เมื่อคนเชื้อสายเอเชียผงาดใน โลกการเมืองตะวันตก!

พอ ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ อังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในวัย 42 ปี

และยังเป็นผู้นำคนแรกของอังกฤษที่ไม่ใช่คนผิวขาวด้วย

ไม่แต่เท่านั้น เขายังเป็นนักการเมืองที่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดของอังกฤษ

และสร้างสถิติใหม่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน หลังจากที่ ลิซ ทรัสส์ นายกฯ คนก่อน ประกาศลาออกหลังเพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาเพียง 44 วัน

แต่ภารกิจที่รออยู่ข้างหน้าหนักหนาสากรรจ์นัก

ความท้าทายมีเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการหาทางปรองดองทางการเมืองภายในประเทศ

ไปจนถึงการหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคอนุรักษนิยมเอง

และที่ประชาชนกำลังรอคอยว่าเขาจะทำงานได้ตามความคาดหวังหรือไม่ในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ซูนัคยอมรับกับรัฐสภาว่า สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญวิกฤตอย่างหนักและรุนแรง

จำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อฟันฝ่าความท้าทายครั้งนี้

"เราจำเป็นต้องมีเสถียรภาพและเอกภาพ" เขาเน้น

แต่คนในพรรคที่ไม่ชอบเขาก็มีคำถามว่า ซูนัคเกิดมาร่ำรวยกว่าใครๆ ในประเทศ จะเข้าใจถึงปัญหาของตาสีตาสาที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเรื่องปากท้องหรือ

อีกบางคนในพรรคก็กังวลว่าเขาจะสามารถนำพรรคให้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้าในปี 2025 ได้หรือไม่

เพราะพรรคกรรมกร (Labour Party) เป็นฝ่ายค้านก็กำลังเรียกร้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน

บททดสอบแรกน่าจะมาอย่างรวดเร็ว เพราะวันที่ 31 ตุลาคมนี้ รัฐมนตรีการคลังคนปัจจุบัน เจเรมี ฮันท์ (ซึ่งซูนัคยังขอให้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อจากรัฐบาลก่อน) จะนำเสนอร่างงบประมาณฉบับใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดหนี้ภาครัฐที่คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นถึง 40,000 ล้านปอนด์

ชีวิตส่วนตัวของซูนัคได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเขาเป็นนายกฯ อังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดียและนับถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด

ครอบครัวของเขามีเชื้อสายปัญจาบจากอินเดีย อพยพมาตั้งรกรากในอังกฤษเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1960 จากอัฟริกาตะวันออกในช่วงที่มีผู้อพยพจำนวนมากจากประเทศในอาณานิคมของอังกฤษเพื่อเริ่มชีวิตใหม่

ซูนัคจบจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ

ที่นั่น เขาพบรักกับภรรยา อัคชาตา มูรตี บุตรสาวของมหาเศรษฐีชาวอินเดีย เอ็น อาร์ นารายณ์ มูรตี ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี อินโฟซิส (Infosys) อันมีชื่อเสียงของอินเดีย

หนังสือพิมพ์ Sunday Times เคยให้ซูนัคและภรรยาอยู่ในรายชื่อบุคคลร่ำรวยระดับต้นๆ ของประเทศ

ประเมินทรัพย์สินรวมกันของทั้ง 2 คน อยู่ที่ 730 ล้านปอนด์ หรือกว่า 5 หมื่นล้านบาท

คนเก่งๆ ที่มีเชื้อสายเอเชียกำลังมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นของประเทศตะวันตก

ความจริงในอังกฤษเองก็มีคนเชื้อสายเอเชียในตำแหน่งนายกเทศมนตรีลอนดอนมาแล้ว

เขาคือ Sadiq Aman Khan ซึ่งมีเชื้อสายปากีสถาน และดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นสมัยที่ 2...โดยเริ่มทำหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองหลวงอังกฤษตั้งแต่ปี 2016

นั่นแปลว่าอังกฤษมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนเชื้อสายอินเดีย และมีนายกเทศมนตรีของลอนดอนเป็นคนเชื้อสายปากีสถาน

แต่ทั้ง 2 คนมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ซูนัคอยู่พรรคอนุรักษนิยิม ข่านอยู่พรรคกรรมกร

ซูนัคนับถือศาสนาฮินดู ข่านเป็นมุสลิมสายสุหนี่

อีกทั้งพื้นภูมิครอบครัวของซาดิก ข่าน แตกต่างกับของซูนัคกันละขั้วของสังคม

เพราะพ่อแม่ของข่านอพยพมาอังกฤษในฐานะที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

ตอนที่อพยพมาอังกฤษใหม่ๆ เมื่อปี 1968 คุณพ่อที่ชื่อมานูลลาห์ ทำงานเป็นคนขับรถโดยสารสาธารณะ ส่วนแม่หารายได้ด้วยการเป็นคนเย็บผ้า

คุณปู่และย่าย้ายจากเมือง Lucknow ใน United Provinces ฝั่งอินเดียไปปากีสถานหลังการแยกประเทศเมื่อปี 1947

ข่านเกิดในอังกฤษ บ้านที่อยู่ตอนเด็กก็เป็นบ้านสวัสดิการ เขาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย North London

“ตอนเด็กๆ ผมเห็นพ่อและแม่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ พอผมโตขึ้นหน่อย ก็หางานทำทันที เริ่มด้วยเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์, ทำงานวันเสาร์ และระหว่างโรงเรียนหยุดหน้าร้อน ผมก็ไปทำงานก่อสร้าง...”

ด้วยความขยันหมั่นเพียรของพ่อแม่และลูกๆ (ทั้งหมด 8 คน เป็นผู้ชาย 7) สามารถหารายได้เพื่อซื้อบ้านของตัวเอง...และยังส่งเงินกลับไปให้ญาติพี่น้องที่บ้านเกิดที่ปากีสถานอีกด้วย

นี่คืออีกตัวอย่างของคนเชื้อสายเอเชียที่ดิ้นรนต่อสู้จนได้ดิบได้ดีจนถึงตำแหน่งการเมืองที่แข่งกับคนผิวขาวเจ้าของบ้านได้

ก่อนหน้านี้ กลมา แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ตำแหน่งสำคัญทางการเมืองระดับนี้

เธอก็มาจากครอบครัวอินเดียที่มีความเคร่งครัดในประเพณี และส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนหนังสืออย่างทุ่มเท พร้อมทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ว่าสีผิวไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการสร้างความก้าวหน้าให้กับตนในประเทศที่มิใช่บ้านเกิดเมืองนอนของตน

ที่เมืองบอสตัน, รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ประชาชนที่นั่นเพิ่งจะเลือกผู้หญิงเชื้อชาติไต้หวันชื่อ Michelle Wu เป็นนายกเทศมนตรี

พ่อแม่ของเธออพยพมาจากไต้หวัน เธอเกิดที่อเมริกาและตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ คือฮาวาร์ด

และเมื่อเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น เธอก็สร้างความโดดเด่นด้วยการพิสูจน์ว่าการเป็นผู้หญิงเชื้อสายเอเชียนั้นไม่ได้เป็นปัญหาของการรับใช้ประชาชนเลย

เมื่อไม่นานมานี้ที่เมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดาก็มีปรากฏการณ์ที่ละม้ายกัน

นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคนใหม่เป็นคนเชื้อสายจีนจากฮ่องกงชื่อ Kevin Sim

เขากลายเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนี้คนแรกที่ไม่ใช่ผิวขาว หากแต่มีความรู้และความสามารถที่เอาชนะคู่แข่งที่เป็นคนผิวขาวอย่างน่าประทับใจ

นี่น่าจะเป็นเพียงคนเชื้อสายเอเชียที่โดดเด่นทางการเมืองในตะวันตกบางประเทศเท่านั้น

ในยุคสมัยที่ทุกอย่างทดสอบกันด้วยฝีมือที่จับต้องได้ การเหยียดผิวและการเย้ยหยันคนต่างเชื้อชาติ, ต่างศาสนา, ต่างเพศ ในโลกตะวันตกจะต้องหมดไป...ไม่ช้าก็เร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ