สงครามสหรัฐฯ-จีน ลามสู่ ‘ศึกชิป (หาย)’

การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกำลังจะลามเข้าสู่ “สงครามเซมิคอนดักเตอร์” ที่จะกลายเป็นประเด็นการต่อสู้ที่หนักหน่วงรุนแรงไม่แพ้ภาวะสงครามการค้า หรือแม้กระทั่งสงครามในยูเครน

 เพราะทั้งวอชิงตันและปักกิ่งต่างก็ตระหนักว่าการจะมีอิทธิพลระดับโลกจริงๆ นั้นไม่ใช่เพียงแค่มีอาวุธที่เหนือกว่า

หากแต่ต้องมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมทุกอย่างในโลก

นั่นคือ เซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Chips

เริ่มด้วยการที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำห้ามธุรกิจอเมริกันค้าขายกับจีนในสินค้าที่โยงกับเทคโนโลยีชั้นสูง

มีผลทำให้บริษัทยักษ์ๆ ของจีนที่กำลังสยายปีกระดับโลกด้วยเทคโนโลยี 5G อย่าง “หัวเว่ย” ถูกสกัดในตลาดโลก

เท่านั้นยังไม่พอ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังเดินหน้ากดดันจีนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศกฎเกณฑ์ชุดใหม่บังคับให้บริษัทอเมริกันและบริษัทต่างชาติที่ใช้เครื่องจักรของสหรัฐฯ ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องยื่นขอใบอนุญาต

หากจะส่งออกเซมิคอนดักเตอร์การประมวลผลขั้นสูง หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้จีน

เป็นการเตะขาจีนในด้านนี้โดยตรง...

เพราะนั่นย่อมหมายความถึงการจำกัดการขายเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปให้จีนในการเอาไปใช้ต่อยอดเทคโนโลยี AI

หรือไปเสริมศักยภาพของจีนในการผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง และซูปอร์คอมพิวเตอร์

อีกด้านหนึ่งก็คือ การจงใจปิดช่องทางที่บริษัทมะกันจะผลิตชิปให้บริษัทของจีน

แต่กฎเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ชุดนี้ระบุว่า การจะทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ที่เอื้อต่อจีนนั้นต้อง “ได้รับใบอนุญาต” ในกรณีพิเศษ

ในทางปฏิบัติก็คือการวางอุปสรรคที่ขัดขวางจีนในเกือบทุกรูปแบบ

อีกข้อหนึ่งในคำประกาศใหม่นี้คือ ห้ามหน่วยงานของรัฐและพลเมืองที่ถือสัญชาติอเมริกัน เข้าทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตชิปของจีน

เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณียกเว้นอีกเช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ จีนต้องรู้สึกถูกกดดันและกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน

 “หัวเว่ย” กลายเป็นเป้าของสหรัฐฯ เพราะสามารถขยายตลาดไปในโลกตะวันตกได้อย่างกว้างขวาง

ก่อนที่สูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เครือข่าย เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้

พอห้ามคนสัญชาติอเมริกันไปทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยีก็มีผลกระทบต่อเนื่องเรื่อง “มันสมอง” ที่ไม่ไหลมาทางจีนเหมือนแต่ก่อน

และที่น่าสนใจคือ มาตรการใหม่ชุดนี้ของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อการพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence) ของจีนเพียงใด

เพราะผลข้างเคียงนั้นจะมาในรูปของความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธของกองทัพจีนจะถูกกระทบด้วย

นักวิเคราะห์บางสำนักประเมินก็คือ เมื่อเซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนสำคัญตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ผลที่ตามมาก็มีผลต่อการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

แต่ใช่ว่าการที่สหรัฐฯ ออกมาเล่นงานจีนเรื่องนี้จะไม่มีผลทางลบต่อตัวเอง

เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่สำหรับ “ชิป”

การออกมาปิดตลาดจีนของสหรัฐฯ จึงหนีไม่พ้นว่าจะต้องกระทบต่อบริษัทอเมริกันที่เติบใหญ่ได้เพราะตลาดจีน

เป็นที่รู้กันว่าตลาดชิปของจีนนั้นมากถึงประมาณ 25% ของทั้งโลกทีเดียว

เมื่อถูกเล็งเป็นเป้าชัดขนาดนี้ จีนย่อมอยู่เฉยๆ ไม่ได้

ยิ่งหากฟังคำปราศรัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการเปิดประชุมสมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ด้วยการที่จีนต้องก้าวขึ้นเป็นแถวหน้าของเทคโนโลยีด้วยแล้ว ก็ยิ่งเชื่อได้ว่าปักกิ่งจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและหลบเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการชุดใหม่ของสหรัฐฯ แน่นอน

ต้องไม่ลืมว่า สี จิ้นผิง เคยประกาศเป็นนโยบายหลักว่าจีนจะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของโลกภายในปี 2030

มีหรือที่ สี จิ้นผิง เมื่อได้รับการต่ออายุอีก 1 สมัย จะไม่แสวงหาทางหลบหลีกการปิดล้อมทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็มีเดิมพันสูงในเรื่องนี้ไม่น้อย

เพราะการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนหน้านี้จะออกหัวออกก้อยก็อยู่ที่ว่าประชาชนคนอเมริกันมองว่า ผู้นำของพรรคเดโมแครตคนนี้สามารถยับยั้งสิ่งที่คนอเมริกันหลายภาคส่วนมองว่าเป็น “ภัยคุกคาม” จากจีนได้มากน้อยเพียงใด

ไบเดนเพิ่งลงนามประกาศใช้กฎหมายที่มีความสำคัญในด้านเทคโนโลยีที่พุ่งเป้าไปในการสร้างอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐฯ ที่ต้องไม่ตามหลังจีน

กฎหมายฉบับนี้ชื่อ CHIPS and Science Act ซึ่งระบุชัดเจนว่าสหรัฐฯ ต้องเป็นผู้นำด้านนี้ให้จงได้

 โดยมีการจัดสรรเงินก้อนใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

นั่นคือการตั้งงบประมาณกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและส่งเสริมให้บริษัทในสหรัฐฯ หันมาผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

สาระของกฎหมายระบุว่า คู่แข่งสำคัญคือจีนอย่างไม่เกรงอกเกรงใจอีกต่อไป

เพราะเนื้อหาตอนหนึ่งกำหนดไว้ชัดๆ เลยว่า บริษัทใดที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้จะต้องไม่ไปลงทุนเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์กับจีน

ไม่เพียงแต่ออกกฎหมายมาสกัดจีนเท่านั้น รัฐบาลของไบเดนยังไปดึงเอาไต้หวันและเกาหลีใต้มาเป็นพวกด้วย

นั่นคือ Samsung ของเกาหลีใต้ และ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ของไต้หวันมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ

เพราะเป็นที่ยอมรับว่า อเมริกาถดถอยในเรื่องนี้ และสูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดนี้มาไม่น้อยกว่า15 ปีแล้ว

ฝ่ายจีนนั้นมีบริษัทผลิตชิประดับใหญ่คือ YMTC ซึ่งก็ถูกระบุในบัญชีควบคุมของกฎหมายของสหรัฐฯ ฉบับใหม่นี้

รวมถึงหน่วยงานจีนอีก 30 แห่งในรายการการค้าที่เรียกว่า "ไม่ผ่านการตรวจสอบ"

และอีก 28 บริษัทถูกเพิ่มใน "รายชื่อนิติบุคคล" รวมถึงหน่วยงานระดับมณฑลหลายแห่งของศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งชาติของจีน สถาบันเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง และ Beijing SenseTime Technology Development ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท AI รายใหญ่ของจีน

บริษัทจีนเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำกับควบคุมที่เข้มข้นของสหรัฐฯ

การเผชิญหน้าระหว่าง 2 ยักษ์กำลังบานปลายไปถึงทุกมิติของความสัมพันธ์จริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ