สวมหมวกคนขี้บ่น ฉลองครบรอบไทยโพสต์

    วันนี้ขอสวมหมวกคนขี้บ่นครับ

    อย่างที่แฟนคอลัมน์คงทราบดี ผมเกิดสหรัฐอเมริกา อยู่ที่นู่นจนถึงอายุ 12-13 ปี แล้วกลับมาอยู่เมืองไทยตลอด เรียนมัธยมปลายในไทย จบปริญญาตรีในไทย ที่ผมต้องเขียนเน้นตรงนี้ เพราะคนยังเข้าใจว่าผมอยู่เมืองนอกตลอด แล้วเพิ่งกลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้

    ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกของผม แล้วผมเรียนรู้ภาษาไทยตอนกลับมาอยู่เมืองไทย ดังนั้นผมยอมรับว่าหลายครั้งหลายคราว เรื่องพื้นฐานภาษาไทย ผมจะไม่ลึกซึ้งเท่าคนไทยแท้ ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดเมืองไทย และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรกของเขา หลักภาษาไทยหลายอย่าง ถึงแม้คนจะอธิบายผมแทบตายก็ตาม ผมจะไม่เข้าใจ ผมเข้าใจในหลักการและเหตุผล แต่ผมจะไม่เข้าใจว่าอันนี้จะเป็นหลักทำไม

    อย่างแรก ตอนผมเรียนปริญญาตรี (ย้ำอีกครั้งว่าเรียนในไทยครับ ไม่ใช่เมืองนอก) ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะอินเตอร์ (ซึ่งรุ่นผมเป็นรุ่นที่ 2 หรือ 3 ผมไม่แน่ใจ) เวลาผมเจอชาวต่างชาติ แล้วบอกเขาว่าผมเรียนที่ Mahidol University เขามักจะพูดว่า “Oh, MahidoLLL University!” ผมต้องบอกว่า ไม่ใช่ MahidoLLL แต่ออกเสียงว่า Mahidon

    ทุกคนจะถามว่า ถ้าตัว “L” ออกเสียงเป็นตัว “N” ทำไมไม่สะกดเป็นตัว “N” ไปเลยละ?

    ผมก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ก็เลยถามผู้มีความรู้ภาษาไทยดีกว่าผมหลายร้อยล้านเท่า สิ่งแรกที่เขาจะพูดคือ “เพราะคำว่ามหิดลจบด้วย ล ไม่ได้จบด้วย น” แต่ผมก็เถียงกับเขาทุกครั้งว่า อันนั้นคือหลักภาษาไทย ล แทน น ได้ แต่ในภาษาอังกฤษ L กับ N มันคนละโลกกันเลย แล้วมันใช้แทนกันไม่ได้

    หลังจากคนนั้นรำคาญแล้วเดินหนีไป คนถัดไปที่ผมถามคำถามเดิมจะตอบว่า “ถ้าในภาษาอังกฤษสะกดคำว่า มหิดล เป็น Mahidon มันจะออกเสียงว่า มะ-ฮิ-ดอน” ซึ่งผมก็จะเถียงกลับไปทุกครั้งว่า “มะ-ฮิ-ดอน (Mahidon) ยังดีกว่า MahidoLLLL ไม่ใช่เหรอ?” พอผมพูดเสร็จคนนี้รำคาญแล้วเดินต่อไป และจากสมัยที่ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบต่างจากคำตอบตอนผมอายุ 18-19 ตอนเข้าปีหนึ่งใหม่ๆ

    ประการต่อไปครับ (บอกแล้วว่าวันนี้ผมสวมหมวกคนขี้บ่น) ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็น “วันคล้ายวันเกิด” แทน “วันเกิด” ผมเข้าใจคำอธิบาย ว่าคนเราเกิดเพียงครั้งเดียว ดังนั้นจะมีวันเกิดเพียงครั้งเดียวในชีวิต ผมเพียงไม่เข้าใจว่าทำไมในบางเรื่องมันต้องละเอียดและตรงดิ่งขนาดนั้น ผมอยากย้อนกลับไปถามทุกครั้ง ว่าหลักเกณฑ์หลักการของ “วันคล้ายวันเกิด” มันคิดลึกไปนิดนึงหรือเปล่า และมีที่มาที่ไปมาอย่างไร? ผมถามใครต่อใคร ไม่มีใครสามารถอธิบายต่างไปกว่า “…คนเราเกิดเพียงครั้งเดียว….”

    ผมเข้าใจว่าแฟนคอลัมน์หลายท่าน อ่านคอลัมน์วันนี้และคงมองบน แล้วคงคิดในใจว่า “ไอ้นี่ มันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะมันเกิดเมืองนอก” หรือ “ทำไมมันถามอะไรโง่ๆ วะ” แต่ผมถามกลับกันว่า เมื่อผมมีคำถามแบบนี้ มีใครมีคำตอบไหมครับ? หรือคำตอบที่ผมได้รับมาโดยตลอด ผมน่าจะพอใจแล้วเพราะนั่นคือคำตอบ

    ผมบอกเลยว่า คำถามที่ผมถามในวันนี้ ไม่ได้ถามเพื่อกวน your feet เล่นๆ หรือถามเพื่อหาเรื่อง แต่สำหรับใครที่รู้จักผมตั้งแต่ผมอยู่เมืองไทย แล้วตั้งแต่ผมเรียนภาษาไทยใหม่ๆ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผมถามตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงบัดนี้ แล้วไม่ได้คำตอบที่ต่างไปกว่าคำตอบที่เคยได้มา และส่วนใหญ่หลังจากที่ให้เขาให้คำตอบกัน แล้วผมสวนคำถามของผมกลับไป ส่วนใหญ่เขาจะตอบว่า “เออว่ะ” ถ้าพูดเต็มประโยคก็คือ “เออว่ะไม่รู้เหมือนกัน”

    ลองกลับกันครับ ที่ผมถามคำถามเหล่านี้ เพราะผมเรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ดังนั้นผมอยากเข้าใจคำศัพท์ให้ดีก่อนที่ผมจะใช้ให้ถูก เหมือนตอนผมเป็นพิธีกรฟุดฟิดฟอไฟ คำถามจากคนไทยที่อยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มีคนถามผมขึ้นมาว่า ทำไมแพะในภาษาอังกฤษ (Goat) เมื่อมีมากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไปจะสามารถเป็น Goats ได้ แต่แกะในภาษาอังกฤษ (Sheep) เมื่อมีมากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป ทำไมจะเป็น Sheeps ไม่ได้? แล้วทำไมคำว่า The เมื่ออยู่หน้าคำที่เริ่มต้น AEIOU ทั้งหลาย ทำไมถึงออกเสียง ดิ แต่เมื่ออยู่หน้าคำอื่นๆ ที่ไม่ใช่ AEIOU นั้น ทำไมออกเสียงว่า เดอะ?

    สำหรับเรื่องคำว่า Sheep นั้น พอถาม Google ก็ให้คำตอบที่ไม่ต่างไปกว่า “คำว่ามหิดล จบด้วย ล ไม่ได้จบด้วย น” และ “…เราเกิดเพียงครั้งเดียว….” ผมขอลอกจาก Google ไปเลยครับ “The old English form of sheep was scep (among a few others), a neuter noun, whose historical plural ended in u. After the loss of this ending, the singular and the plural merged; hence one sheep…many sheep.” เข้าใจมากขึ้นไหมครับ? หรือจะสงสัยเรื่อง Sheep(s) เหมือนที่ผมสงสัยเรื่อง “มหิดล” กับ “วันคล้ายวันเกิด”? ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ เราจะได้อยู่ในกลุ่มไร้สาระด้วยกัน

    ประการสุดท้ายในวันนี้ เข้าเรื่องของไทยโพสต์ตรงๆ อย่างที่เราทราบกันอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 26 ปีของไทยโพสต์ โดยทั่วไปมันน่าจะจบอยู่เพียงแค่นี้ เพราะไทยโพสต์ก่อตั้งเมื่อ 26 ปีที่แล้ว และจะครบรอบ 27 ปี ปีหน้า แต่ไม่ได้นะครับ หลักภาษาไทยไม่ให้ หลักเกณฑ์ภาษาไทยบอกว่า เมื่อถึงวันครบอะไรก็แล้วแต่ (เอาไทยโพสต์เป็นตัวอย่าง) จะต้องเริ่มใช้คำว่า “ก้าวสู่” วันนั้นทันที เพราะ “วันครบ” มีเพียงวันเดียว หลังจากวันนั้นจะเป็นช่วงก้าวสู่วันครบถัดไป

    อันนี้ผมยอมรับว่า ผมเข้าใจหลักเกณฑ์หลักการและคำอธิบาย แล้วผมสามารถยอมรับอันนี้มากกว่า “วันคล้ายวันเกิด” ผมมีเพียงคำถามเดียวว่า มันไม่ละเอียดและลึกไปนิดหนึ่งเหรอ? อย่างที่บอกครับ วันนี้ผมสวมหมวกคนขี้บ่น ถือว่าวันนี้เป็นวันเบาสมองในวันหยุดพักผ่อนยาว

    สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ครบรอบ 26 ปี ก้าวสู่ปีที่ 27 (เอามันให้ครบครับ).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

President Biden….You’re a Good Dad

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว

คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง

เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ

'BRO!!!!!'

เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า

“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย

ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้