ประเทศไทย “งดออกเสียง” ในข้อมติวันที่ 12 ตุลาคมของที่ประชุมสมัชชาใหญ่, สหประชาชาติ เรื่อง “บูรณภาพแห่งดินแดน” ของยูเครน กรณีรัสเซียผนวกหลายแคว้นของประเทศนี้ เป็นประเด็นที่จะต้องแสวงหาคำตอบให้ชัดเจน
ต่อข้อมติประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครนของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 มีนาคมก่อนหน้านี้นั้น ไทยลงคะแนน “สนับสนุน”
ทั้งๆ ที่สองประเด็นนี้มีความเกี่ยวโยงกันอย่างมาก
คำอธิบายของคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไทยงดออกเสียงครั้งหลังนี้คือ
“เป็นเพราะเห็นว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้มีความอ่อนไหวและพลุ่งพล่านอย่างมาก ความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาแทบไม่ปรากฏ มีแต่คิดจะประณามกัน ซึ่งรังแต่จะผลักให้คู่ขัดแย้งหันไปใช้ความรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างกัน...”
คุณดอนเสริมว่า
"ไทยรู้สึกเศร้าใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประเทศและประชาชนชาวยูเครน จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งลดใช้ความรุนแรงและหันหน้ามาเจรจากัน และเรียกร้องให้สหประชาชาติหาทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ เพื่อนำความปกติสุขกลับคืนมาสู่ประชาชนยูเครนและชาวโลก”
แต่อีก 7 ประเทศในอาเซียนลงมติสนับสนุนมตินี้ (จากทั้งหมด 143)
ไทยเป็น 1 ใน 35 ประเทศ (รวมถึงเพื่อนเราในอาเซียนสองประเทศคือ เวียดนามและ สปป.ลาว) ที่ตัดสินใจ “งดออกเสียง”
ขณะที่ 5 ประเทศคัดค้านคือ รัสเซีย, เกาหลีเหนือ, เบลารุส, ซีเรีย และนิการากัว
การที่จุดยืนของไทยกลายเป็นเสียงส่วนน้อยในอาเซียนมีนัยที่แปลก
แต่ไทยเรางดออกเสียงทั้งๆ ที่เป็นประเด็นของหลักการแห่งกติกาสากลและเป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ
นั่นคือ “บูรณภาพแห่งดินแดน” ซึ่งสำหรับทุกประเทศแล้วต้องปกป้องจนสุดฤทธิ์
หาไม่แล้วก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้อีกประเทศหนึ่งมาอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของตน...เช่นกรณีรัสเซียที่ส่งทหารเข้ายูเครนด้วยข้ออ้างว่าจะมา “ปกป้อง” คนที่มีเชื้อชาติและพูดภาษารัสเซีย
ประเทศทั่วโลกจำนวนไม่น้อยล้วนมีประชากรที่พูดภาษาอื่นและมีเชื้อชาติอื่น แต่เป็นพลเมืองของประเทศนั้น
ไม่มีประเทศไหนมีสิทธิ์อ้างเหตุผลของเชื้อชาติหรือภาษาเพื่อไปยึดดินแดนของอีกประเทศหนึ่งได้
การที่กระทรวงต่างประเทศไทยลงมติประณามการที่รัสเซียส่งทหารเข้ายูเครน แต่ “งดออกเสียง” ประเด็นบูรณภาพแห่งดินแดน จึงเป็นการ “ย้อนแย้ง” ตนเองที่สร้างความสับสนให้กับคนไทยเองและประชาคมโลกได้
แม้รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศจะอ้างว่าสถานการณ์ “อ่อนไหวและพลุ่งพล่าน” ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยเราจะเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับหลักการที่มีความสำคัญระดับสากล
หรือที่อ้างว่าหากไทยเราร่วมประณามก็จะผลักดันให้โลกไปสู่สงครามนิวเคลียร์ก็ฟังไม่ขึ้น
เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเรายอมให้ประเทศที่รุกรานอีกประเทศหนึ่งใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวและละเมิดหลักการสากลกำหนดให้เราต้องเปลี่ยนจุดยืน โดยอ้าง “ความกลัว” จะเกิดสงครามใหญ่
ทั้งๆ ที่สงครามนี้ก็ยืดเยื้อมาสู่เดือนที่แปดแล้ว
หรือเป็นเพราะรัสเซียขู่ว่าอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์จึงทำให้ไทยกลัว...ต้องเปลี่ยนท่าทีของตนจากเดิม
หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องถามว่าไฉนประเทศส่วนใหญ่คือ 143 ประเทศจึงลงมติประณาม...พวกเขาไม่เห็นสถานการณ์ “อ่อนไหวและพลุ่งพล่าน” เหมือนไทยหรือ?
มีบางคนในไทยวิเคราะห์ว่าที่กระทรวงต่างประเทศตัดสินใจลงมติให้ “งดออกเสียง” นั้น เป็นเพราะกลัวว่าถ้าโหวตสนับสนุนข้อมตินี้อาจจะทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียไม่มาร่วมประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงเทพฯ ในเดือนหน้า
ผมหวังว่าประเด็นวิจารณ์นี้ไม่จริง...เพราะถ้าจริงก็จะทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการตัดสินใจของผู้รับผิดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของไทยอย่างร้ายแรงทีเดียว
เพื่อเป็นการบันทึกเหตุผลที่ไทยเราตัดสินใจ “งดออกเสียง” ครั้งนี้ ผมขอจารึกคำแปลคำอธิบายการออกเสียงครั้งนี้จากคุณสุริยา จินดาวงษ์, ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ดังนี้
คำแปลคำอธิบายการออกเสียงลงคะแนนร่างข้อมติ: UNGA Emergency Special Session ครั้งที่ 11 (Territorial Integrity of Ukraine)
- 1. ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจอธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญเสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ
ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่าจะคัดค้านการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่ง และการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ
2.อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสที่การทูตเพื่อแก้วิกฤตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก
3.ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดการแข็งขืนไม่ยอมกัน และลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง
4.ประเทศไทยโศกเศร้าเสียใจกับการทำลายล้างทางกายภาพ ทางสังคมและทางมนุษยธรรมของยูเครน และความยากลำบากที่รุนแรงซึ่งประชาชนชาวยูเครนต้องทนทุกข์ทรมาน ไทยจึงต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในโศกนาฏกรรมในยูเครนนี้จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งพยายามเสาะหาสันติวิธีเพื่อจัดการกับความไม่ลงรอย โดยอิงกับความเป็นจริงที่ปฏิบัติได้และข้อห่วงกังวลจากทุกฝ่าย ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิตนั้น เป็นเสาหลักที่สำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถึงทุกวันนี้สิทธิดังกล่าวได้ถูกพรากจากชาวยูเครนและประชาชนอีกหลายล้านคนทั่วโลก มันจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสูงสุดขององค์กรที่ได้รับความเคารพสูงสุดแห่งนี้ ในการนำสันติภาพและความปกติสุขของชีวิตกลับมาสู่ชาวยูเครน ไม่ใช่โดยการใช้ความรุนแรง แต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้นที่จะสามารถนำสันติสุขกลับมาได้จริงและโดยถาวร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ