เข้าสู่บรรยากาศเอเปก

มารู้จักเอเปกกันหน่อยครับ...

เหลือเวลาอีกครึ่งเดือน ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลก

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก  (APEC-เอเปก ๒๐๒๒) กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙  พฤศจิกายน

ตราสัญลักษณ์ของการประชุม ในครั้งนี้ออกแบบโดย ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นรูป "ชะลอม" ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง หรือนำไปมอบแก่บุคคลที่เคารพในสังคมไทยจากรุ่นสู่รุ่น

ทำจากไม้ไผ่ สะท้อนถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยชะลอม ๒๑ ช่อง สื่อถึงสมาชิก ๒๑  เขต

เศรษฐกิจ และใช้สีน้ำเงิน ชมพู เขียว สื่อให้เห็นถึงคำขวัญของการประชุม "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล"

การประชุมจะมีขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ซึ่งมีการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด

มาทำความรู้จักกับ เอเปก กันคร่าวๆ

ปัจจุบัน เอเปกมีสมาชิกทั้งสิ้น ๒๑ เขตเศรษฐกิจ  

ประกอบด้วย ๒๐ ประเทศ ๑ เขตเศรษฐกิจ

มี ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์  ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม

และยังมีประเทศที่แสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก ประกอบด้วย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา มาเก๊า มองโกเลีย ลาว กัมพูชา คอสตาริกา โคลอมเบีย ปานามา  อินเดีย เอกวาดอร์

ครั้งนี้มีแขกรับเชิญ ๓ ชาติ ประกอบด้วย สมเด็จฮุน เซน จากกัมพูชา, เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน จากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย      

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เลือกที่จะไปงานแต่งของหลานสาวแทนอย่างแน่นอนแล้ว แต่ส่ง รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส มาแทน

เอเปกมีประชากรมากกว่า ๓ พันล้านคน คิดเป็น  ๓๘% ของประชากรทั้งโลก

มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว ๒ ใน ๓ ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก

หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า ๕๐ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มูลค่าการค้าระหว่าง ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก

ภาพรวมการประชุมเอเปก มีขอบเขตสารัตถะของการประชุมครอบคลุมเกือบจะทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอาจจำแนกออกได้เป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่

 ๑.การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ

๒.การบูรณาการระบบเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ

๓.การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกัน (Inclusive)

๔.การสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และ

๕.การพัฒนาเทคโนโลยี ดิจิทัล และการสร้างนวัตกรรม

ความพิเศษของการประชุมเอเปกในครั้งนี้คือ จะเป็นการประชุมแบบพบปะเจอตัวอย่างพร้อมหน้ากันอีกครั้ง  เพราะการประชุมก่อนหน้าต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ จึงต้องใช้ระบบการประชุมทางไกลแทน

ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปกเตรียมเสนอ ร่างเอกสาร  Bangkok’s Goals ให้ผู้นำชาติสมาชิกเอเปกร่วมลงนาม ประกอบไปด้วย ๔ เป้าหมาย

๑) ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน  (Sustainable Trade and Investment)

๒) ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

๓) ร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ

๔) ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน

ครับ...เป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อจะได้รู้ว่า ผู้นำชาติเอเปกเขาจะคุยเรื่องอะไรกัน

นี่ยังไม่นับการประชุมทวิภาคีนอกรอบ ที่แต่ละประเทศจับคู่กันหารืออีกต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่คุยกันเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ช่วงนั้น "ลุงตู่" เองก็ปิดห้องคุยกับผู้นำหลายประเทศ  ผลประโยชน์ก็ตกกับประเทศไทย

ส่วน "ลุงโจ" ไม่มาจะส่งผลให้การประชุมกร่อยหรือไม่

ไม่กร่อยครับ

เพราะยักษ์ใหญ่มากันหมด

"มาครง" ได้รับเชิญมา จะทำให้ประเทศในอียูตามติดการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นอย่าไป วิตกว่า "ลุงโจ" ไม่มาแล้วการประชุมเอเปกจะเดินไปไม่ได้

ที่ "ลุงโจ" ไม่มาก็ต้องเข้าใจเหตุผลของเขา

นอกจากไปร่วมงานแต่งหลานสาว ตามธรรมเนียมอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวแล้ว  ช่วงเวลาการประชุมเอเปกยังคาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ อีกด้วย

ประการสำคัญคือ คะแนนเสียงของ "ลุงโจ" ขณะนี้ดิ่งเหวจนน่าหวาดเสียวแทน

พรรครีพับลิกันจะแย่เอานะ

ผลพวงจากการคว่ำบาตรรัสเซีย มันย้อนกลับไปหา สหรัฐฯ และ ยุโรป เศรษฐกิจพังพินาศกันทั่วหน้า ส่วนรัสเซีย ตอนนี้นั่งบีบสิว ดูความฉิบหายประเทศคู่รักคู่แค้น

เอาเข้าจริงคนรัสเซียไม่ได้รับผลกระทบสักเท่าไหร่  วันสองวันนี้ถึงได้มีข่าวนักท่องเที่ยวจากรัสเซียแห่กันบินเข้าไทยแล้ว

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถานการณ์ในประเทศ วิพากษ์วิจารณ์กันไปเรื่อยเปื่อยว่าหาก "ลุงตู่" ไม่ได้ไปต่อ  เพราะตกม้าตายเรื่อง นายกฯ ๘ ปี ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกแทน

สุดท้ายมันก็ผ่านไป

สถานการณ์ทางการเมืองนับแต่วันนี้ถึงการประชุมเอเปกราบรื่นครับ ใครป่วนให้รัฐบาลพังจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ร้ายทำลายชาติทันที

หลังเอเปก ก็วิเคราะห์กันแล้วอาจยุบสภาวันที่ ๒๔  ธันวาคม เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายในการย้ายพรรคของ ส.ส. คำนวณตามเงื่อนไขย้ายพรรคก่อน ๙๐ วันกรณีสภาอยู่ครบวาระคือวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖

หากเลย ๒๔ ธันวาคม ใครไม่ย้ายพรรคก็แสดงว่าอยู่พรรคเดิม

หากว่ากันตามเงื่อนไขนี้ การยุบสภาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแห่ลาออก จนกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

"ลุงตู่" ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยุบสภา ลาออก

แต่เสียงฝ่ายค้านอยากให้ยุบสภามากกว่า เพราะอยู่ในช่วงปั่นกระแสแลนด์สไลด์

สรุปปีนี้ "ลุงตู่" ยังอยู่เป็นนายกฯ แน่นอน ถ้ายุบสภา  ๒๔ ธันวาคม ก็ยังเป็นนายกฯ รักษาการ

วันหยุดยาวช่วงปีใหม่นี้ คนไทยจะกลับมาเฉลิมฉลองได้เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม หลังต้องหยุดไปเพราะโควิด

ส่วนปีหน้าได้เลือกตั้งแน่

จะเป็นต้นปีหรือกลางปีเท่านั้นเอง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง