หัวหน้าใหญ่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) Kristalina Georgieva ออกมาเตือนโลกหลายเรื่อง...ที่ล้วนสร้างความน่ากังวลต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าทั้งสิ้น
ล่าสุดเธอบอกว่า การที่ OPEC+ มีมติให้ลดการผลิตน้ำมันดิบลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกในหลายๆ ด้าน
นอกจากเรื่องพลังงานแล้ว เธอก็ยังฝาก “5 คำเตือน” สำหรับทุกประเทศที่จะต้องตั้งรับสถานการณ์ที่ผันผวนปรวนแปรจากนี้ไปให้ดี
หาไม่แล้วอาจจะเจอกับวิกฤตที่คาดไม่ถึงได้อีกมากมาย
“ถ้าเราไม่ลดอัตราเงินเฟ้อลง สิ่งนี้จะทำร้ายผู้ที่อ่อนแอที่สุด เพราะการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงานสำหรับผู้ที่อยู่ในฐานะที่ดูแลตัวเองได้ก็อาจจะคือความไม่สะดวก แต่สำหรับคนยากจนมันคือโศกนาฏกรรม ดังนั้นเราจึงคิดถึงคนจนก่อนเมื่อเราสนับสนุนการลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง” จอร์จีวา, นักเศรษฐศาสตร์จากบัลแกเรียกล่าว
และหลายประเทศก็จะเห็นผู้ประสบภัยวิกฤตเศรษฐกิจออกมาอยู่กลางถนน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรที่แก้ปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดในหลายสิบปี
เธอเสริมว่าธนาคารกลางทั่วโลกไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
ในคำปราศรัยของกรรมการผู้จัดการของ IMF ก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีของผู้ว่าแบงก์ชาติและรัฐมนตรีคลังประเทศต่างๆ ที่วอชิงตัน ดีซี เธอฝากคำเตือนหลายประการที่ควรแก่การนำมาพิจารณาและแก้ไขปรับปรุงก่อนจะสายเกินไป
คำเตือนข้อแรกคือ เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดตัวลงอย่างน่ากังวลใจ
เธอย้ำว่าโอกาสที่จะเกิดการถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่เธอเรียกว่า Global Recession กำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
IMF เตรียมประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเป็นครั้งที่ 4 สำหรับปี 2023
ที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษคือ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่การหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสต่อกันภายในปีนี้และปีหน้า
คำเตือนข้อ 2 คือ ประเทศทั้งหลายต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะหลีกเลี่ยงการดำเนิน “นโยบายผิดพลาด"
เหตุเพราะมีปัจจัยที่สลับซับซ้อนมากขึ้น และหนทางการแก้ปัญหาก็ยากขึ้นกว่าเดิมมากนัก
เพราะสัญญาณทั้งหลายส่อไปในทางที่ว่าเงินเฟ้อยังขยับขึ้นต่อเนื่อง หรือไม่ขึ้นก็ไม่ลง ยังอยู่ในภาวะดื้อแพ่ง
เธอย้ำว่ารัฐบาลทั้งหลายต้องเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มข้นต่อไปอย่างไม่ลังเล
เพราะรัฐบาลในหลายประเทศอาจจะเจอกับแรงกดดันทางการเมืองในยามที่ข้าวยากหมากแพง จึงอาจเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ
คำเตือนจากผู้อำนวยการ IMF ก็คือผู้กำกับนโยบายต้องไม่ใจอ่อน
“อย่าหยุดยั้งมาตรการเหล่านั้นก่อนเวลาอันควร”
โดยย้ำว่าแม้จะเป็นเรื่องยากลำบากและฝืนกระแสของสังคม แต่รัฐบาลก็ต้องเด็ดเดี่ยว
ถึงขั้นที่อาจจะต้องยอมแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลง
เพราะในความเห็นของเธอ หากประเทศไหนเริ่มอ่อนล้า ใจอ่อน สิ่งที่ตามมาคือความเสียหายในวันข้างหน้าอาจจะใหญ่โตกว่าเดิมอีกก็ได้
ข้อนี้ยากเป็นพิเศษ และหลายรัฐบาลอาจจะบอกว่าเธอนั่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ IMF ก็พูดอย่างนั้นได้
แต่หากเธอลองมานั่งบริหารวิกฤตปากท้องและความคาดหวังของประชาชนเองก็จะเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ข้อควรระวังข้อที่ 3 จากผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศคือ ประเทศต่างๆ ระวังการออกนโยบายการคลังที่ "ไม่เหมาะสม"
นั่นย่อมแปลว่า นโยบายการเงินและการคลังต้องมีความสอดคล้องต้องกัน
อย่าเดินไปคนละทาง หรือย้อนแย้งกันเอง
หากจะช่วยประชาชนก็ต้องเลือกเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นที่กลุ่มเปราะบาง และมีกรอบเวลาจำกัดที่ชัดเจน อย่าพยายามช่วยทุกคน
อย่าเดินแบบประชานิยมเพื่อคะแนนเสียงทางการเมือง
เพราะถ้าเหวี่ยงแหเพื่อช่วยทุกคน
ก็จะมีผลกระทบในภาพรวมหมด
ลงท้าย ความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยทุกคนก็จบลงด้วยการไม่สามารถช่วยใครได้เลย
คำเตือนประการที่ 4 คือ ให้ระวังมรสุมที่กำลังก่อตัวจนอาจจะกลายเป็นวิกฤตของประเทศที่อยู่ในเกณฑ์เป็น “เศรษฐกิจใหม่” หรือ Emerging Markets Debt Crisis
อาการที่เห็นก็คือ เมื่อดอลลาร์แข็ง เงินสกุลท้องถิ่นก็อ่อน และเมื่อดอกเบี้ยกู้สูงขึ้น เงินก็จะไหลออก
นั่นจะทำให้ประเทศเกิดใหม่เริ่มมีอาการโซซัดโซเซ
ผอ.ไอเอ็มเอฟประเมินว่า โอกาสที่เงินจะไหลออกจากกลุ่ม Emerging Markets ใน 3 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 40%
และอาการป่วยที่น่าเป็นห่วงก็คือ กว่า 25% ของประเทศ Emerging Markets ได้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว
หรือไม่ก็มีผลทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลร่วงลงมาอย่างแรง
จนหล่นมาอยู่ระดับ "Distressed Level"
ความหมายก็คือ ทำให้ประเทศเปราะบางเหล่านี้กู้เงินยากขึ้นในวันข้างหน้าต่อไป
ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ สถิติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศบอกว่า 60% กำลังมีหรือจะมีปัญหา Debt Distress
อันแสดงออกด้วยราคาพันธบัตรตก ดอกเบี้ยพุ่ง เกิดปัญหาในการกู้ยืมจากตลาดในภาวะที่มีความจำเป็นต้องหาเงินกู้มาประคองสถานการณ์
คำเตือนสุดท้ายจากเบอร์ 1 ของ IMF คือทั้งโลก “ต้องทำงานร่วมกัน”
เพราะหากยังต่างคนต่างคลำหาทางออกเอง ก็จะรอดยาก
เหมือนกับตอนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ต่างคนต่างตุนวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง
จนกลายเป็นวิกฤตทั่วโลก เพราะทุกอย่างของโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกันและกัน
เศรษฐกิจถดถอยในประเทศกลุ่มเกิดใหม่ก็สามารถลามไปถึงประเทศร่ำรวย
และยิ่งหากเกิดวิกฤตทางการเมือง เพราะประชาชนในโลกจำนวนมากลุกขึ้นมาประท้วง ออกมาต่อต้านรัฐบาลของตนกลางถนน ความวุ่นวายปั่นป่วนจากซีกโลกหนึ่งก็ย่อมจะลามไปถึงประเทศอื่นๆ ได้
ในภาวะเช่นนี้ไม่มีประเทศกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะร่ำรวยเพียงใดก็ไม่อาจจะแยกตัวเองออกจากส่วนอื่นๆ ของโลกได้
สัญญาณเตือนภัยปรากฏชัดเจนมากขึ้นทุกวัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ