อย่างที่ทราบกันว่า อังกฤษเป็นต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาของโลก ถึงขนาดเรียกการปกครองระบอบรัฐสภาของอังกฤษว่า ตัวแบบเวสต์มินสเตอร์ (Westminster model) ผู้เขียนได้เคยเล่าประวัติความเป็นของการเกิดสภา การเรียกประชุมและการปิดประชุมสภาของอังกฤษไปแล้ว มาคราวนี้ จะขอกล่าวถึงการยุบสภาที่น่าจะมีอะไรสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเมืองไทยขณะนี้ได้
ที่ว่าสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเมืองไทยขณะนี้ก็คือ ในช่วงนี้ถือว่าสภาใกล้จะครบวาระสี่ปีแล้ว ซึ่งถ้าครบสี่ปี ก็จะต้องมีการยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและมีสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ทีนี้หน้าที่รัฐสภาอังกฤษจะมีการตราพระราช บัญญัติที่มีชื่อว่า the Fixed-Term Parliament Act 2011 (พ.ศ. 2554) ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษเดิม เมื่อเข้าสู่ระยะปีสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไร การยุบสภาในช่วงปีสุดท้ายถือเป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรีที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบในยุบสภาและเลือกตั้งก่อนสภาครบวาระในวันสุดท้าย นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายรัฐสภาจะสามารถเลือกกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป แต่กระนั้นก็เป็นไปได้ว่า รัฐบาลอาจจะคาดการณ์ผิด และอาจจะแพ้การเลือกตั้งหรือแม้นไม่แพ้ แต่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าเดิม
แต่ก่อนจะถึงช่วงปีสุดท้ายที่สภาจะครบวาระ การยุบสภาจะต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ไม่ใช่ว่านายกรัฐมนตรีจะยุบได้ตามอำเภอใจ ผู้เขียนได้กล่าวถึงเงื่อนไขต่างๆนี้ไว้ในบทความก่อนๆแล้ว
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ในปี ค.ศ. 2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed-Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสองในสาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้ และเข้าข่ายเป็นการทบทวนทั้งระบอบการเมืองทั้งระบบอย่างที่มีนักวิชาการชื่อ Markesinis ได้กล่าวไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กราบบังทูลฯพระมหากษัตริย์เพื่อขอพระปรมาภิไธยในการยุบสภา ก็ยังอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่การตัดสินใจเฉพาะของตัวนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
ความเป็นมาของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๖-ต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ ได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแบบแผนประเพณีการยุบสภาฯของอังกฤษที่ให้สิทธิอำนาจแก่นายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวในการถวายคำแนะนำในการยุบสภาฯต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นแบบแผนการปฏิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลก และได้กลายเป็นแบบแผนประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงทศวรรษ ๑๙๘๐ ซึ่งก่อนหน้านั้น สิทธิอำนาจในการถวายคำแนะนำการยุบสภาฯอยู่ภายใต้การตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี
ข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้มาจากนักการเมืองทั้งฝั่งอนุรักษ์นิยมและปีกซ้ายจัดของพรรคแรงงาน นั่นคือ ลอร์ด แฮลแชม (Lord Hailsham) นักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม และโทนี่ เบน (Tony Benn) นักการเมืองปีกซ้ายจัดของพรรคแรงงาน โดยโทนี่ เบนเป็นผู้เสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาฯ และลอร์ด แฮลแชมเองก็วิจารณ์และแสดงความกังวลต่อแบบแผนการยุบสภาฯที่เป็นอยู่ในขณะนั้นด้วยเช่นกัน โดยเขาได้วิจารณ์แบบแผนการยุบสภาฯที่เป็นอยู่ในขณะนั้นว่าเป็นการเอื้อให้เกิด “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (an elective dictatorship……ที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้มีผู้นำทางการเมืองอยู่ในอำนาจตลอดไป”
โดยเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิด “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” ก็คือ นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ในการกำหนดช่วงเวลาการยุบสภาและการเลือกตั้งที่พรรคของตนมีแนวโน้มที่จะชนะ ไม่ว่าจะอาศัยข้อมูลจากผลการเลือกตั้งซ่อมหรือการสำรวจทัศนคติของประชาชน
นอกจากคำวิจารณ์ของลอร์ด แฮลแชมซึ่งเป็นนักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมแล้ว โทนี เบน นักการเมืองซ้ายจัดของพรรคแรงงานได้ให้ข้อเสนอของเขาไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 โดยเขาได้เสนอว่า สภาผู้แทนราษฎรควรจะต้องมีอำนาจเหนือพระราชอำนาจทั้งมวลของพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่อมา สมาชิกพรรคแรงงานจำนวนหนึ่งได้เห็นด้วยและยอมรับข้อเสนอดังกล่าวนี้ ซึ่งปรากฏเป็นกลุ่มรณรงค์ของกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน และในปี ค.ศ. 1984 ได้มีการเผยแพร่เอกสารที่เสนอข้อแนะนำยี่สิบข้อสำหรับการปฏิรูปรัฐสภา โดยเรียกร้องให้ “การใช้พระราชอำนาจทั้งหมด (all crown prerogatives) จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งอำนาจในการยุบสภาก่อนที่สภาจะครบวาระ” ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ได้ปรากฏในร่างกฎหมายที่เรียกว่า the Reform Bill 1985 และมีการเสนอร่างกฎหมายนี้อีกในปี ค.ศ. 1988 ภายใต้ชื่อ the Crown Prerogatives (House of Commons Control) Bill 1988 ซึ่งโทนี เบนเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ แต่ร่างกฎหมายทั้งสองผ่านการพิจารณาเพียงวาระแรกเท่านั้น แต่ก็ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานของสภาฯในฐานะที่เป็นร่างกฎหมายที่เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับพระราชอำนาจในการยุบสภา
ข้อเสนอในการปฏิรูปการยุบสภาผู้แทนราษฎรของ
โทนี เบน เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประการ อันได้แก่
หนึ่ง การทูลเกล้าฯถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการลงคะแนนเสียงและเห็นชอบช่วงเวลาที่จะยุบสภา
สอง ผู้ที่จะทูลเกล้าฯการยุบสภาจะต้องเปลี่ยนจากนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานสภาฯ โดยประธานสภาฯจะเป็นผู้รับผิดชอบในการทูลเกล้าฯถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อพระมหากษัตริย์ว่าสภาฯได้มีการลงคะแนนเสียงอย่างไรต่อญัตติดังกล่าว
สาม วาระเวลาสูงสุดของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลดลงจากห้าปีมาเป็นสี่ปี
โรเบิร์ต แบล็คเบิร์น
โรเบิร์ต แบล็คเบิร์น (Robert Blackburn) ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ได้กล่าวถึงมูลเหตุที่มาของข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาผู้แทนราษฎรของโทนี เบน ว่า โทนี เบนและนักการเมืองคนอื่นๆแสดงความกังวลต่อแบบแผนการยุบสภาฯที่ให้เสรีภาพแก่นายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจยุบสภาฯในช่วงเวลาใดก็ได้ตามแต่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีต้องการ และไม่เพียงแต่การได้เปรียบพรรคคู่แข่งเท่านั้น แต่สิทธิอำนาจในการกำหนดช่วงเวลาการเลือกตั้งทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหนือพรรคและบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของเขาเองด้วย
โทนี เบนได้อธิบายความเป็นมาของสิทธิอำนาจในการยุบสภาของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าเป็นสิทธิอำนาจเป็นผลที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามโลก ที่มีคุณสมบัติและลักษณะส่วนตัวที่โดดเด่นของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามโลก ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเฉพาะของตนในถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้มีการยุบสภา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น การยุบสภามาจาการการตัดสินใจร่วมกันของคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อมีการใช้อำนาจตัดสินใจลำพังแต่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้น ต่อมาจึงได้กลายเป็นแบบแผนที่นายกรัฐมนตรีสามารถตัดสินใจยุบสภาได้โดยไม่ต้องหารือคณะรัฐมนตรี
ข้อเสนอในการปฏิรูปอีกประการหนึ่งของโทนี เบน คือ ความพยายามที่จะลดอำนาจอิทธิพลของนายกรัฐมนตรีต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ความสำคัญกับพรรคมากขึ้น เขาเสนอว่า ในอนาคต หากพรรคแรงงานเป็นรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจะต้องมาจากการลงคะแนนเลือกโดยคณะผู้แทนของพรรค (electoral college) และต้องมีการลงคะแนนใหม่ทุกปี โดยยกเลิกการให้สิทธิอำนาจที่นายกรัฐมนตรีจะเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรีตามความเห็นชอบของตัวนายกรัฐมนตรีเองแต่ผู้เดียว
เพราะจากการที่อำนาจในการยุบสภาฯเป็นของนายกรัฐมนตรีโดยลำพัง ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจอิทธิพลเหนือคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะใช้การยุบสภาฯเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีจะต้องสนับสนุนเขาต่อไป
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้พรรคลงคะแนนเลือกหรือรับรองผู้ที่จะได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น จะช่วยลดอิทธิพลของนายกรัฐมนตรีหรือลดอำนาจของคนๆเดียว ที่มีต่อคณะรัฐมนตรีและพรรคลงไปได้จริง อันจะทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในพรรคมากขึ้น
แต่สำหรับพรรคการเมืองไทยที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยทุนจากหัวหน้าพรรคที่ร่ำรวยและเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาตามข้อเสนอของนักการเมืองอังกฤษเพื่อให้หัวหน้าพรรคไม่ผูกขาดเป็นเผด็จการภายในพรรคคงเป็นเรื่องเพ้อฝันเลยทีเดียว !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ยันไม่ได้พูดเอาหล่อ ภูมิใจไทยค้านกม.สกัดรัฐประหาร ขอไม่โต้ 'ทักษิณ'
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แซวว่านายอนุทินชิงหล่อกรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม
เหลี่ยมจัด! 'หัวเขียง' ขอปรับแก้ 24 จุด กม.สกัดรัฐประหาร ก่อนดันเข้าสภาฯอีกรอบ
นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส. พรรคถึงเรื่องการเตรียมถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ถึงต.ค. 67
วิสุทธิ์พลิ้ว! ปมกฎหมายยึดอำนาจกองทัพ
'วิสุทธิ์' ลั่นพรรคไหนก็ไม่เอาด้วยทั้งนั้น 'รัฐประหาร' ยอมรับ ร่าง กม.'ประยุทธ์' จัดระเบียบกลาโหม หลายคนติงให้ถอนมาปรับปรุง ชี้บางพรรคยังไม่เห็นของ 'เพื่อไทย' เลยไม่สบายใจ แต่ต้องคุยกัน
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 ร่างกม.ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 เหตุ สังคมโลกเปลี่ยนไป ชี้ ร่างกฎหมายของ 'ประยุทธ์' ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม
'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้
'ทั่นเต้น' ประกาศหนุนร่างยึดอำนาจกองทัพแม้ไม่เชื่อสกัดรัฐประหารได้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก