เมื่อวันอาทิตย์ 7 พฤศจิกายน ผู้ก่อการร้ายใช้โดรนติดระเบิดโจมตีบ้านพักของมุสตาฟา อัล-คาดิมี (Mustafa al-Kadhimi) นายกรัฐมนตรีอิรัก โดรน 2 ลำถูกยิงสกัดตกเหลือเพียงลำเดียวที่พุ่งเข้าเป้าหมาย คนคุ้มกันนายกฯ บาดเจ็บหลายคนแต่ไม่ร้ายแรง
กระทรวงมหาดไทยอิรักเผยว่าผู้ก่อเหตุใช้โดรนบินขึ้นจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงแบกแดดที่ห่างออกไป 10-12 กิโลเมตร อยู่ชานกรุงแบกแดดนั่นเอง
กองทัพอิรักประกาศว่าเป็นความพยายามลอบสังหารผู้นำประเทศ
สื่อบางสำนักรายงานทันทีว่าเป็นฝีมือสายชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุน หลังพวกเขาแพ้เลือกตั้งรอบล่าสุด ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอ้างว่าเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ บางคนเชื่อมโยงกับการสังหารนายพลกอซิม สุไลมานี (Qassim Soleimani) ผู้นำกองทัพอิหร่านที่ถูกสังหารด้วยโดรนสหรัฐในสมัยทรัมป์เมื่อมกราคม 2020 บางแหล่งอ้างว่ามาจากกองกำลังที่กระทำโดยพลการ
ปฏิบัติการหมายสังหารนายกฯ อัล-คาดิมีตีความได้หลากหลาย ตั้งแต่การช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองด้วยกัน ความปลอดภัยของ Green Zone และบทบาทต่างชาติที่เกี่ยวข้อง.
รู้ตัวคนก่อเหตุ:
นายกฯ อัล-คาดิมี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รู้ตัวผู้ก่อเหตุ รู้จักพวกเขาดี คนพวกนี้ต่อต้านรัฐบาล
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรทางการอิรักพูดชัดรู้ตัวใครเป็นผู้ก่อเหตุ เพียงแต่ยังไม่เอ่ยนามต่อสาธารณะเท่านั้น
ด้านมุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ผู้นำพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดและน่าจะเป็นผู้นำประเทศคนใหม่แถลงว่าเป็นก่อการร้าย ตั้งใจสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สร้างความรุนแรง พวกไม่หวังดีต่อชาติ ไม่อยากเห็นประเทศสงบสุข ชี้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธในประเทศ หวังเปิดทางให้ต่างชาติแทรกแซง
มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์และหัวหน้าพรรค
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/Moqtada.AlSadr.Offical/photos/570200909688180
วันต่อมาคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) ออกแถลงการณ์ประณามการลอบสังหารนายกฯ อิรัก เรียกร้องหาตัวผู้ก่อเหตุ ผู้สนับสนุนก่อการร้าย นำมาลงโทษตามกฎหมาย แถลงการณ์นี้ประกาศจุดยืน UNSC ตั้งแต่ต้นว่าผู้ก่อเหตุกับผู้สนับสนุนมีความผิดต้องรับโทษ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีใครเปิดเผยตัวและทางการอิรักยังไม่ประกาศว่าเป็นใคร
วิเคราะห์องค์รวม:
ประการแรก Green Zone ไม่ปลอดภัย
ไม่ว่าจะมุ่งสังหารหรือแค่ข่มขู่เป็นการประกาศความเป็นศัตรูชัดเจน ผู้ลงมือย่อมคิดได้ว่าการทำเช่นนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นข่าวดังทั่วโลก
เรื่องใหญ่กว่านั้นคือบ้านพักนายกฯ อยู่ในเขต Green Zone กลางกรุงแบกแดด
ดังที่ได้เสนอแล้วว่าหลังรัฐบาลสหรัฐคืนอำนาจบริหารประเทศแก่อิรักเมื่อปี 2004 มีสิ่งหนึ่งที่คงอยู่จนถึงปัจจุบันคือเขต Green Zone เป็นเขตวางมาตรการรักษาความปลอดภัยสูงสุด เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ ฐานทัพใหญ่ของสหรัฐ และยังเป็นที่ตั้งศูนย์บริหารประเทศอิรักด้วย เมื่ออิรักเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลของตนปรากฏว่าทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ที่ตั้งกระทรวงต่างๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว กองกำลังสหรัฐหลายพันนายมีส่วนควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่นี้
เรื่องน่าคิดคือวันนี้โจมตีบ้านนายกฯ อิรัก พรุ่งนี้อาจเป็นสถานทูตหรือนายพลคนสำคัญของสหรัฐ ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน
ประการที่ 2 ผู้นำโลกปลอดภัยไหม
ข่าวโดรนโจมตีบ้านพักนายกฯ อิรักย่อมสะเทือนผู้นำอื่นๆ ทั่วโลก เพราะพวกเขามีความเสี่ยงจะถูกโจมตีในแบบเดียวกัน อาจไม่ต้องถึงกับเป็นนายกรัฐมนตรี อาจเป็นแกนนำนักการเมือง นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ ฯลฯ
ในเหตุการณ์นี้ผู้ก่อเหตุใช้โดรน 3 ลำ สกัดได้ 2 ลำ ลองจินตนาการถ้าผู้ก่อเหตุใช้โดรน 10 ลำจะเป็นอย่างไร
อันที่จริงแล้วเรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศใช้โดรนในการสงคราม การต่อต้านผู้ก่อการร้าย ข่าวชิ้นหนึ่งที่ดังมากเมื่อปี 2020 คือการสังหารนายพลสุไลมานีโดยฝีมือรัฐบาลทรัมป์
ประการที่ 3 เกี่ยวข้องกับต่างชาติไหม
จากหลักฐานที่ปรากฏและคำพูดของนายกฯ อิรัก ชี้ว่ารู้ตัวผู้ลงมือ ผู้ก่อเหตุเป็นคนในประเทศ เป็นฝีมือกองกำลังกลุ่มหนึ่ง
อีกมุมมองที่น่าสนใจคือจะเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อโยนความผิดหรือไม่ เป็นอีกแนวที่ควรคิดถึง เพราะอานุภาพแรงระเบิดที่เกิดขึ้นไม่มากเท่าไหร่ โอกาสทำให้นายกฯ เสียชีวิตมีน้อย (ต้องโดนตรงตัวหรือใกล้มากในขณะที่นายกฯ อยู่ในอาคาร)
สื่อบางสำนักรายงานข่าวในทำนองชี้ว่าเกี่ยวข้องกับต่างชาติ หากเป็นจริงเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทันที เมื่อรัฐบาลประเทศหนึ่งลงมือหรือสั่งการสังหารผู้นำอีกประเทศ ในกรณีนี้ประเทศที่ถูกเอ่ยถึงคืออิหร่าน
ถ้าจะพูดความสัมพันธ์ระหว่างอิรักกับอิหร่านอาจย้อนได้นับพันปีสมัยอาณาจักรโบราณ สมัยเกิดมุสลิมชีอะห์ ทั้งอิหร่านกับอิรักต่างเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์
สื่อบางสำนักอ้างแหล่งข่าวว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนและใช้โดรนอิหร่าน เนื่องจากไม่พอใจผลการเลือกตั้งรอบล่าสุดที่ชีอะห์สายอิหร่านได้คะแนนน้อย Hamdi Malik จาก Washington Institute ชี้ว่าเป็นคำเตือนถึงรัฐบาลที่จะจัดตั้งใหม่ว่าต้องมีพวกเขาอยู่ด้วย มีคนของพวกเขาในตำแหน่งต่างๆ ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่สงบ พวกนี้ต่อต้านมุกตาดา อัล-ซาดาร์ที่พรรคของเขาได้คะแนนมากที่สุดและกำลังเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล
Hamdi Malik ขยายความอีกว่าอัล-ซาดาร์ในตอนนี้ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลอิหร่านๆ จึงต่อต้านเพราะเกรงสูญเสียอิทธิพลในอิรัก
ไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ Esmail Qaani ผู้นำกองทัพ IRGC ของอิหร่านเดินทางเยือนอิรักอย่างเป็นทางการ กล่าวว่าทุกฝ่ายควรยอมรับผลการเลือกตั้งและอยู่ในความสงบ ปฏิบัติตามกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิ์ประท้วงการเลือกตั้งแต่ต้องให้ความร่วมมือกับทางการด้วย
นับจากรู้ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวว่าพวกชีอะห์ที่สูญเสียที่นั่งแก่พรรคของอัล-ซาดาร์แสดงความไม่พอใจ อ้างว่าการเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ สวนทางองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งตัวแทนหลายร้อยคนเข้าสังเกตการณ์และสรุปว่าการเลือกตั้งโดยรวมเป็นไปด้วยดี
สรุป:
เป็นเวลาเนิ่นนานหลายสิบปีที่อิรักไม่สงบ ประเทศวุ่นวายไม่จบสิ้น การส่งคืนอธิปไตยแก่อิรักเมื่อมิถุนายน 2004 ตามนโยบายสร้างประชาธิปไตยของรัฐบาลสหรัฐทำให้ประชาชนถูกแยกเป็น 3 ฝ่ายเด่นชัดกว่าเดิม คือแยกเป็นพวกชีอะห์ ซุนนี และเคิร์ด อาจมองว่าเป็นการแบ่งสรรอำนาจหรืออาจตีความว่าตอกย้ำการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เพียงเท่านั้นทั้ง 3 ฝ่ายยังแบ่งแยกย่อยอีก ไม่เป็นเอกภาพ ชีอะห์อิรักปัจจุบันมีหลายสายหลายกลุ่ม ในทางหนึ่งพวกเขาร่วมมือกันเมื่อเจอภัย แต่อีกด้านแข่งขันช่วงชิงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยถึงกับก่อเหตุรุนแรงไม่หยุดหย่อน จนรัฐบาลทำงานไม่ได้และเป็นต้นเหตุจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม พรรคการเมืองชีอะห์มีหลายพรรค ต่างต้องการคะแนนเสียงมากที่สุด เหตุลอบสังหารนายกฯ ครั้งนี้อาจตีความว่าพวกชีอะห์ที่เสียคะแนนให้กับอัล-ซาดาร์ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะห์เหมือนกันไม่พอใจผลการเลือกตั้ง เป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองชีอะห์ด้วยกัน
เหตุที่ยุบสภาจัดเลือกตั้งทั่วไปเพราะหวังให้ประเทศสงบ สามารถเดินหน้าต่อไป แก้ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า แต่นับจากประกาศผลการเลือกตั้งดูเหมือนว่า “ทางออก” หรือการเลือกตั้งอาจเป็นเหตุนำให้อิรักอยู่ในวังวนความไม่สงบต่อไป เป็นประเด็นน่าติดตาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ2025 (2)
จุดยืนร่วมจีน รัสเซีย และอิหร่าน 2025 บ่งบอกว่าจีนกับรัสเซียทนไม่ได้ที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานอิหร่านด้วยโครงการนิวเคลียร์อีกแล้ว
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (1)
การเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (3)
รัสเซียหวังระบบโลกหลายแกนนำที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น อันจะส่งเสริมความมั่นคงของตน แต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
เจ้าพ่อทรัมป์ (Trump the Godfather)
ทรัมป์ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องรวมสมาชิกรัฐสภารีพับลิกัน รวมทั้งคนอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน เป็นพวกอำนาจนิยม
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (2)
Russian Foreign Policy Concept 2023 สะท้อนมุมมองสถานการณ์โลก โดยเฉพาะส่วนที่รัสเซียกำลังเผชิญ วิสัยทัศน์อนาคตโลก
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (1)
Russian Foreign Policy Concept 2023 มีรายละเอียดมาก ช่วยให้เข้าใจนโยบายต่างประเทศรัสเซียได้เป็นอย่างดี