มิเช่นนั้นอาเซียนก็จะถูกมองว่าเป็น “เสือกระดาษ”

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ข้อความในแถลงการณ์ร่วมตอนหนึ่งบอกว่า ข้อเสนอใหม่จะต้องเป็นรูปธรรม, ปฏิบัติได้ และ “ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน” (concrete, practical and time-bound actions)

ตรงที่พูดถึง “กรอบเวลาที่ชัดเจน” นี่แหละที่ทำให้รัฐบาลทหารพม่ามีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที

แถลงการณ์ตอบโต้จากรัฐบาลทหารพม่าบอกว่า การที่จะขีดกรอบเวลาให้กับแผนสันติภาพนั้น “จะนำไปสู่ผลที่เป็นทางลบ”

ฝ่ายพม่าอ้างว่าข้อตกลงแผนสันติภาพที่ว่านั้นเป็นเพียง “กระบวนการ” มิใช่เป็นแผนที่จะมีเส้นตายว่าจะต้องทำให้สำเร็จเมื่อไหร่อย่างไร

 “การเพิ่มแรงกดดันด้วยการตีกรอบเวลาจะสร้างผลทางลบมากกว่าทางบวก” กองทัพพม่าแย้ง

นั่นแปลว่า มิน อ่อง หล่าย เริ่มจะกลัวว่าหากอาเซียนเสนอว่ากองทัพพม่าจะต้องทำตามฉันทามติ 5 ข้อภายในกี่วันกี่เดือนจากนี้ไป หากไม่ทำก็จะต้องเจอกับมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ก็จะทำให้แผนของมิน อ่อง หล่าย ที่จะรวบอำนาจไว้อีกยาวนานนั้นมีอันต้องพังทลายลงมา

ก่อนหน้านี้ สื่อทางการพม่าบอกว่า “นโยบายอาเซียนเรื่องการพัวพันอย่างสร้างสรรค์ หรือ Constructive Engagement นั้นเป็นอันไม่อยู่บนโต๊ะ (ของการเจรจา) อีกต่อไป

เท่ากับเป็นการขู่อาเซียนว่า หากพยายามจะกดดันรัฐบาลทหารพม่าเพิ่มขึ้นก็คงจะเลิกพูดจากัน

อาเซียนได้พยายามหาทางให้มีการสร้าง “กระบวนการ” ของการปรองดองแห่งชาติ แต่ มิน อ่อง หล่าย บิดพลิ้วมาตลอด

แม้ว่ารองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา คุณปรัก สุคนน์ จะได้เข้าไปพม่าในฐานะ “ทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจการเมียนมา” แต่ก็ได้แต่พบกับฝ่ายทหารเท่านั้น

ตัวแทนของอาเซียนยังไม่สามารถจะพบกับ อองซาน ซูจี หรือตัวแทนของฝ่ายตรงกันข้ามกับกองทัพหรือกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ดังนั้น “กระบวนการสันติภาพ” ที่กองทัพพม่าอ้างถึงนั้นก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการที่กองทัพพม่ายังเดินหน้าปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามอย่างหนักหน่วง

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้กองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบถล่มใส่คอนเสิร์ตของกลุ่มคะฉิ่นที่จัดงานฉลองครบรอบการก่อตั้ง 62 ปีของ Kachin Independence Organization (KIO)

มีคนตายไม่น้อยกว่า 80 และบาดเจ็บอีกเป็นร้อย

เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้าย และเป็นการจงใจสังหารพลเรือนอย่างไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อมีการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนประจำปีที่กรุงพนมเปญในเดือนหน้า แรงกดดันจากโลกตะวันตกที่จะยกระดับการลงโทษรัฐบาลทหารพม่าจึงจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

รัฐบาลในอาเซียนต่างก็รับรู้ถึงข้อเสนอของโลกตะวันตกที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการคว่ำบาตรของกองทัพพม่า

จึงเป็นที่มาของการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (โดยไม่ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของกองทัพ Wunna Maung Lwin มาร่วมด้วย)

ทำให้กองทัพพม่ากล่าวหาว่าอาเซียน “เลือกปฏิบัติ” ที่ไม่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาไปร่วมประชุม

แต่อาเซียนอีก 9 ประเทศเห็นว่า เมื่อไม่มีความคืบหน้าในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร

นักวิเคราะห์ที่ติดตามเรื่องพม่าเริ่มจะเห็นเค้าลางของความเคลื่อนไหวที่มิน อ่อง หล่าย จะวางตัวเองเป็นประธานาธิบดี

สังเกตจากการที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยกองทัพกำลังเตรียมการอย่างคักคักเพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมปีหน้า

รัฐธรรมนูญของพม่าปัจจุบันให้กองทัพมีโควตาที่นั่งในสภา 25% อยู่แล้ว

ดังนั้น มิน อ่อง หล่าย ก็จะต้องพยายามให้พรรคทหารของเขาได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งอีก 75% นั้นมากพอที่จะยกมือให้เขาเป็นประธานาธิบดี เพราะนั่นคือความใฝ่ฝันของเขามาตลอด

พรรคที่ทหารสนับสนุนคือ Union Solidarity and Development Party หรือ USDP ซึ่งเพิ่งจะเลือกมือขวาของ มิน อ่อง หล่าย ที่ชื่อ “Khin Yi” (ขิ่น ยี) มาเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นายขิ่น ยี เคยเป็นนายทหารก่อนที่จะรับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา พรรค USDP แพ้พรรค NLD ของ อองซาน ซูจี ชนิดไม่เห็นฝุ่น

แม้จะมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า กองทัพพยายามจะยุบพรรค NLD แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม

อาจจะเป็นไปได้ว่ากองทัพต้องการเก็บ NLD ไว้เพื่ออ้างความชอบธรรมของการเลือกตั้งคราวนี้

โดยหวังว่าเมื่อ อองซาน ซูจี ต้องติดคุกเพราะถูกศาลทหารตัดสินมีความผิดในหลายคดี และแรงกดดันจากกองทัพต่อประชาชนทั้งในรูปข่มขู่และข่มเหง ก็อาจจะทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าเอื้อต่อพรรคทหารของตน

สถานการณ์ของพม่าเลวร้ายลงทุกขณะ แม้แต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศก็ยังไม่อาจจะหาช่องทางที่จะเข้าถึงประชาชนที่กำลังเผชิญกับความหิวโหย, โรคภัยไข้เจ็บและภัยจากการถล่มโจมตีของกองทัพอย่างไร้ความปรานีอย่างหนักหน่วงรุนแรงอย่างต่อเนื่องถึงวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ