พอประเทศผลิตน้ำมันรวมหัวกันประกาศลดการผลิตลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล สหรัฐฯ ก็เต้นผาง...ความเป็นพันธมิตรเก่าแก่ระหว่างวอชิงตันกับซาอุดีอาระเบียก็มีอันต้องเจอกับความบาดหมางขึ้นมาทันที
หนีไม่พ้นว่าข้อสงสัยของสหรัฐฯ คือซาอุฯ กำลังเข้าไปช่วยรัสเซีย ซึ่งทำให้เสียอำนาจต่อรองของโลกตะวันตก
ซาอุฯ โต้กลับทันทีว่านี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง หากแต่เป็นประเด็นเศรษฐกิจล้วนๆ สหรัฐฯ ไม่เชื่อ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถึงกับบอกว่าจะต้องมีมาตรการลงโทษซาอุฯ ในการเป็นแกนนำกดดันให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอีกระลอก มีผลให้เงินเฟ้อโลกทะยานต่อไป และกระทบเศรษฐกิจของทั้งโลก
เสียงสนับสนุนดังลั่นมาจากประเทศสมาชิกโอเปกพลัส (OPEC+) ที่ออกประกาศสนับสนุนการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างมากจากระดับที่ได้ตกลงกันไว้ในเดือนนี้
ทำเนียบขาวกล่าวหาซาอุดีอาระเบียว่า พยายามกดดันบังคับให้สมาชิกอื่นๆ ของโอเปกพลัสเห็นด้วยกับการลดปริมาณการผลิต
อเมริกาอ้างว่าการที่โอเปกพลัสลดการผลิตน้ำมันลงอย่างนี้ เท่ากับเป็นการเอื้อมอสโกทำสงครามในยูเครน
ที่ว่าเอื้อก็เพราะจะทำให้รัสเซียมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก
ซ้ำยังบอกว่า ซาอุฯ มี “แรงจูงใจทางการเมือง” ที่ตัดสินใจทำเช่นนั้น
รัฐบาลซาอุฯ ออกมาปฏิเสธทันควัน บอกว่าเรื่องการสนับสนุนรัสเซียทำสงครามในยูเครนนั้นไม่ได้อยู่ในวาระใดๆ ของแนวทางของซาอุฯ เลยแม้แต่น้อย
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ แห่งซาอุฯ ทรงย้ำว่า ความจริงโลกเข้าใจว่าซาอุฯ ได้พยายามอย่างยิ่งเพื่อสร้างความมั่นคงและความสมดุลในตลาดน้ำมันโลก
อีกทั้งเป็นการทำตามข้อตกลงในหมู่สมาชิกโอเปกพลัส
ซึ่งรวมถึงประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจากกลุ่มโอเปก (OPEC) และผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น เช่น รัสเซีย
กษัตริย์แห่งซาอุฯ ตรัสด้วยว่า ความจริงที่ผ่านมาซาอุฯ ได้พยายามทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพในยูเครน
โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อเดือนที่แล้วซาอุฯ ก็ได้ช่วยพูดให้มีการปล่อยตัวนักโทษสงครามจากรัสเซียด้วยซ้ำ
ซาอุฯ จึง “ประหลาดใจอย่างยิ่ง” ที่มีเสียงกล่าวหาซาอุฯ ว่าถือหางข้างรัสเซียในสงครามนี้
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทันทีที่กลุ่ม OPEC+ ประกาศมติลดการผลิตน้ำมันดิบเป็นจำนวนสูงกว่าที่คาด สหรัฐฯ ก็ออกมาโวยวายว่าการทำเช่นนี้ย่อมเป็น “ข่าวร้าย” สำหรับเศรษฐกิจโลกอย่างปราศจากความสงสัย
รัฐมนตรีกลาโหมซาอุฯ เจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน อ้างว่า การตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ให้ลดการผลิตน้ำมันดิบลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น “มติเอกฉันท์และเกี่ยวกับจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น”
นั่นคือการบอกปัด “แรงจูงใจทางการเมือง” ที่อเมริกากล่าวหา
สมาชิกอื่นๆ ของโอเปกเรียงหน้ากันออกมายืนยันประเด็นเดียวกันนี้
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คูเวต โอมาน และบาห์เรน นัดกันออกมาแถลงยืนยันว่า OPEC+ มีข้อสรุปตรงกันว่าการลดปริมาณการผลิตคือวิธีที่ดีที่สุดในการ “สร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมันโลก”
ขอให้ตัดประเด็นการเมืองออกไป
แต่วอชิงตันก็ยังมีความระแวงอยู่ดี
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี บอกว่า มีประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกมากกว่าหนึ่งประเทศที่ถูกซาอุฯ ใช้วิธี “บีบบังคับ” ให้ยกมือสนับสนุนการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน
โดยมีเป้าหมายคือช่วยให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งก็จะมีผลบั่นทอนประสิทธิผลของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ชาติตะวันตกใช้กับรัสเซียเพราะสงครามยูเครน
สำหรับประเทศผลิตน้ำมันนั้น ราคาที่จะเข้าระดับ “คุ้มทุน” อยู่ที่ประมาณ 79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ตามการวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ)
เมื่อเดือนที่แล้ว ราคาร่วงลงมาที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับสูงสุดที่ 139 ดอลลาร์ เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว
มันคือสัญญาณเตือนสำหรับซาอุดีอาระเบีย และผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆ ที่พึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้ส่วนใหญ่ว่ารายได้กำลังจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดบอกว่า ซาอุดีอาระเบียไม่ได้ต้องการเพียงแค่สร้าง “ความสมดุลของราคาในตลาด” เท่านั้น
หากแต่ยังต้องการให้แน่ใจว่ารายได้จะมีส่วนเกินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ประเทศผู้ผลิตน้ำมันต้องการเห็นระดับราคาขยับเข้าใกล้ระดับสูงสุด 90 ดอลลาร์
ข้อมูลที่ปรากฏก็คือ ซาอุดีอาระเบียมีต้นทุนการสกัดน้ำมันต่ำที่สุดในโลกที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นั่นหมายความว่า รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้รับจากแต่ละบาร์เรลจะเข้ากองทุนพิเศษเพื่อการพัฒนาประเทศ
เช่น การสร้างเมืองล้ำยุคมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในทะเลทราย
ไปจนถึงการออกกฎหมายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างก็กำลังลงทุนเพื่อการสร้าง “ความหลากหลาย” ของแหล่งที่มารายได้ในภาวะที่การใช้น้ำมันของตลาดโลกจะลดน้อยถอยลงตามลำดับ
เพราะการรณรงค์ต่อสู้โลกร้อนในระดับโลกที่กดดันให้ใช้น้ำมันน้อยลง
และหันไปลงทุนในการผลิตพลังงานทางเลือกมากขึ้น
แต่ดูเหมือนฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ก็ปักใจเชื่อว่าเรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลัง
โฆษกทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า “เป็นที่ชัดเจนว่า OPEC+ กำลังทำอะไรที่สอดคล้องกับความต้องการของรัสเซีย”
รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ กำลัง “พิจารณามาตรการตอบโต้หลายชุด” ต่อการเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบีย
และเสริมว่าทำเนียบขาวกำลัง “ปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับสภาคองเกรส” ซึ่งหมายถึงการออกกฎหมายที่จะ “ลงโทษ” ซาอุฯ ในกรณีนี้
แต่ซาอุดีอาระเบียก็โต้แย้งด้วยการบอกว่า การที่สหรัฐฯ มีปฏิกิริยาเช่นนี้เท่ากับเป็นการ “ตีโพยตีพาย” อย่างไร้เหตุผล
รัสเซียอาจจะกำลังยิ้มเยาะสหรัฐฯ อยู่
สหรัฐฯ ก็อาจจะกำลังบีบซาอุฯ ต่อไป
แต่โลกที่อยู่ในภาวะถูกกระทบจากสงคราม เพราะราคาพลังงานพุ่งพรวดพราด ดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงลิ่วนั้น ย่อมหัวเราะไม่ออก...และร้องไห้ก็ไร้ผล
พันธมิตรเดิมกลายเป็นคู่กรณี และศัตรูเดิมกลับกลายเป็นมิตรในยามลำบาก
โลกกำลังปั่นป่วนกันทุกหย่อมหญ้าจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ