ใครคือ ‘ไอ้โม่ง’ ติดป้ายประท้วง สี จิ้นผิง บนสะพานกลางปักกิ่ง?

ก่อนวันเปิดประชุมสมัชชาคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาเพียง 3 วันก็เกิดเหตุการณ์ “ประท้วงด้วยป้ายผ้า” กลางกรุงปักกิ่งที่สร้างความเกรียวกราวในหมู่ผู้ติดตามการเมืองจีนอย่างมาก

เพราะอยู่ดีๆ ก็มีป้ายผ้าแขวนอยู่บนสะพานในเขตไห่เตี้ยนของปักกิ่ง

อีกทั้งยังมีควันลอยโขมงขึ้นมาในจังหวะที่มีเสียงบรรยายดังก้องไปทั่วบริเวณด้วย

เป็นข้อความที่เขียนด้วยลายมือที่เริ่มด้วยการไม่พอใจต่อมาตรการเข้มข้นในการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล

ตามมาด้วยการเรียกร้องให้ประชาชน, นักศึกษาและคนทำงานหยุดงานประท้วง

และจบลงอย่างฮือฮาให้ร่วมกัน “โค่นเผด็จการสี จิ้นผิง!”

ตำรวจจีนรีบรุดไปบนสะพานที่เกิดเหตุ และในภาพลางๆ ที่ถูกแชร์กันในโซเชียลมีเดียจะเห็นผู้ชายคนหนึ่งแต่งชุดคนงานก่อสร้างพร้อมด้วยหมวกนิรภัยถูกตำรวจจับ

เขาคนนั้นเป็น “ไอ้โม่ง” ผู้ก่อการหรือไม่ ไม่มีใครยืนยันหรือปฏิเสธ

เพราะหลังจากนั้นข่าวคราวก็เงียบหายไป

คลิปและข้อความที่ถูกส่งขึ้นในโซเชียลมีเดียจีนก็ถูกลบออกไปอย่างกะทันหัน

ใครก็ตามที่จะค้นหาคำที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “ประท้วง” หรือ “ป้ายผ้า” หรือ “สะพาน” ก็ถูกบล็อก และไม่อาจจะเชื่อมต่อเพื่อหาข้อมูลใดๆ ได้อีก

ข้อความบนป้ายผ้าบนสะพานบางส่วนอ่านได้ความว่า

เราไม่ต้องการการตรวจโควิด เราต้องการชีวิต

เราไม่ต้องการล็อกดาวน์ เราต้องการเสรีภาพ

เราไม่ต้องการคำโกหก เราต้องการศักดิ์ศรี

เราไม่ต้องการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เราต้องการ “ปฏิรูป”

เราไม่ต้องการ “ผู้นำสูงสุด” แต่ต้องการ “เลือกตั้ง”

เราไม่ต้องการเป็นทาส, เราคือพลเมือง

แม้สื่อทางการจะไม่ให้ราคากับป้ายประท้วงนี้ แต่กระนั้นก็ไม่สามารถจะระงับยับยั้งบรรดานักสืบออนไลน์จีนที่พยายามจะตามหาตัวผู้แขวนป้ายประท้วงนี้

หลายคนชื่นชมยกเป็น ‘ฮีโร่’

เรียกเขาว่าเป็น “The Bridge Man” หรือ “มนุษย์สะพาน”

เพราะเหตุเกิดบนสะพาน “ซีทง” (Sitong) ตรงทางด่วนวงแหวนที่ 3 ด้านเหนือ...กลางเมืองหลวงในเขตไห่เตี้ยนที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและบริษัทไฮเทคที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

เรียกได้ว่าเป็นจุดที่ผู้คนพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองหลวงจีนเลยทีเดียว

ที่เรียกเขาว่า “The Bridge Man” นั้นก็เพื่อเปรียบเทียบกับ “The Tank Man” หรือ “มนุษย์รถถัง”

ซึ่งหมายถึงชายหนุ่มคนหนึ่งที่ไปยืนจังก้าขวางขบวนรถถังที่ทางการสั่งให้ออกมาปราบปรามนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพที่จตุรัสเทียนอันเหมินกลางกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1989

ชายคนนั้นกลายเป็น “วีรบุรุษ” ของคนจีนกลุ่มที่เห็นพ้องกับการเรียกร้องเสรีภาพในขณะนั้น

วันนี้ชาวเน็ตของจีนจำนวนหนึ่งก็แสดงความชื่นชมในความกล้าหาญของชายคนนี้ในลักษณะเดียวกัน

แต่เขาจะเป็นคนทำงานนี้คนเดียว หรือมีเครือข่ายอย่างไรหรือไม่ยังไม่ปรากฏชัดเจนแต่อย่างใด

สื่อกระบอกเสียงของทางการจีนไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์นี้เลยแม้แต่น้อย

ภาพนิ่งและคลิปวิดีโอการประท้วงที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ถูกลบอย่างรวดเร็วออกจากโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชัน WeChat ที่ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง

ภาพที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ Facebook เห็นผู้ก่อเหตุประท้วงเผายางรถยนต์และตะโกนข้อความต่อต้าน

หลังเกิดเหตุมีรายงานว่า ทางการได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 1 คน ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงที่ว่านี้

แต่จะหาอ่านจากสื่อทางการจีนไม่ได้ เพราะไม่มีการเอ่ยถึงเลย

ความพยายามของสายสืบออนไลน์ของจีนก็ไม่ลดละ พยายามชอนไชตามหาตัวตนของผู้ก่อเหตุคนนี้กันจ้าละหวั่น

พอจะสรุปจากข้อมูลที่นักสืบออนไลน์จีนนำเสนอได้ว่า คนที่เป็นเป้าของความสนใจว่าอาจจะเป็นผู้ก่อเหตุนั้นเป็นนักวิจัยและนักฟิสิกส์รายหนึ่ง จากหมู่บ้านในมณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

พอสืบสาวราวเรื่องต่อก็พบว่า เขาคนนี้ชื่อจีนว่า “เผิงลี่ฟา” ใช้ชื่อในโซเชียลมีเดียว่า Peng Lifa หรือ Lifa_Petter เขาคนนี้เคยโพสต์เนื้อหาที่ดูเหมือนเป็นเอกสารแถลงการณ์จำนวน 23 หน้า ลงในเว็บไซต์นำเสนองานวิจัยยอดนิยมอย่าง ResearchGate

ต่อมาโพสต์นี้ถูกลบออก แต่ชาวเน็ตหลายคนก็มือไวพอที่จะคัดลอกและอัปโหลดสำเนาแถลงการณ์ดังกล่าวลงบนอินเทอร์เน็ตซ้ำอีกในเวลาต่อมา

น่าสนใจตรงที่เนื้อหาของแถลงการณ์นั้นเรียกร้องให้มีการประท้วงและแสดงออกแบบ “อารยะขัดขืน” ต่อนโยบายของสี จิ้นผิง

อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการบุกทำลายสถานีตรวจโควิด เพื่อต่อต้านนโยบาย “โควิดต้องเป็นศูนย์”

ที่สำคัญคือ เขาเรียกร้องให้ผู้คนออกมาประท้วงเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ สี จิ้นผิง ได้รับการต่ออายุให้เป็นหมายเลข 1 ของประเทศเป็นสมัยที่ 3

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์นั้นบอกว่า “นี่คือการระงับยับยั้งเผด็จการ สี จิ้นผิง จากการดำรงตำแหน่งต่อไปอย่างผิดกฎหมาย เพื่อให้จีนสามารถเริ่มต้นเส้นทางสู่ประชาธิปไตยและเสรีภาพ

ชาวเน็ตจีนบางส่วนได้เข้าไปแสดงความเห็นในบัญชีทวิตเตอร์ 2 บัญชีของผู้ชายที่เชื่อกันว่าอาจจะเป็นเขาคนนั้น                บางคนก็โพสต์รูปที่อ้างว่าเป็นชายคนนี้

มีข้อความจำนวนมากที่แสดงความขอบคุณการกระทำของเขา ยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษและเปรียบเทียบว่าเป็น “มนุษย์รถถังคนใหม่”

ถึงวันนี้การ “ไล่ล่าหาตัวผู้ก่อเหตุ” ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างร้อนแรง

แม้ทางการจีนจะไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์นี้เลย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ากรณีนี้จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

เพราะการประท้วง “ท่านผู้นำ” ลักษณะนี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในเมืองจีนมานานพอสมควรแล้ว

ยิ่งหาก สี จิ้นผิง ได้รับการยืนยันให้ต่ออายุอีก 5 ปีในสัปดาห์นี้ ก็ยิ่งจะสามารถกระชับอำนาจอย่างเหนียวแน่นขึ้นอีก

เสียงต่อต้านคัดค้านท่านผู้นำหมายเลข 1 ก็อาจจะยิ่งถูกปิดกั้นหนักขึ้นด้วยซ้ำไป

ชะตากรรมของชายคนนั้นเป็นอย่างไรอาจจะเป็นความลี้ลับต่อไป...ไม่ต่างกับความลึกลับอันเกี่ยวกับความเป็นไปต่อชีวิตของชายที่ยืนขวางขบวนรถถังกลางกรุงปักกิ่งเมื่อ 33 ปีก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ