เสียงจากแอฟริกาถึงชาติร่ำรวย

แอฟริกาเป็นหนึ่งในทวีปที่มีแหล่งพลังงานฟอสซิลสำรองในปริมาณมหาศาล พวกเขาต้องการนำไปใช้แก้ปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ไว้วางใจไม่ค่อยได้ในหลายพื้นที่ แต่สถานการณ์โลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แอฟริกาถูกกดดันให้ตัดหรือลดปริมาณการเผาไหม้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงไปจากเดิม

“ตอนที่พวกเขาบอกว่า ‘ตัด’ กับแอฟริกา พวกเขาต้องการ ‘ตัด’ อะไร ไม่มีอะไรให้ตัดที่นี่ ชาวแอฟริกันคือผู้รับผลกระทบจากปัญหาที่ก่อโดยผู้อื่น ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากควรต้องรับผิดชอบในการตัดหรือลด คำนึงถึงการกระทำในอดีตกันบ้างสิ” คือคำพูดของ “ติตัส เกวเมนเด” ผู้อำนวยการด้านสภาพภูมิอากาศของ Open Society Foundation ประจำซิบบับเว

นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในอังกฤษเมื่อประมาณ 270 ปีก่อน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ยุโรปรับช่วงปล่อยก๊าซต่ออย่างแข็งขัน จากนั้นตามด้วยสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลจาก Our World in Data แสดงให้เห็นว่าจนถึงปัจจุบันสหรัฐปล่อยคาร์บอนสะสม 1 ใน 4 หรือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก โดยสหรัฐมีประชากรราว 330 ล้านคน คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก จีนปล่อยคาร์บอนสะสมน้อยกว่าสหรัฐครึ่งหนึ่ง แต่มีประชากรมากกว่าสหรัฐเกิน 4 เท่า ขณะที่แอฟริกาทั้งทวีปปล่อยคาร์บอนน้อยมากเมื่อเทียบต่อหัวประชากร ทั้งการปล่อยก๊าซในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและการปล่อยก๊าซสะสม โดยแอฟริกาเริ่มปล่อยคาร์บอนเปอร์เซ็นต์แรกออกมาเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนนี้เอง

ตารางจาก Our World in Data เปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละภูมิภาคของโลกตามช่วงปีต่างๆ

แอฟริกาใต้ปล่อยคาร์บอนสะสม 3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก โดยมีประชากร 1,383 ล้านคน หรือประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ของโลก เป็นสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับสหรัฐ ยุโรป หรือแม้แต่จีน ทั้งในเกณฑ์การนับต่อหัวประชากรและเมื่อเทียบกันภูมิภาคต่อภูมิภาค

ข้อเสนอและมติต่างๆ ในการประชุมว่าด้วยเรื่องโลกร้อนแต่ละเวทีที่ออกมาในแนวทางการ “ตัด” รวมถึง “เลิก” การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเสมอภาคทุกประเทศทั่วโลก ทำให้แอฟริกาไม่ค่อยสบอารมณ์มากนัก ประมาณว่าฉันเพิ่งขุดขึ้นมาใช้เมื่อไม่กี่วันก่อน พวกนายเผามาเป็นร้อยปี แล้วบอกให้เลิกพร้อมๆ กัน มันก็ยุติธรรมเฉพาะแต่กับพวกนายน่ะสิ

การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดอย่างทันทีถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการเอาชนะปัญหาโลกร้อน แต่สำหรับชาติรายได้ต่ำ โดยเฉพาะหลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมากและยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะออกอาการเสียดายและน้อยอกน้อยใจในเวลาเดียวกัน

น้ำมันดิบสำรองในทวีปแอฟริกา จำนวน 11 ประเทศ โดยเฉพาะลิเบียและไนจีเรีย สำรวจพบแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาร์เรล นอกจากนี้หลายประเทศยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ แค่ไนจีเรีย แอลจีเรีย และโมซัมบิกรวมกันก็มีถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของโลก

ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่หรือเซอร์ไพรส์ของการประชุมคือ การจับมือกันของจีนและสหรัฐในการแก้ปัญหาโลกร้อน จนไม่แน่ใจว่าเสียงเล็กๆ จากแอฟริกาที่เปล่งออกมาในการประชุมจะมีผู้คนได้ยินมากน้อยเพียงใด

เป็นครั้งแรกที่ผู้นำชาติแอฟริกาและนักเคลื่อนไหวจากภูมิภาคนี้ร่วมกันคัดค้านการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วกะทันหันในประเทศของพวกเขา โดยเรียกร้องว่าการเปลี่ยนผ่านควรค่อยเป็นค่อยไป เพราะพวกเขาจะยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่แม้จะมีส่วนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังสะอาดกว่าถ่านหินและน้ำมัน

แน่นอนว่าการเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไม่ค่อยถูกที่ถูกเวลา เพราะปีนี้เป็นปีที่มีรายงานผลการศึกษาวิจัยออกมาหลายชิ้นพร้อมๆ กัน ชี้ชัดว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลคือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างผิดปกติในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

งานศึกษาวิจัยทั้งหลายแสดงให้เห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด หากยังต้องการปกป้องโลกไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ในความตกลงปารีส ค.ศ.2015 ซึ่งหากอุณหภูมิสูงข้ามเส้นแบ่ง 1.5 องศานี้ไป โลกจะต้องประสบกับนานาภัยพิบัติ ทั้งคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ สภาวะอากาศสุดโต่ง ระบบนิเวศพังพินาศ

การไปให้ถึงเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ บรรดานักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าชาติแอฟริกาควรจะได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากประเทศร่ำรวย พร้อมๆ ไปกับการหาหนทางลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วควรถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้กับแอฟริกา

การกดดันให้แอฟริกาเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเร็วเกินไปเปรียบได้กับการที่ประเทศร่ำรวยใช้บันไดปีนกำแพง และพอชาติกำลังพัฒนาจะขอปีนกำแพงบ้าง ประเทศร่ำรวยก็ยกบันไดหนี

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งการพัฒนาทั้งหลาย และบรรดาชาติร่ำรวยต่างทยอยถอนการสนับสนุนโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกจากทวีปแอฟริกา เมื่อปี ค.ศ.2017 ธนาคารโลกตัดงบสนับสนุนในหลายโครงการ และหันมาลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

ในการประชุมที่กลาสโกว์ ชาติร่ำรวยอย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเดนมาร์ก ได้ประกาศยุติการใช้จ่ายเงินในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างแดน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2022 และล่าสุด “บีพี” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากสหราชอาณาจักรก็กำลังลดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแอฟริกาลงเรื่อยๆ

เยมิ โอซินบาโจ รองประธานาธิบดีไนจีเรีย เขียนบทความลงในนิตยสาร Foreign Affair ก่อนการประชุม COP26 ว่า “...ความพยายามในการจำกัดการลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในแอฟริกายิ่งจะส่งผลต่อปากท้องของเรา…”

และ “...ไนจีเรียพึ่งพาก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า และพึ่งพาน้ำมันดิบสำหรับรายได้เข้าสู่ประเทศ การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนไม่ควรดำเนินการแค่หยุดโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลเสียทั้งหมด แต่ควรสนับสนุนเงินทุนให้พวกเราด้วย...”

แม้แอฟริกาจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นสัดส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับทั้งโลก แต่กลับได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างหนักหน่วงกว่าที่อื่น ทวีปนี้กำลังประสบกับอุณหภูมิของอากาศที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับน้ำทะเล

บางพื้นที่ในแอฟริกาตะวันออกไม่มีฝนตกมาเป็นเวลาหลายปี ภูมิภาคซาเฮลทางแอฟริกาตะวันตกเกิดปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะผลผลิตพืชผักลดลงอย่างมาก หลายครอบครัวในมาดากัสการ์ต้องนำต้นกระบองเพชรมาต้มกิน กลายเป็นที่แรกของโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกว่าเป็นความอดอยากที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันแอฟริกามีประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคน ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเป็นจำนวนประชากรเทียบเท่ากับทุกประเทศในสหภาพยุโรปรวมกันเลยทีเดียว ปัญหาเกิดจากการขาดความสามารถในการผลิตพลังงาน ขาดความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และการคอร์รัปชันที่ยังแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม “สหภาพแอฟริกัน” มีแผนที่จะพึ่งพาการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักภายในปี ค.ศ.2050 ทว่าไม่กี่ประเทศในกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอ อาทิ แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย และโมร็อกโก

เงินและเวลา คือสิ่งที่ผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกาบอกอย่างพร้อมเพรียงว่าพวกเขาต้องการมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดจะสูงแล้ว แอฟริกายังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่สูงอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อาหาร และการศึกษา

ในการประชุม COP26 สหราชอาณาจักรและชาติร่ำรวยอีกจำนวนหนึ่งได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินทุนแก่แอฟริกาหลายพันล้านเหรียญ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด

แต่คำมั่นดังกล่าวดูจะไม่ทำให้แอฟริกาตื่นเต้นเท่าใดนัก เพราะประเทศเหล่านี้เคยให้สัญญามาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มักไม่ปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างในปี ค.ศ.2009 พวกเขาบอกจะให้เงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาปีละ 1 แสนล้านเหรียญฯ แต่เงินเหล่านั้นเดินทางมาอย่างกะปริดกะปรอย ห่างไกลจากที่คุยกันไว้

หน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติประเมินว่า แค่ค่าใช้จ่ายในการปรับตัวและรับมือกับภัยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ อาทิ น้ำท่วมและภัยแล้งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ตกปีละ 70,000 ล้านเหรียญฯ เข้าไปแล้ว และจะเพิ่มขึ้นไปอีกราว 140,000-300,000 ล้านเหรียญฯ ในปี ค.ศ.2030 และประมาณ 205,000-500,000 ล้านเหรียญฯ ในปี ค.ศ.2050

อีกปัญหาที่จะเกิดกับแอฟริกา โดยเฉพาะภูมิภาค “ซับ-ซาฮารา” ก็คือการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว โดยประชากรในเขตเมืองเพิ่มจำนวนในอัตราส่วนที่มากที่สุดในโลก และคาดว่าภายในปี ค.ศ.2050 ไนจีเรียจะมีประชากรแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นไปอยู่อันดับ 3 ของโลก แน่นอนว่าประชากรใหม่เหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงานอีกมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาดหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ตาม

สรุปใจความสำคัญของสารจากผู้นำชาติแอฟริกาที่ส่งไปยังการประชุมในกลาสโกว์ก็คือ ทวีปนี้ควรมีสิทธิ์ในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล อันเป็นส่วนหนึ่งของระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยขอให้บรรดาผู้นำโลกนึกถึงสภาพความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ และสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ชาติร่ำรวยช่วยยื่นบันไดให้แอฟริกาปีนขึ้นไปก่อนจะได้ไหม.

 

ที่มา

- ourworldindata.org/contributed-most-global-co2

- nytimes.com/2021/11/09/climate/africa-fossil-fuel-gas-cop26.html

- foreignaffairs.com/articles/africa/2021-08-31/divestment-delusion

- unep.org/news-and-stories/press-release/step-climate-change-adaptation-or-face-serious-human-and-economic

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย

กลัวสมัครใจ 'ขาลอย'!

ไม่รู้ "ตั้งใจ" หรือ "บังเอิญ" การมอบนโยบายการบริหารราชการที่ ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ แม่ทัพใหญ่สีกากี เรียกประชุมมอบนโยบายการบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ลัคนากันย์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568

ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการทำตามความฝันและเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางชีวิต ตลอดทั้งปีเจอเรื่องแสบ-เศร้าแทรกในชีวิตสองช่วง แต่ไม่เกินกำลังรับมือ แถมสู้กลับแล้วได้อะไรดีๆ

Nationalism Patriotism and Treason ชาตินิยม รักชาติ และขายชาติ

วันนี้ขอจั่วหัวด้วยภาษาอังกฤษ 3 คำที่มีความสำคัญกับประเทศไทยของเราเป็นอย่างมากในเวลานี้ แต่ก็ได้ให้คำแปลภาษาไทยไว้ด้วยแล้ว คำว่า Nationalism