ลากยาวเป็นมหากาพย์แน่นอน สำหรับการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่อย่าง 'ทรู-ดีแทค' เนื่องจากเป็นดีลประวัติศาสตร์ และมีหลายฝ่ายจับตาเฝ้ามอง โดยเฉพาะประเด็นทางด้านการแข่งขันทางการค้า และราคาการให้บริการในอนาคต ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ดีลนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แถมยังส่งผลเสียด้วยซ้ำ
เรื่องนี้ล้วนกดดันไปยังตัวคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช.) ซึ่งเพิ่งมีมติรับทราบการควบรวมตามประกาศปี 2561 แบบไม่เป็นเอกฉันท์ และใช้มติที่ประชุมเสียงข้างมาก ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 โดยประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ดังนั้น มติรับทราบดังกล่าวถูกตั้งคำถามมากมายว่า เป็นการกระทำที่เอื้อไปยังกลุ่มทุนมากกว่าการคุ้มครองประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบออกมาแล้ว กระบวนการก็ต้องมีการเดินหน้า แต่ทั้งนี้เพื่อกู้ภาพลักษณ์ของ กสทช.ให้กลับมาในฐานะผู้ดูแลประชาชนแล้ว
ทาง กสทช.ก็จะต้องทำงานและวางเงื่อนไขอย่างเข้มงวด เพื่อลดข้อครหาที่สังคมตั้งขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ กสทช.ได้วางเงื่อนไข สรุปคร่าวๆ ดังนี้
1.ห้ามทั้งสองค่ายรวมแบรนด์เข้าด้วยกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถือเป็นมาตรการที่คงทางเลือกของผู้บริโภคให้มีเวลาตัดสินใจ และทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเห็นผลกระทบของการควบรวมธุรกิจและมีข้อมูลในการตัดสินใจใช้บริการต่อไป
2.มาตรการการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่กำหนดให้ทั้งสองค่ายเปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ได้เช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมที่ทั้งสองมีอยู่ และต้องห้ามปฏิเสธการเช่าใช้บริการ รวมทั้งต้องจัดหน่วยธุรกิจเฉพาะเพื่อให้บริการ MVNO โดยตรง ซึ่งต้องให้บริการได้ทันทีหลังรวมธุรกิจ มาตรการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ MVNO รายเล็กในตลาดมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และเป็นทางเลือกมากขึ้นให้กับผู้บริโภค
3.มาตรการเรื่องเพดานราคา ที่กำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย และการกำหนดราคาค่าบริการโดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ พร้อมทั้งต้องส่งโครงสร้างราคาค่าเฉลี่ยให้ กสทช.รับทราบทุก 3 เดือน และบังคับรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาที่ กสทช.จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเรื่องโครงสร้างต้นทุน
ทั้ง 3 ข้อถือว่าอยู่ในขอบข่ายในอำนาจที่ทาง กสทช.กำกับดูแลได้
ดังนั้น การควบรวมที่สุดท้ายจะเหลือเพียงแบรนด์เดียวนั้น จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่หลายฝ่ายกังวล อย่างไรซะ 3 ปีนี้ยังคงมีแบรนด์ทรูและดีแทคในตลาด แต่โครงสร้างราคาให้บริการจะเป็นอย่างไรและมีการแข่งขันกันจริงแค่ไหน ก็คงต้องฝากงานให้ กสทช.ต้องดูแล และทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป
โดยในมุมมองของ รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่แสดงความเห็นในกรณีนี้ก็ค่อนข้างชัดว่า มาตรการที่ กสทช.บังคับออกมานั้น เป็นมาตรการที่เข้มข้นและมีรายละเอียดที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมาเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่น่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งสองค่ายค่อนข้างมาก เพราะทำให้มีผลกับแผนการทำการตลาด การบริหารต้นทุน และเสียโอกาสในการนำจุดแข็งของทั้งสองค่ายมารวมกัน
ดังนั้น เชื่อว่าจากนี้คงจะเห็นทั้งทรูและดีแทคต้องพลิกตำราในการปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่ทีเดียว ขณะที่ประชาชนในฐานะลูกค้าก็ต้องทำการศึกษาให้รอบคอบก่อนว่า ใช้บริการอย่างไรให้คุ้มค่ากับเงินที่้เสียไปมากที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ