ความสำคัญของการป้องกันภัยไซเบอร์

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยรายงานผลสำรวจ ซึ่งพบว่า 1 ใน 4 ของบริษัททั่วโลกประสบกับการถูกละเมิดข้อมูล (Data breach) ที่สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 1-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 38-763 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่ ประสบกับภัยคุกคามจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่มากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีที่นำมาใช้

โดยผลสำรวจ 2023 Global Digital Trust Insights ของ PwC ยังพบอีกว่า อัตราร้อยละของการละเมิดข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 หรือ 34% สำหรับบริษัทที่ตอบแบบสำรวจในทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะที่มีเพียง 14% ขององค์กรทั่วโลกที่รายงานว่าไม่พบเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

แม้ว่าการโจมตีทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องจะสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่น้อยกว่า 40% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจบอกว่า พวกเขาได้ดำเนินการลดความเสี่ยงทางไซเบอร์ให้กับหลายจุดสำคัญของธุรกิจอย่างครบถ้วน เช่น การจัดให้มีการทำงานทางไกล หรือแบบไฮบริด (38%) กล่าวว่า มีการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างครบถ้วน ส่วนการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์ที่เพิ่มขึ้น (35%) การใช้งานอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งที่เพิ่มขึ้น (34%) การปรับระบบห่วงโซ่อุปทานสู่ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น (32%) และระบบปฏิบัติการหลังบ้าน (31%)

สำหรับ ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการนั้นความปลอดภัยทางไซเบอร์ของระบบห่วงโซ่อุปทานยังคงเป็นความกังวลหลักที่สำคัญ โดย 90% ของผู้ตอบแบบสำรวจ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถขององค์กรในการต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ 56% แสดงความกังวลเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ 79% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลอาชญากรรมไซเบอร์ผ่านกลไกภาคบังคับที่สามารถเทียบเคียงได้และสม่ำเสมอ ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสีย ขณะที่ 76% กล่าวว่า การเพิ่มการรายงานต่อนักลงทุน จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและระบบนิเวศทั้งหมด ยิ่งไปกว่านี้ ผู้ตอบแบบสำรวจในอัตราร้อยละที่เท่ากันยังเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรนำฐานความรู้จากการเปิดเผยข้อมูลทางไซเบอร์ภาคบังคับมาพัฒนาเทคนิคการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ให้กับภาคเอกชน

แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสำรวจจะสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์ภาคบังคับที่ชัดเจน แต่กลับมีผู้บริหารน้อยกว่าครึ่ง 42% ที่มีความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า องค์กรของตนจะสามารถให้ข้อมูลที่ต้องการเกี่ยวกับเนื้อหาและเหตุการณ์สำคัญภายในระยะเวลาการรายงานที่กำหนด นอกจากนี้องค์กรส่วนใหญ่ยังคงมีความลังเลในการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากเกินไป โดย 70% กล่าวว่า การแบ่งปันข้อมูลสาธารณะมากขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง และนำไปสู่การสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน

ขณะเดียวกันยังพบว่า องค์กรทั่วโลกยังคงเดินหน้าเพิ่มงบลงทุนด้านไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง โดย 69% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ได้เพิ่มงบประมาณด้านไซเบอร์ในปีนี้ ขณะที่ 65% มีแผนที่จะขยายการลงทุนในด้านนี้มากขึ้นในปีหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ถือเป็นภารกิจสำคัญสูงสุดของการวางแผนตั้งรับขององค์กร ทั้งนี้ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจฉบับนี้ยังชี้ด้วยว่า ภัยพิบัติจากการจู่โจมทางไซเบอร์นั้นถูกจัดอันดับให้เป็นภัยคุกคามที่มีความร้ายแรงกว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย หรือวิกฤตสุขภาพ

นายพันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง บริษัท PwC ประเทศไทย ระบุว่า แนวโน้มภัยไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้องค์กรไทยต้องหันมาพิจารณาการลงทุนด้านระบบป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร และผลกระทบด้านการเงิน โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในรูปแบบของอีคอมเมิร์ซ โมบายแบงกิ้ง หรือแม้แต่การทำงานแบบ remote working ซึ่งพบว่าองค์กรส่วนมากมีการเพิ่มงบประมาณด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่าในช่วง 2-3 ปีก่อน แต่การให้ความสำคัญและการลงทุนในการป้องกันนั้นยังคงไม่เพียงพอ และมักจะลงทุนระหว่าง หรือหลังจากเกิดภัยคุกคามดังกล่าวแล้ว.

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสำเร็จของแบรนด์กับการใช้Meta

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากร 700 ล้านคน และมี GDP รวมประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

หวยเกษียณแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการออมของประชาชนในประเทศ

เจ็บแล้วจบ

หลังการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาเดินหน้ามาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

3แผนกรีนดันอุตฯไทยรักษ์โลก

เทรนด์รักษ์โลกยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และตลอดปี 2567 ที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงาน หลายบริษัทก็ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันแรงกล้านี้ และยังแห่ประกาศแผนดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

เร่ง“ปรับ”ก่อน(ถูก)“เปลี่ยน”

ยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เพราะหดตัวลงถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าทั้งปีจะหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

เปิดไม้เด็ดธุรกิจขนาดเล็กสู้ในตลาด

หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจที่มีทุนหนาและมีส่วนแบ่งการตลาดมาก มักจะถูกมองว่าเป็น “ปลาใหญ่” ที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่าซึ่งเปรียบเหมือน “ปลาเล็ก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เห็นชัดที่สุดคือ การมี Economy of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าหรือบริการในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง พูดง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนการผลิตยิ่งลดลง และยิ่งคุ้มค่ามากขึ้น” โดยต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการจะแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) และต้นทุนผันแปร (variable cost) ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเป็นจำนวนคงที่ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าใดก็ตาม เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่วนต้นทุนผันแปร