เงินเฟ้อทะลุกรอบ

เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม หลังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่เคยตกลงกันไว้

เดิมกระทรวงการคลังและ ธปท.ตกลงกันไว้ว่าจะดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวในช่วง 1-3% ซึ่งจะเกณฑ์ที่อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ แต่จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565) อยู่ที่ 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2566) ที่ ธปท.ได้ประเมินล่าสุดจะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายเช่นกัน

ดังนั้นทาง ธปท.จึงจำเป็นต้องชี้แจงสถานการณ์เงินเฟ้อใหม่หมดต่อกระทรวงการคลัง และได้ให้รายละเอียดใน 3 ประเด็นคือ 1.ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน 2.ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3.การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ซึ่งสามารถสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ 1.ในส่วนปัจจัยทำให้เงินเฟ้อพุ่ง เกิดมาจากแรงกดดันด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามไปด้วย และยังเสริมจากปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ (Domestic Supply Shocks) ที่เกิดจากโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น 

สำหรับประเด็นที่ 2 เรื่องการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดย ธปท.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566

และประเด็นสุดท้าย เรื่องแนวทางในการแก้ไขเงินเฟ้อ ทาง ธปท.ระบุว่า จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะดูแลให้เกิดความสมดุล ทั้งการคุมเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

แต่ประเด็นสำคัญที่ ธปท.แสดงความเป็นห่วงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ภาระหนี้สินของประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ซึ่งก็มีแนวคิดที่จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ล่าสุดทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการเผยแพร่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) สำหรับเดือน ก.ย.และ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าตัวเลขอยู่ในระดับที่ทรงตัวอยู่ที่ 33.9 และ 35.2 แต่ก็ยังถือว่ามีความเปราะบาง โดยสถานการณ์ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อระดับราคาสินค้าในหลายหมวด ยกเว้นในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มที่ครัวเรือนกลับมามีความกังวลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรต่างๆ ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และการจ้างงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 19.2 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 บาท (ผลสำรวจจัดทำขึ้นในช่วง 21-27 ก.ย.65).

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเกือบ 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค.2567 ทั้งสิ้น 20,335,107 คน

ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

หลังจากนายกรัฐมนตรีหญิง แพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งอย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนต่างก็ดีใจ เพราะไม่ทำให้ประเทศเป็นสุญญากาศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งแรกที่ภาคเอกชนอย่าง

แนะเจาะใจผู้บริโภคด้วย‘ความยั่งยืน’

คงต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลงัดทุกทางพยุงตลาดหุ้น

หลังจากปล่อยให้ตลาดหุ้นซึมมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1,300 จุด เรียกได้ว่าสำหรับนักลงทุนถือเป็นความเจ็บปวด เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน

ดันอุตฯไทยไปอวกาศ

แน่นอนว่าในยุคที่โลกต้องก้าวหน้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น และต่อไปไม่ได้มองแค่ในประเทศหรือในโลกแล้ว แต่มองไปถึงนอกโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคพื้นที่มีความแข็งแกร่งส่งผ่านไปยังอุตสาหกรรมอวกาศได้

แบงก์มอง ASEAN ยังมาเหนือ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า