ก้าวสู่ปีที่ ๒๗ แล้วครับ
ไทยโพสต์ แก่ขึ้นอีกปี
เกิดจากสื่อสิ่งพิมพ์ และมาเมื่อ ๔-๕ ปีก่อนต้องปรับตัวเพิ่มสื่อออนไลน์ www.thaipost.net สดๆ ร้อนๆ ขวบปีมานี้ปรับตัวอีกรอบ เพิ่มสื่อมัลติมีเดีย เป็นคลิปข่าวสาร บทวิเคราะห์ตามแนวทางของไทยโพสต์ เผยแพร่ในแพลตฟอร์มยูทูบ ติ๊กต๊อก ฯลฯ
ทั้งหมดยังมาในชื่อ ไทยโพสต์ THAIPOST เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือครบรสและแปลกตาขึ้น
๒๖ ปีของการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยมา จนกระทั่ง ๕ ปีหลังมานี้ การเปลี่ยนแปลงแทบจะเรียกได้ว่า เร็วจนตามแทบไม่ทัน
เร็วทั้งในแง่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเทคโนโลยี
โควิด-๑๙ ก็มีส่วนเร่งให้การเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้น
ผู้คนพบปะกันน้อยลง โทรศัพท์กลายเป็นทุกอย่างในชีวิต สื่อจึงต้องเปลี่ยนตาม
คนอ่านหนังสือน้อยลง แต่ดูและฟังมากขึ้น
การดูการฟังต้องไม่ยาว สั้นๆ ได้ใจความ
ฉะนั้นเมื่อเทียบกับการซื้อหนังสือพิมพ์มา ๑ ฉบับ แล้วอ่านข่าว อ่านบทความแทบทุกหน้า ใช้เวลานานนับชั่วโมง มาวันนี้คนฟังและดูต้องไม่เกิน ๓ นาที ๕ นาที นับเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วก็ว่าได้
มันเป็นไปตามสภาพสังคมครับ
ชีวิตที่เร่งรีบ ผู้คนมีเรื่องต้องทำในแต่ละวันมากขึ้น
การแข่งขันที่มากขึ้น ล้วนเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการบริโภคสื่อ
เนื้อหาข่าวสารเองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขึ้่นทุกวัน
ประเด็นที่ลากยาวช่วง ๔-๕ ปี ที่ผ่านมาคือ ยกเลิก ม.๑๑๒ เรื่อยมาจนถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกำลังจะเป็นประเด็นกำหนดโฉมหน้ารัฐบาลถัดไป
เลือกตั้งคราวนี้ เวทีดีเบต คงจะมีการตั้งคำถามให้แสดงจุดยืนต่อ ม.๑๑๒ และปฏิรูปสถาบัน
จะเริ่มเห็นว่าพรรคไหนหมดโอกาสร่วมรัฐบาลตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งแน่นอน
ประเด็น ม.๑๑๒ มีความชัดเจนจากหลายพรรคการเมืองแล้ว
พรรคก้าวไกล ประกาศแก้ ม.๑๑๒ เป็นนโยบายหลัก พร้อมกับปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตรย์
พรรคเพื่อไทย ถอยกรูดไปแล้ว ยืนยันชัดเจน ไม่แตะ ม.๑๑๒
พรรคภูมิใจไทยโดย "อนุทิน ชาญวีรกูล" ตอกย้ำว่าเรื่องนี้เป็นอุดมการณ์
"...พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมา โดยมีอุดมการณ์ทางการเมือง ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติเป็นข้อแรก เป็นหัวใจในการทำงานของพรรค และเป็นอุดมการณ์ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยทุกคนยึดถือเป็นหลักในการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวอีกว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบาย ไม่มีความคิดเรื่องแก้ไข ม.๑๑๒ และไม่เข้าใจว่าคนที่เสนอแก้ไข ม.๑๑๒ เดือดร้อนอะไรกับกฎหมายอาญา ม.๑๑๒
ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ากฎหมายอาญา ม.๑๑๒ เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะท้าทาย คิดจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็กลัวโทษตามกฎหมาย จึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ให้สิ่งที่ตนจะทำเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ควรจะแก้ไข เพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ควรจะไปแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นก่อน
ผมมั่นใจว่าการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ ไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ใครจะคิดอย่างไร ลงมติอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเขา แต่พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรค พูดแทนสมาชิกทุกคนได้เลยว่า เราไม่แก้ไข และจะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไข ม.๑๑๒ ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออีกกี่ครั้งก็ตาม
ไม่มีทางอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่พรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบาย มีแนวคิดแก้ไข ม.๑๑๒ รวมอยู่ด้วย เพราะมีอุดมการณ์ขัดแย้งกันจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้..."
ส่วนประชาธิปัตย์ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ประกาศชัดเจน
"...ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคหนึ่ง ที่เสนอเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเป็นสถาบันการเมือง ทำงานโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมและประชาชนเป็นหลัก ไม่ยึดผลประโยชน์ส่วนตัว และยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และพร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มากขึ้น โดยไม่แตะหมวดหนึ่ง หมวดสอง
ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพราะไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีบทคุ้มครองประมุขของประเทศ..."
ครับ..การแก้ไข หรือยกเลิก ม.๑๑๒ เป็นเพียงตัวหลอก เป้าหมายหลักอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์
มีการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในสภา โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน
หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่า การเคลื่อนไหวนี้มีผลต่อสถาบันอย่างไร
งบประมาณแผ่นดินเป็นประเด็นอ่อนไหว
เมื่อนำไปผูกกับการเสียภาษีของประชาชน ทำให้เกิดวาทกรรม "ภาษีประชาชน"
และวาทกรรมนี่เองถูกนำไปโยงกับงบประมาณสถาบัน
กระบวนการล้างสมองได้ผลลัพธ์ที่กว้างขวางมากในโลกโซเชียล
การอภิปรายงบประมาณในสภา ด้วยการนำงบประมาณ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ งบประมาณโครงการพระราชดำริ มามัดรวมแล้วบอกว่าเป็นงบของสถาบัน
นอกสภารับไม้ต่อสื่อสารกันผิดๆ ว่าเป็นงบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้
นี่คือสิ่งที่น่ากลัว ฉะนั้นสังคมต้องตามให้ทัน
มีการพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศสมาพักใหญ่แล้ว มีนักการเมือง นักวิชาการนิ้วไม่ครบ อ้างว่าเพื่อเป็นหนทางสู่การปฏิรูปสถาบัน
ฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ มีการออกนโยบายการขึ้นภาษีขนมปัง และขึ้นภาษีเกลือ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของราชอาณาจักรฝรั่งเศส
ประชาชนรู้สึกเคียดแค้นไม่พอใจ ออกมาขับไล่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ อ้างว่าชนชั้นสูงเสวยสุข แต่ประชาชนต้องหากินเลือดตาแทบกระเด็น
ฉะนั้นเวลามีใครพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส ให้ดูการกระทำ ณ เวลานั้นด้วย
พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ ม.๑๑๒ ปฏิรูปสถาบัน คณะก้าวหน้า โดยปิยบุตร แสงกนกกุล โหยหาปฏิรูปฝรั่งเศส
ส.ส.ก้าวไกลจงใจพูดถึงงบประมาณสถาบันเป็นพิเศษ
มวลชนนอกสภาถ่องคาถาภาษีกู ทั้งๆ ที่บางคนแทบไม่เคยยื่นแบบ ภ.ง.ด.๙๑ เลย
ถามล่วงหน้าตรงนี้ พรรคการเมืองไหนจะจับมือกับก้าวไกลตั้งรัฐบาลบ้าง
ประชาชนจะได้ตัดสินใจเสียแต่เนิ่นๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ