การตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียในการ “ผนวก” 4 ภูมิภาคของยูเครนมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเป็นประเด็นร้อนแรงกว่าที่คาดคิด
มองจากมุมของปูติน นี่คือการ “ปกป้องคนของรัสเซีย” ที่ถูกรัฐบาลยูเครนข่มเหงรังแก
จากมุมของยูเครน นี่คือการ “ฮุบดินแดน” ของตนโดยรัสเซียที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ๋งครึ่ม
นักประวัติศาสตร์บางค่ายเปรียบเทียบเรื่องนี้กับเหตุการณ์ที่เกิดในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
รัสเซียเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศ
แต่มอสโกเข้ายึดดินแดนโดยกองกำลังทหารของเพื่อนบ้าน โดยอ้างว่าเพื่อ “ปกป้องชาติพันธุ์ชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ที่นั่น”
ฟังดูไม่ต่างกับคำกล่าวอ้างของฮิตเลอร์ก่อนจะระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ.2481 นาซีเยอรมนีอ้างว่าต้องเข้าไปปกป้องคนที่มีเชื้อสายเยอรมันที่ถูกกดขี่ในเชโกสโลวะเกีย
จึงประกาศส่งทหารเข้าไปเพื่อผนวกดินแดนซูเดเตนแลนด์ที่เป็นเพื่อนบ้าน
แรกเริ่มสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ต้องการเผชิญหน้ากับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง จึงพยายามจะใช้วิธีการนิ่มนวลเพื่อน้าวโน้มไม่ให้ฮิตเลอร์ทำอะไรที่ละเมิดกติกาสากล
แต่แล้วเยอรมนีก็บุกโปแลนด์ในปีถัดมา
ในที่สุดโลกก็เข้าสู่สงคราม
วันนี้ปูตินประกาศว่าดินแดนทั้ง 4 ภูมิภาคนี้เป็นแผ่นดินรัสเซีย ดังนั้นใครโจมตีดินแดนเหล่านี้ก็เท่ากับโจมตีรัสเซีย
และรัสเซียจะใช้ทุกวิถีทางในการปกปักรักษาดินแดนเหล่านั้น
และหากจำเป็นก็อาจจะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์!
ความกังวลไม่จบลงแค่นั้น หลังการผนวก 4 ภูมิภาคของยูเครนแล้ว ผู้สังเกตการณ์เริ่มหวั่นเกรงว่าสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอาจปรากฏขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตอิทธิพลของรัสเซีย อีกจุดหนึ่งคือเซาท์ออสซีเชีย ซึ่งเป็นเขตแบ่งแยกดินแดนของจอร์เจียก็จับตาดูการลงประชามติเพื่อเข้าร่วมรัสเซียอย่างใกล้ชิด
อีกจุดหนึ่งที่เปราะบางเช่นกันคือ ทรานส์นิสเตรียในมอลโดวาตะวันออกที่มีความเคลื่อนไหวแยกตัวในทำนองเดียวกันมาก่อน
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันว่า “การผนวกดินแดนของรัฐหนึ่งโดยอีกรัฐหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการคุกคามหรือการใช้กำลัง ถือเป็นการละเมิดหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”
แต่ปูตินไม่ฟังเสียง ไม่สะทกสะท้านต่อปฏิกิริยาจากประชาคมโลกแต่อย่างไร
ผู้นำรัสเซียบอกว่า ผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคที่ผนวกเข้าด้วยกัน “ได้ลงคะแนนเสียงเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัสเซียและเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันกับเรา”
แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนประกาศกร้าวว่าเคียฟจะไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อยึดดินแดนคืน
รวมถึงจะต้องทวงคืนแหลมไครเมียที่รัสเซียผนวกไปเมื่อ 8 ปีก่อนอีกด้วย
และยืนยันเสียงแข็งว่าเขาจะไม่ยอมเจรจากับปูตินเป็นอันขาด
“ทุกคนในโลกเข้าใจดีว่าการพยายามของรัสเซียในการผนวกดินแดนของเรานั้นมีหมายความว่าอย่างไร” เซเลนสกีบอกกล่าวกับประชาชนชาวยูเครน
พร้อมกล่าวสำทับว่า “แต่มันจะไม่หมายความอย่างที่เครมลินหวังไว้”
ฝ่ายตะวันตกกระโดดมายืนเคียงข้างยูเครนอย่างเต็มที่อย่างฉับพลันเช่นกัน
“เราจะต้องทำให้แน่ใจว่าปูตินจะต้องแพ้สงครามที่ทำอย่างผิดกติกาสากลเช่นนี้” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ประกาศก้อง
รัฐบาลเยอรมนีเสริมว่า เบอร์ลินจะให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรม เศรษฐกิจ และการทหารแก่ยูเครนต่อไป “จนกว่าบูรณภาพแห่งดินแดนจะกลับคืนมา"
นักวิเคราะห์เคยวิพากษ์สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นว่ามีท่าทีผ่อนปรนกับรัสเซียมากเกินไป หลังจากการผนวกไครเมียในปี 2557 นี่เป็นความล้มเหลวที่พวกเขาไม่สามารถทำซ้ำได้
และนั่นอาจจะทำให้ปูตินได้ใจ คิดว่าถ้าทำอย่างนั้นกับไครเมียเมื่อ 8 ปีก่อนได้ โดยที่โลกตะวันตกไม่ได้ต่อต้านหนักหน่วงนัก ก็สามารถทำซ้ำได้อีก
คำถามจากบางสำนักวิเคราะห์ก็คือว่า รัสเซียประกาศยึดดินแดนทั้ง 4 ได้อย่างไรขณะที่ยังมีการสู้รบกันอยู่
เพราะแม้ปูตินจะลงนามผนวกภูมิภาคโดเนตสก์ ลูฮันสก์ แคร์ซอน และซาปอรีเชีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้วแต่ทหารยูเครนก็ยังอ้างว่าสามารถขับไล่ทหารรัสเซียออกจากบางเมืองในภูมิภาคเหล่านี้ได้
อีกทั้งรัสเซียก็ยอมรับว่ามีการถอยร่นจากเมือง Lyman ในแคว้นโดเนตสก์
มองในแง่ยุทธศาสตร์ในแนวรบ การผนวกภูมิภาคแคร์ซอน และซาปอรีเชีย ทางภาคใต้ของยูเครนอาจช่วยให้รัสเซียสามารถที่ระดมพลใหม่เข้าไปยังแนวรบที่รัสเซียอ้างว่ามีความยาวกว่า 1,000 กม.
อีกด้านหนึ่ง เมื่อผนวกดินแดนเพิ่มแล้ว ปูตินก็อาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ชาติตะวันตกที่ยังคงส่งอาวุธทันสมัยให้ยูเครนสู้รบกับทหารรัสเซีย
วันนี้ปูตินกำลังบอกตะวันตกว่า หากทหารยูเครนโจมตี 4 ภูมิภาคนี้ก็เท่ากับโจมตีดินแดนของรัสเซียโดยตรง
เข้าข่ายที่รัสเซียจะใช้คำว่า “ยูเครนรุกรานรัสเซีย” ได้
ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนตอบโต้การผนวกดินแดนของรัสเซียด้วยการเร่งกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตแบบ fast track
คือตัดลดขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก
ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ว่าสมาชิกทั้ง 30 ประเทศจะเห็นพ้องต้องกันว่าจะรับยูเครนเข้ามาได้รวดเร็วอย่างที่เซเลนสกีเรียกร้องต้องการหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า แกนนำของประเทศนาโตได้ออกมาสนับสนุนให้องค์กรเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และยุโรปแห่งนี้ต้องเดินหน้าสกัดรัสเซียในยูเครนให้ได้
หาไม่แล้วก็จะต้องเผชิญกับการที่รัสเซียจะรุกคืบเข้าสู่ดินแดนอื่นๆ ที่เข้าข่ายที่มอสโกสามารถอ้างว่าจะต้อง “ปกป้องคนของเรา” แบบเดียวกับที่ทำกับยูเครนอย่างที่เห็นกันวันนี้
สงครามทำท่าบานปลาย...และโอกาสที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในแนวรบ “แบบจำกัดวง” ก็เพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นอย่างน่าวิตกกังวลกันทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ