จากเมืองชาสโคมุสเข้ากรุงบัวโนสไอเรส ระยะทาง 130 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดย 1.รถไฟที่สถานีชาสโคมุสซึ่งอยู่นอกตัวเมือง 2.รถบัสที่จุดจอดรถบัสหน้าสถานีรถไฟ และ 3.รถบัสของบริษัท Ricchieri ในเขตตัวเมือง
เนื่องจากถูกคนลาวห้ามไม่ให้เดินทางโดยรถไฟ เพราะเกรงอันตรายจากโจรรถไฟ และแม้ว่าระยะทางจากวัดหลวงอาร์เจนตินาถึงจุดจอดรถบัสนอกตัวเมืองกับบริษัท Ricchieri ห่างเท่าๆ กันประมาณ 2.5 กิโลเมตร ผมเลือกอย่างหลัง เพราะมีประสบการณ์ไม่ดีกับอย่างแรกมาแล้ว
ในการเดินทางมาชาสโคมุสครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น ผมถูกคนยกกระเป๋าใส่ใต้ท้องรถบัสของบริษัท Condor Estrella ที่สถานีขนส่งกลาง Retiro กรุงบัวโนสไอเรส เรียกเก็บเงินค่ายกกระเป๋าใบละ 400 เปโซ เพียงแค่ยกเข้าไปวางง่ายๆ วันนั้นมีกระเป๋าของผมและของพระสงฆ์ 2 รูป รวม 4 ใบ ผมต้องจ่าย 1,600 เปโซ หรือประมาณ 300 บาท มากกว่าค่าตั๋ว 1 ใบเกือบ 2 เท่า ผมเดินไปฟ้องคนขับ เขายักไหล่กลับมา
ตอนที่ผมพาพระคุณเจ้าทั้ง 2 ท่านไปทัศนาน้ำตกอีกวาซู โดยต้องไปขึ้นเครื่องบินในกรุงบัวโนสไอเรสนั้น ผมใช้บริการรถบัสบริษัท Ricchieri มีกระเป๋าใส่ใต้ท้องรถ ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกกระเป๋าแต่อย่างใด
รถเที่ยว 10.15 น. วันที่ 8 กรกฎาคม บริษัทใช้รถมินิบัส ผู้โดยสารเกือบเต็ม ครึ่งหนึ่งสวมหน้ากากอนามัย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผมก็สวมเช่นกัน เป็นเวลานานกว่า 6 เดือนแล้วหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (ซิโนแวค 2+แอสตร้าฯ 1) จึงยังต้องระมัดระวังตัว แม้หลายครั้งจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลยเพราะสถานการณ์พาไป
การระบาดของโควิด-19 ในอาร์เจนตินาจนถึงปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อรวมเกือบ 10 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 130,000 คน ถือว่าหนักหนาพอสมควร เพราะประชากรมีเพียง 46 ล้านคนเท่านั้น เคยล็อกดาวน์กันในระดับที่การเดินทางระหว่างรัฐเป็นเรื่องต้องห้ามนานหลายเดือน ตอนมกราคมที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1 แสนต้นๆ ตอนนี้ (เดือนกรกฎาคม) เหลือวันละประมาณ 5 พันคน
รถวิ่ง 2 ชั่วโมงถึงเทอร์มินัลมาเดโร ในย่าน “ปวยโตมาเดโร” ผมลงจากรถแล้วเดินไปทางทิศตะวันตก เริ่มจากถนน Corrientes เดินไปได้ 350 เมตรถนนเปลี่ยนชื่อเป็น Florida หากเดินตรงไปอีก 700 เมตรก็ถึงเสาหินโอเบลิสโก (Obelisco) สูง 67.5 เมตร ตำแหน่งใจกลางเมืองที่สุดของกรุงบัวโนสไอเรส เราจะมองเห็นเสานี้ตั้งแต่ไกลจากถนน 6 เส้น นอกจาก 4 ทิศที่มุ่งตรงไปยังเสาหินแล้ว ยังมีอีก 2 ทิศ จาก 1 เส้นทแยงมุม เสามีลักษณะคล้ายเสาหินอียิปต์ในกรุงปารีส (โอเบลิสก์ เดอ ลุกซอร์) แต่ผมยังไม่เดินตรงไปยังเสาโอเบลิสโก เลี้ยวขวาเข้าถนน San Martin เลี้ยวขวาอีกทีสู่ถนน Lavalle เพื่อหาที่พัก
ขออนุญาตกล่าวถึง “บัวโนสไอเรส” หน่อยนึงนะครับ คำนี้มีความหมายตามตัวว่า “อากาศดี” มาจาก Our Lady of Buen Ayre หรือพระแม่มารีที่อำนวยลมดีแก่นักสำรวจ ช่วยให้เดินเรือมาถึงดินแดนแถบนี้ได้อย่างปลอดภัย ก่อนหน้านี้ผมเรียก “กรุงบัวโนสไอเรส” ในฐานะเมืองหลวงของอาร์เจนตินา และ “จังหวัดบัวโนสไอเรส” ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ในภาษาอังกฤษใช้ Province และภาษาสเปนใช้ Provincia ผมจึงเรียกว่า “จังหวัด” แต่เมื่อทำความเข้าใจแล้ว คำว่า “รัฐ” ดูจะเหมาะกว่า เพราะในอดีตนั้นอาร์เจนตินาเคยขัดแย้งกันอย่างหนัก ระหว่างฝ่ายที่ต้องการเป็นรัฐเดี่ยวและฝ่ายสหพันธรัฐที่ต้องการอำนาจปกครองตนเองของแต่ละ Provincia โดยนัยนี้ คำว่า Provincia de Buenos Aires จึงควรหมายถึง “รัฐบัวโนสไอเรส”
สำหรับบัวโนสไอเรสยังมีความแปลกอยู่อีกประการหนึ่งตรงที่เมืองหลวงของรัฐบัวโนสไอเรส ไม่ใช่กรุงบัวโนสไอเรส แต่กลับไปอยู่ที่เมืองลาปลาตา (La Plata) ห่างจากกรุงบัวโนสไอเรสไปทางใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร
สองสามวันก่อนที่ผมจะเข้ามายังกรุงบัวโนสไอเรส ได้พยายามจองห้องพักทางออนไลน์เอเยนซีมาก่อนแล้ว แต่ห้องพักทำเลดีๆ และราคาที่เหมาะสมกับจำนวนเงินในกระเป๋านั้นเต็มแทบทุกที่ ระหว่างอยู่บนรถบัสก็พยายามตลอด 2 ชั่วโมง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และบางช่วงไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงต้องมาเดินหา วอล์กอินเข้าไปสอบถาม
มีโรงแรมแห่งหนึ่งบนถนน Lavalle มีห้องว่าง ทว่าราคานั้นสูงกว่าปกติเกือบ 3 เท่า โฮสเทลใกล้ๆ กันสองสามแห่งเต็มทุกเตียง วันนี้เหมือนใครๆ ก็พากันมายังกรุงบัวโนสไอเรส เพราะพรุ่งนี้คือ 9 de Julio “วันที่ 9 กรกฎาคม” วันชาติอาร์เจนตินา แถมยังตรงกับช่วงสุดสัปดาห์ ผมนั่งในล็อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อใช้เวลาหาที่พักในออนไลน์เอเยนซี ที่พักทยอยเต็มไปแทบจะรายนาที ที่ไม่เต็มก็อยู่ชานเมืองหรือไม่ก็ย่านหรูราคาแพง
สุดท้ายพบกับข้อเสนอที่รับได้จากโรงแรมบนถนน Avenida De Mayo ตั้งอยู่ไม่ห่างจากอาคารรัฐสภา กดจองทันทีเพราะกลัวจะเต็มเสียก่อน ผมอยากจะใช้บริการรถไฟใต้ดิน แต่ไม่มีที่จำหน่ายบัตรโดยสาร มีแต่ที่เติมเงินใส่บัตรโดยสาร จึงต้องเดินเกือบ 2 กิโลเมตร ผ่านเสาโอเบลิสโก ไปยังที่พัก Gran Hotel Vedra
ใกล้ๆ โรงแรมมีร้านอาหารแบบ Comida para peso หรือบุฟเฟต์แบบชั่งน้ำหนัก คนจีนเป็นเจ้าของ และเท่าที่เห็นในอาร์เจนตินา เจ้าของร้านอาหารประเภทนี้ล้วนเป็นคนจีน ผมชอบร้านแบบนี้ ถึงแม้จะไม่ปรุงสุกใหม่ไปเสียทุกอย่าง แต่มีการอุ่นร้อนอยู่ตลอด กะปริมาณได้เอง นอกจากนี้ยังเป็นอาหารออกมาทางเอเชียตะวันออกจึงไม่มีปัญหาเรื่องรสชาติ คล่องตัวสำหรับผู้ที่เดินทางคนเดียว หิวตอนไหนกินได้ทันที แถมราคาก็ถูก ขายขีดละร้อยกว่าเปโซ ถูกพอๆ กับข้าวราดแกงบ้านเรา แต่ถ้าอยู่ในย่านการค้าหลักๆ ราคาอาจเพิ่มได้ถึง 3 เท่า
เมนูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าว เนื้อสัตว์ สลัด และอะไรก็ตาม ราคาต่อน้ำหนักเท่ากันหมด สตรีชาวจีนนั่งประจำตาชั่ง เธอดูว่าผมตักอาหารใส่จานแบบไหน เธอก็เอาจานเปล่าแบบเดียวกันชั่งกิโลก่อน จากนั้นชั่งจานที่มีอาหารของผม เอาไปลบกันเท่ากับน้ำหนักที่ผมต้องจ่าย ส่วนเครื่องดื่มต้องสั่งแยก ผมเห็นเบียร์ Brahma ในตู้แช่ จึงสั่งมาเป็นเครื่องดื่ม 1 กระป๋อง
เธอถามว่า De donde eres? ผมตอบ “ไทยแลนด์” เธอทำหน้างง ผมพูดใหม่ว่า “ไทยแลนเดีย” เธอก็ยังไม่เข้าใจ พอบอก “ไท่กั๋ว” เธอเข้าใจทันที
บ่ายวันนี้ผมงีบเซียสตานานกว่าปกติ อาบน้ำแต่งตัวและหาข้อมูลที่จำเป็นในอินเทอร์เน็ต กว่าจะออกจากโรงแรมก็เกือบค่ำ เดินสำรวจละแวกใกล้เคียง และค่อยๆ มุ่งหน้าไปยังทิศทางอาคารรัฐสภา ถนนหนทางประดับประดาด้วยธงชาติ ตามอาคารร้านค้าก็เช่นกัน
ประวัติสั้นๆ ที่สุดที่พอจะกล่าวได้สำหรับอาร์เจนตินาก็คือ เมื่อจักรวรรดิสเปนเข้ามายึดครองอเมริกาใต้ พวกเขาเรียกดินแดนโลกใหม่นี้ในปี ค.ศ.1542 ว่า Viceroyalty of Peru หรือ “เขตอุปราชแห่งเปรู” ต่อมาแบ่ง New Granada ออกไป ประกอบด้วย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ปานามา และเวเนซุเอลา จากนั้นเรียกดินแดนทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสว่า “เขตอุปราชแห่งรีโอเดลาปลาตา” (Viceroyalty of the Rio de la Plata) ซึ่งก็คืออาร์เจนตินาและอุรุกวัยในปัจจุบัน
เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1810 “รีโอเดลาปลาตา” ปฏิวัติปลดแอกจากจักรวรรดิสเปน เรียกเหตุการณ์นี้ว่า Revolución de Mayo จากนั้นในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1816 ก็ประกาศอิสรภาพอย่างเด็ดขาด แต่จากนั้นประเทศตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมืองอันยาวนานระหว่างฝ่ายรัฐเดี่ยวและฝ่ายสหพันธรัฐ ก่อนที่จะเป็นรัฐเดี่ยวอย่างถาวรเมื่อปี ค.ศ.1862 ในชื่อ “สาธารณรัฐอาร์เจนไตน์” หรือ Argentine Republic ภาษาสเปนใช้ Republica Argentina เรียกสั้นๆ ว่า “อาร์เจนตินา” โดยที่คนอาร์เจนตินาออกเสียงชื่อประเทศของเขาว่า “อา-ร-เคน-ตี้-นา”
ชื่อของประเทศเกี่ยวข้องกับ “เงิน” มาจากตำนานภูเขาที่เต็มไปด้วยเงินซึ่งพวกนักล่าสมบัติบอกต่อๆ กัน และคำว่าอาร์เจนตินามาจากภาษาอิตาเลียน เชื่อว่าน่าจะเป็นนักสำรวจชาวเวนิสและเจนัวที่เป็นใช้เรียกขึ้นก่อน หากเป็นชาวสเปนจะเรียกเงินว่า Plata ดังเช่นชื่อ Rio de la Plata หรือ River Plate ในภาษาอังกฤษ โดยชื่อ “อาร์เจนตินา” ปรากฏในเอกสารทางกฎหมายเป็นครั้งแรกคือรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1826 และเริ่มใช้เป็นชื่อประเทศเมื่อ ค.ศ.1860
สำหรับธงฟ้าขาวอาร์เจนตินา ออกแบบโดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศ นามว่า “มานูเอล เบลกราโน” เมื่อ ค.ศ.1812 และได้เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.1816 กลางผืนธงมีพระอาทิตย์หน้าเหมือนคนแผ่รัศมีออกเป็นเส้นๆ เรียกสัญลักษณ์นี้ว่า Sol de Mayo หรือ “พระอาทิตย์พฤษภาคม” ซึ่งถูกใส่เพิ่มเข้าไปในปี ค.ศ.1818 ความหมายคือการเริ่มต้นปลดแอกจากจักรวรรดิสเปนที่เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม (ค.ศ.1810) ส่วนที่มาของ Sol de Mayo คือ “อินติ” เทพเจ้าดวงอาทิตย์ของชาวอินคา หลังได้รับเอกราช “มานูเอล เบลกราโน” โดยได้รับการการสนับสนุนจาก “โฆเซ เด ซาน มาร์ติน” ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของชาติ เสนอให้มีการนำรัชทายาทของจักรวรรดิอินคาที่ยังมีชีวิตอยู่ขึ้นครองแผ่นดินอาร์เจนตินา เรียกว่า “แผนอินคา” ค.ศ.1816 ทว่าผลักดันไม่สำเร็จ ถูกคณะผู้แทนในที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วย
ถนน Avenida de Mayo สุดทางที่จัตุรัส Plaza Mariano Moreno จากนั้นมีถนน Virrey Cevallos คั่น หลักไมล์สโตน หรือกิโลเมตรที่ 0 สำหรับถนนหลวงทุกสายของอาร์เจนตินาปักอยู่ตรงนี้ ถัดจากถนนคั่นก็มีอีกจัตุรัสชื่อ Plaza del Congreso จากนั้นก็มีถนนคั่นอีกเส้นชื่อ Entre Rios อีกฝั่งของถนน Entre Rios คือ Palacio del Congreso อาคารรัฐสภาอาร์เจนตินา อีกหนึ่งแลนด์มาร์กประจำชาติ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1906 ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนิโอคลาสสิก
เมื่อหันหน้าเข้าหาอาคารรัฐสภา ด้านขวามือคือ La Confiteria del Molino ร้านขนมเก่าแก่ของชาวอิตาเลียน-อาร์เจนไตน์ นี่คือสัญลักษณ์ของอาร์ตนูโวในประเทศนี้ ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ ตัวอาคารสวยงามโดดเด่น งานศิลปะชิ้นสำคัญนำเข้ามาจากอิตาลี เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ.1916 จนกระทั่งใน ค.ศ.1997 รัฐบาลใช้กฎหมายเวนคืนเป็นสาธารณสมบัติ และขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถูกปิดไปถึง 4 ปีเพื่อบูรณะให้มีลักษณะกึ่งพิพิธภัณฑ์ เพิ่งกลับมาเปิดใหม่ในวันนี้ ทันการฉลองวันชาติ ช่วงค่ำที่ผมเดินไปถึง เห็นคนเข้าคิวกันเต็มทางเท้ายาวเป็นร้อยเมตร
ถนนเส้นที่เดินมาทางขวาของจัตุรัสชื่อ Rivadavia มาจากชื่อ “Bernardino Rivadavia” ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ผมเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าอาคาร แล้วเลี้ยวซ้ายเดินบนถนนที่ขนานกับ Rivadavia ชื่อ Hipolito Yrigoyen มาจากชื่อของอีกหนึ่งประธานาธิบดีอาร์เจนตินา
หาร้าน The Revolution ตามลายแทงไม่เจอ อาจปิดเพราะยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 คืนนี้ลมพัดค่อนข้างแรง ผมเริ่มหนาว เห็นบาร์ชื่อ Bar Yrigoyen เปิดประตูเข้าไป สั่งเบียร์กับบาร์เทนเดอร์หนุ่ม เขาพูดภาษาสเปนกลับมาประมาณว่าให้ไปนั่งที่โต๊ะก่อนแล้วจะมีคนเอาเมนูไปให้ สาวเสิร์ฟนำเมนูมาวาง แต่ไม่มารับออเดอร์ ผมกะว่ารอถึง 15 นาทีเมื่อไหร่จะเดินออกไปทันที
ในร้านมีลูกค้าอยู่แค่ 2 โต๊ะ แต่สาวเสิร์ฟคล้ายจะยุ่งอยู่กับโต๊ะนอกร้านที่ต้องนั่งในคอกพลาสติกใสกันลม มี 2 คนที่ว่างคือบาร์เทนเดอร์และผู้หญิงอีกคนซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ บาร์เทนเดอร์ ผมยกไม้ยกมือ แต่ไม่มีใครสนใจ ครบ 15 นาที ผมเปิดประตูเดินออกจากร้านโดยไม่หันกลับไปมอง ซึ่งก็ไม่มีใครส่งเสียงเรียกตามมา
เมื่อตอนเย็น ผมเห็นบาร์ตรงข้ามโรงแรม ผนังร้านด้านหน้าและด้านข้างฝั่งหนึ่งเป็นกระจกใส มีประมาณ 10 คนมานั่งดื่มและยืนเต้นรำคลอเพลงอยู่เบาๆ ตอนนั้นรู้สึกว่ายังหัววันเกินไป แต่ก็ได้วางให้เป็นตัวเลือกหนึ่งของคืนนี้ พอกลับมาถึงหน้าโรงแรม ผมหิวเกินกว่าจะเดินข้ามไปยังบาร์ที่ว่า เข้าไปกินมื้อค่ำในร้านบุฟเฟต์ชั่งน้ำหนักของคนจีนอีกมื้อ ดื่มเบียร์ตาม 1 กระป๋อง ทำให้ยิ่งง่วง
มองไปทางบาร์นั้นอีกครั้ง แล้วเดินขึ้นห้องพักของโรงแรม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว
ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย
คำอวยพรปีใหม่ 2568
ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง
ก้าวสู่ปีใหม่ 2568
สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว
หมดปัญญา...เทวดาต้องรอด
เวลานี้ มีคนบางคนทำผิดกฎหมาย ไม่ให้ค่ารัฐธรรมนูญ บดขยี้กระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้ แล้วปรากฏว่าเขาไม่มีความผิดใดๆ ไม่มีหน่วยงานใด ไม่มีกฎหมายมาตราใดจะเอาโทษเขาได้
ว่าด้วยความสำคัญของ 'จังหวะ' และ 'โอกาส'
อาทิตย์นี้...ก็ 22 ธันวา.เข้าไปแล้ว อีกแค่ไม่กี่วันก็ถึงช่วงจังหวะ คริสต์มาส ที่คงมีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง บทเพลงอันสุดจะซาบซึ้ง ตรึงใจ ไม่ว่าประเภท จงกระเบน-จงกระเบน (Jingle Bells)