รถไฟฟ้ามาหา'ชัชชาติ'

ไม่ใช่เรื่องรถไฟชนกันครับ

แต่เป็นเรื่องรถไฟฟ้าทับขา "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ"

ไม่ขาด แต่ห้อยรุ่งริ่ง

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประชาชนต้องจดจำไว้เป็นบทเรียนว่า เวลานักการเมืองหาเสียง อย่าเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์

เพราะถึงคราวลงมือปฏิบัติ จะได้ไม่ถึงครึ่งที่หาเสียง

หรือทำไม่ได้เลย

เมื่อคราวหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" พูดถึงการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าเป็น ๑ ใน ๔ ปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องเริ่มทันทีหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.

แล้วก็เป็นตามที่หาเสียงจริงๆ วันแรกของการรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ หารือกับทีมรองผู้ว่าฯ กทม. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) รวมไปถึงทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ถึงทางแก้ปัญหาและหนี้ที่ กทม.ต้องแบกรับ

หลังหารือ "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" แถลงข่าวให้คนกรุงได้ปลาบปลื้ม

คือวิธีการทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง ประชาชนสามารถเดินทางในราคาค่าโดยสาร ๒๕ บาทตลอดสาย

ในวันนั้น "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" บอกว่าเบื้องต้นต้องนำเอาปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวมาไล่เรียงกันและเล่าสู่ประชาชนฟัง โดยเอาปัญหาทุกอย่างมาคลี่ออก เพื่อหาทางออกกันว่าทำอย่างไรให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาถูกลง

มีอะไรบ้าง?

 “หนี้” ที่ กทม.ต้องแบกรับรวมๆ แล้วกว่า ๑.๒ แสนล้านบาท

แยกหนี้ออกเป็น ๓ ก้อน ดังนี้

ก้อนแรก ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน ๒.๓ หมื่นล้านบาท และส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประมาณ ๔ หมื่นล้านบาท

รวม ๖.๓ หมื่นล้านบาท

หากรวมดอกเบี้ยที่ไม่จ่ายไปจนถึงปี ๒๕๗๒ ประมาณ ๗ หมื่นล้านบาท

โดยเจ้าหนี้ คือ กระทรวงการคลัง

หนี้ก้อนที่ ๒ คือ ค่าซื้องานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ๒.๔ หมื่นล้านบาท

เจ้าหนี้ คือ บีทีเอส มีกำหนดชำระภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ หากรวมดอกเบี้ยคาดว่าในปี ๒๕๗๒ จะมียอดหนี้รวม ๓ หมื่นล้านบาท

และหนี้ก้อนที่ ๓ คือ ค่าจ้างบีทีเอสในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น ๑.๒ หมื่นล้านบาท

หนี้ทั้ง ๓ ก้อน คาดว่าในปี ๒๕๗๒ กทม.จะแบกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน ๑๒๑,๓๓๓ ล้านบาท

ถึงตรงนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รู้ปัญหาหมดแล้ว

วิธีแก้ไขล่ะ

ไอเดียของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ...

นี่คือหนี้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ฉะนั้นจะเจรจากับรัฐบาลว่าสามารถโอนหนี้ส่วนดังกล่าวคืนได้หรือไม่

เหตุผลคือเนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นๆ รัฐบาลจะรับผิดชอบ จึงเห็นว่าในส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว รัฐบาลก็ควรจะต้องรับผิดชอบเช่นกัน

ฉะนั้นหากเป็นไปตามแผน ราคาค่าโดยสารลดลงมาได้ถึง ๒๕ บาท

มาถึงสิ่งที่ "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ทำ

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ไปขอความเห็นสภา กทม. เหตุผลคืออยากให้ทางสภา กทม.มีความเห็นด้วย เพราะต้องใช้งบประมาณจ่ายค่าส่วนต่างค่าเดินรถ

 “เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุย จะได้ทำอนาคตให้ถูก เป็นเหตุผลตามระบอบประชาธิปไตย ทางฝ่ายบริหารต้องรับฟัง ซึ่งถ้าสภา กทม.ไม่อนุมัติงบประมาณจ่ายส่วนต่อขยายที่ ๒ ให้ จากนี้ไปก็ต้องทำเป็นสัญญาให้ถูกต้องตามขั้นตอน"

มันคือการโยนให้สภา กทม.เป็นผู้ตัดสินใจ!

ผลของการคุยกันในสภา กทม.คือ ส.ก.ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภา กทม.

สุดท้ายนำไปสู่การวอล์กเอาต์

ญัตติที่เสนอโดย ผู้ว่าฯ กทม. ก็ตกไป!

เริ่มจะมองเห็นแนวทางแก้ปัญหาของ "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ใช้วิธีค่อนข้างง่ายคือ ปัดให้พ้น

ก็เหมือนกรณีไฟฟ้าสายสีเทาและสายสีเงิน ตามแผนงานที่ กทม.ต้องลงทุน 

ปัดให้ รฟม.ลงทุน ด้วยข้ออ้างโครงการบางส่วนอยู่นอกพื้นที่ กทม. และตัดกับรถไฟฟ้าหลายสาย เกรงต้องเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

น่าตกใจกับวิธีคิดแบบนี้

เพราะค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในปัจจุบัน ควรต้องหาทางออกให้ได้ มันคือปัญหาที่ต้องแก้ ไม่ใช่ต้องหนี หรือปัดให้พ้นตัว

ผู้ว่าฯ ที่คนกรุงเลือกด้วยคะแนน ๑.๓ ล้านเสียง ต้องใช้จุดแข็งนี้ให้เป็นประโยชน์ 

ไม่ใช่มีไว้โม้อย่างเดียว

ณ ตอนนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ๑.๓ ล้านเสียงของเรายังคิดไม่ออกครับว่าเรื่องรถไฟฟ้าจะเดินไงต่อ

หากไล่เรียงตั้งแต่ตอนหาเสียง วันนี้ยังเท่ากับศูนย์ครับ

เดินมาถึงทางตัน!

แต่ก็ไม่ถึงกับตันเสียทีเดียว

เพราะหลังจาก กทม.มีผู้ว่าฯ คนใหม่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.๑ มีหนังสือลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ถึงผู้ว่าฯ กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอ ครม.ต่อไป

เหตุผลเพราะผู้ว่าฯ กทม.มีหนังสือถึง มท.๑ ขอความเห็นชอบให้ขยายสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา ๓๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๗๒-๒๖๐๒

โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม.มีอยู่กับ BTSC และ รฟม.

พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า ๒ แสนล้านบาท

และกำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา ๑๕-๖๕ บาท

แต่แนวทางนี้ก็ถูกค้านจากเอ็นจีโอ และนักวิชาการ มองว่าประชาชนเสียประโยชน์ เอกชนรับทรัพย์

ก็ยังไม่ทราบครับว่าจะจบอย่างไร แต่หากไม่จัดการอะไร หนี้ กทม.ก็พอกขึ้นเรื่อยๆ

ประชาชนเลือกนักการเมืองมาเพื่อให้แก้ปัญหา

ถ้าแก้ไม่ได้ก็บอกประชาชนไปตรงๆ

การซื้อเวลาโยนปัญหาไปเรื่อยๆ ไม่ควรอยู่ในวิสัย

"ชัชชาติ" เป็นผู้ว่าฯ กทม.ร่วมครึ่งปีแล้ว เหลือเวลาอีกแค่ ๓ ปีครึ่งเท่านั้น ถือว่าไม่มาก ผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มีอะไรบ้าง

ไลฟ์สด เข็นรถ ดนตรีในสวนที่เขาจัดกันมานานแล้ว

ตอนหาเสียง "ชัชชาติ" บอกว่านโยบายสวน ๑๕ นาที ทั่วกรุง ทำได้เลย

เมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. "ชัชชาติ" พานักข่าวไปดู สวนให้สถานี MRT วงศ์สว่าง ๒ ไร่ มูลค่า ๒๐๐ ล้านที่เอกชนยกให้

ไลฟ์สดแข็งขัน จะจัดสวนใหม่ มีทางให้วิ่งออกกำลังกาย ไม่ยากๆๆๆๆ

สภาพวันนี้ยังเป็นพงหญ้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงคิว 'แพทองธาร'

งานงอก! เริ่มต้นจากข้อเขียนของ "คำนูณ สิทธิสมาน" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ มาตรา ๑๗๘

หนึ่งในเหตุวิกฤต

ปล่อยไปไม่ได้ วันก่อน นายกฯ แพทองธาร พูดเรื่อง การจัดการพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำเอาโซเชียลร้อนฉ่า

จ่อคอหอย 'ทักษิณ'

สงสัยกันเยอะพอควร... พรรคเพื่อไทยกับพรรคส้ม ถล่มกันเละในสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มันของจริง หรือทะเลาะทิพย์