มีคนส่งเสียงเรียกแม่ที่หน้าบ้าน ชายคนที่มาเรียกบอกว่าคืนนี้เตรียมตัวไปขึ้นเรือ พ่อของเราจ้างเขามาให้พาพวกเราข้ามโขง
จำเนียน แสนพิมมะจัก หรือ “แต๋น” เล่าย้อนไปเมื่อยังเป็นเด็กน้อยอายุ 5 ขวบ พ่อของเธอหนีคอมมิวนิสต์ข้ามไปฝั่งไทยตั้งแต่ลาวแตกใหม่ๆ ช่วงปลาย พ.ศ.2518 อาศัยอยู่กับญาติได้พักใหญ่ เมื่อเห็นว่าพร้อมแล้วก็จ้างคนให้ไปรับเมียและลูก
คืนนั้นแม่ของเธอหอบสัมภาระและลูกสาว 2 คนลงเรือ ตอนอยู่กลางแม่น้ำโขง มีแสงไฟส่องมาที่เรือ โชคดีเป็นแสงไฟที่ส่องจากฝั่งไทย ทหารไทยส่งสัญญาณให้เรือรีบเข้าฝั่งและหลบในที่กำบัง ถ้าแสงไฟนั้นเป็นแสงจากทหารคอมมิวนิสต์ลาว พวกเธออาจถูกยิง เธอบอกว่าเคยมีคนถูกยิงมาแล้ว
เมื่อข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาดำเนินการส่งตัวผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ ครอบครัวของเธอก็ย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์ผู้อพยพจังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อการเลือกสหรัฐอเมริกาไม่สมหวัง พ่อของเธอก็ตัดสินใจลี้ภัยในอาร์เจนตินา ขึ้นเครื่องบินมาเมื่อ พ.ศ.2522
บัดนี้ 43 ปีผ่านไป เอื้อยแต๋นลงหลักปักฐานที่เมืองจาโกมุส จังหวัดบัวโนสไอเรส มีบุตร 3 คน มีบ้านน่าอยู่ มีอาชีพที่มั่นคง แต่พ่อและแม่ของเธอเดินทางกลับลาวอย่างถาวรช่วงประมาณ พ.ศ.2540 ตอนที่ลาวต้องการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน หนึ่งในเงื่อนไขของอาเซียนก็คือลาวต้องเปิดประเทศรับคนพลัดถิ่นกลับบ้าน
ผมสนิทกับเอื้อยแต๋นเพราะบ้านเธออยู่ห่างออกไปเพียง 200 เมตรจากวัดหลวงอาร์เจนตินา นิวาสสถานนานเกือบ 3 เดือนของผม เธอทำงานตรวจสอบคุณภาพของแหวนลูกสูบรถยนต์ กลับจากทำงานก็แวะที่วัดทุกเย็นเพื่อดูว่าพระสงฆ์มีอะไรขาดเหลือหรือไม่ และมักชวนผมไปกินข้าวเย็นที่บ้าน รวมถึงเอาผ้าไปซัก ผมเกรงใจเรื่องซักผ้ามากกว่าเรื่องกินข้าว
“เจ้าบ่ต้องเกรงใจ เอื้อยบ่ได้ซักเอง จักรซัก” เธอหมายถึงเครื่องซักผ้า
แสงเพ็ด วงวิจิต หรือ “อ้ายน้อย” สามีของเธอเป็นช่างฝีมือสารพัดชนิดและคอยสแตนด์บายขับรถฉุกเฉินให้กับโรงพยาบาล ผมโชคดีที่อ้ายน้อยชอบดูฟุตบอล แม้ที่วัดไม่มีทีวีผมก็ไม่พลาดการถ่ายทอดสดรายการใหญ่ๆ หากว่าถ่ายทอดในช่วงเวลาที่อ้ายน้อยอยู่บ้าน สำหรับทีมสโมสรอ้ายน้อยเชียร์อินดิเปนดิเอนเต แปลกแยกจากคนส่วนใหญ่ในอาร์เจนตินาที่ไม่เชียร์ริเวอร์เพลตก็โบคาจูเนียร์ อ้ายน้อยคือลูกชายของพ่ออุ้ม พระเอกของเราเมื่อตอนที่แล้ว
มื้อเย็นในอาร์เจนตินาเห็นทีคนลาวจะเรียก “ข้าวแลง” ได้ไม่เต็มปาก เพราะคนอาร์เจนตินากินมื้อเย็นตอน 2 ทุ่มเป็นอย่างเร็ว บางบ้านกินเกือบๆ 4 ทุ่มคล้ายในอินเดีย เด็กๆ ที่หิวมาจากโรงเรียนต้องหาอะไรรองท้องก่อน ช่วงแรกที่เอื้อยแต๋นชวนให้ไปกินข้าวเย็น ผมไม่รู้ธรรมเนียมไปตั้งแต่ 6 โมงกว่า ได้ดูช่องยูทูบท่องเที่ยวลาวที่อ้ายน้อยเปิดผ่านสมาร์ททีวีนับสิบตอน ก่อนอาหารจะพร้อม
ตั้งแต่จากลาวมาเมื่อยังเล็ก อ้ายน้อยยังไม่เคยกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ส่วนเอื้อยแต๋นนั้นเคยกลับ 1 ครั้ง ด้วยค่าเงินของอาร์เจนตินาที่อ่อนปวกเปียกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ง่ายที่จะซื้อตั๋วไป-กลับ บัวโนสไอเรส-เวียงจันทน์ หรือบัวโนสไอเรส-กรุงเทพฯ แล้วนั่งรถทัวร์ข้ามโขงไปฝั่งลาว แต่อีก 2 ปีข้างหน้าทั้งคู่วางแผนจะกลับไปเยี่ยมญาติ โดยจะซื้อตั๋วล่วงหน้า 1 ปีเพื่อให้ได้ราคาไม่สูงเกินไป แผนจึงมีอยู่ว่าก่อนหน้านี้ถึงปีหน้าเก็บเงินซื้อตั๋ว ส่วนปีหน้าจนถึงวันเดินทางก็เก็บเงินค่าใช้จ่ายขณะอยู่ในลาว
ที่ต้องเก็บเงินนานเพราะรับเงินเดือนเป็นเงินเปโซเท่าเดิม แต่ค่าตั๋วขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินสูงตามโดยอัตโนมัติ ค่าเงินเปโซนั้นอ่อนค่าลงเกือบทุกวัน ทำให้ต้องใช้เปโซในจำนวนที่มากกว่าเดิม ยังไม่รู้ว่าถึงวันซื้อตั๋ว เปโซจะร่วงลงเท่าไหร่ และค่าตั๋วจะขึ้นไปเท่าไหร่
อาร์เจนตินากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ในปี ค.ศ.1992 ยุครัฐบาลการ์โลส เมเนม และเริ่มใช้สกุลเงิน “เปโซ” อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ตั้งชื่อว่าเปโซเหมือนจะเอาเคล็ด เพราะเปโซแปลว่า “หนัก” กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ประมาณ 1 เปโซ ต่อ 1 ดอลลาร์
รัฐบาลเปิดเสรีทางการค้า ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ส่วนมากไปอยู่ในมือของเอกชนคนคุ้นเคย อัตราว่างงานสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก ขาดดุลการค้า เศรษฐกิจถดถอย ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ กู้ไอเอ็มเอฟ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ.2001 และต้องปล่อยลอยตัวค่าเงินเปโซในปี ค.ศ.2002
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะดีขึ้นหลังจากนั้นในรัฐบาลของ “เนสตอร์ กิร์ชแนร์” (ค.ศ.2003-2007) ตัวเลขส่งออกสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง แต่ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐก็สูงเช่นกัน นอกจากนี้ธุรกิจที่แปรรูปไปแล้วบางอย่างถูกซื้อกลับมาเป็นของรัฐ ซ้ำในปี ค.ศ.2005 รัฐบาลจัดการเปลื้องหนี้ไอเอ็มเอฟหมดในการจ่ายครั้งเดียว
ในยุค “คริสตินา กิร์ชแนร์” (ค.ศ.2007-2012) ประธานาธิบดี 2 สมัย ภริยาของ “เนสตอร์ กิร์ชแนร์” ดำรงตำแหน่งไม่นานก็ประกาศขึ้นภาษีส่งออกถั่วเหลืองจาก 35 เปอร์เซ็นต์เป็น 44.1 เปอร์เซ็นต์ คนประท้วงจนต้องถอย อยู่ๆ ไปอัตราคนว่างงานเริ่มสูงอีกครั้ง เงินเฟ้อยิ่งสูงกว่า เกิดการขนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เดือนมิถุนายน ค.ศ.2012 รัฐบาลออกมาตรการหลายข้อเพื่อกันดอลลาร์ไหลออก ไม่นานการแลกเปลี่ยนเงินตราในตลาดมืดก็เกิดขึ้น เรียกว่า Dólar Blue หรือ Blue Dollar ซึ่งตลาดนี้ให้ราคาดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยนทางการและอัตราของธนาคาร
การแลกเปลี่ยนบลูดอลลาร์เกิดขึ้นรอบแรกระหว่าง ค.ศ.2012-2015 พอรัฐบาลใหม่ของ “เมาริซิโอ มากรี” เข้าบริหารประเทศในอีก 4 ปีหลังจากนั้น มาตรการจำกัดดอลลาร์ได้รับการผ่อนคลาย แม้ตลาดมืดจะไม่หายไป แต่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ต่างจากเรตทางการมากนัก คนจึงไม่ค่อยเสี่ยงไปยุ่งกับบลูดอลลาร์
การเลือกตั้ง ค.ศ.2019 “อัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ” จากปีกหรือลัทธิการเมือง “เปรอนิสต์” (เหมือนเช่นเมเนมและสองสามีภริยากีร์ชแนร์) กลับมาอีกครั้ง และได้ออกมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายดอลลาร์เหมือนเดิม ตลาดมืดจึงกลับมาใหม่และยิ่งเฟื่องฟู และนับจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายรอบล่าสุดตั้งแต่ ค.ศ.2018 จนต้องพึ่งไอเอ็มเอฟอีกครั้ง ทำให้อาร์เจนตินาเป็นชาติที่ใช้บริการไอเอ็มเอฟเป็นจำนวนเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ (57,000 ล้านดอลลาร์) ค่าเงินเปโซร่วงลงอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อ 20 เปโซ ไปอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อ 150 เปโซในปัจจุบัน ตัวเลข 150 เปโซนี้คือค่าเงินที่เป็นทางการ ค่าเงินที่ใช้จ่ายกันจริงๆ อยู่ที่เกือบๆ 300 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์'
ตอนที่ผมมาถึงอาร์เจนตินาแรกๆ นั้น ยอมรับว่างงงันในความพิลึกพิลั่นกับค่าเงิน 2 มาตรฐานนี้ ค่าเงินตอนต้นเดือนพฤษภาคมหากเปิดดูในอินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อประมาณ 120 เปโซ แต่ถ้าเราเดินไปตามถนนเส้นหลักๆ ในกรุงบัวโนสไอเรส และได้ยินคนพูดคำว่า Cambio Cambio ซึ่งแปลว่า “เปลี่ยน” อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบนถนน Florida และถนน Lavalle แทบจะมีคนพูดคำนี้ทุกๆ 10 เมตร ซึ่งความหมายแท้จริงของ Cambio ก็คือ “แลกเงิน” คนชวนแลกเงิน เรียกว่า Arbolitos ราคาที่นำเสนออยู่ที่ 200 เปโซ บวกลบไม่เกิน 5 เปโซ เรียกว่าอัตรา “บลู” หากตกลงกันได้เราต้องเดินตามเขาไปยัง Cueva หรือ “ถ้ำ” นั่นก็คือร้านแลกเงินที่หลบอยู่ไม่ไกลจากถนนเส้นหลัก
นักท่องเที่ยวต้องไม่แลกกับ Arbolitos บนถนน เพราะจะเป็นที่สังเกตของมิจฉาชีพที่อาจฉกเงินไปหรือตามขู่กรรโชกในภายหลังได้ และนักท่องเที่ยวต้องตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนบลูดอลลาร์มาก่อนทางอินเทอร์เน็ต ไม่เช่นนั้นอาจถูกโก่งราคา และต้องมีตัวเลขเงินเปโซเมื่อคูณบลูดอลลาร์จดหรือจำไว้แล้ว เพราะบางทีเมื่อไปถึง “ถ้ำ” ฝ่ายรับแลกอาจกดตัวเลขรวมออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง นักท่องเที่ยวอาจสอบถาม Cueva ที่น่าไว้ใจกับโรงแรมที่พัก แต่ส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหา และบางทีโรงแรมที่พักก็รับแลกเหมือนกัน นอกจากเงินดอลลาร์แล้วก็มีเงินยูโรและเงินเรียลของบราซิลที่ Cueva รับแลก
เรื่องนี้กฎหมายอาจห้ามไม่ให้ทำ แต่ทำแล้วก็ไม่เป็นไร แม้แต่ธุรกิจให้บริการด้านเงินตราระหว่างประเทศ อย่างเวสเทิร์นยูเนียนก็รับแลกในอัตราบลู หากใครส่งเงินมาให้จากเมืองไทย เวสเทิร์นยูเนียนจะเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์แล้วเปลี่ยนเป็นอัตราบลู เราได้รับอีเมลยืนยันก็นำรหัสนั้นไปรับเงินกับสาขาของเวสเทิร์นยูเนียน เราจะได้รับในอัตราบลู ผมเคยใช้วิธีการโอนเงินผ่านแอปธนาคารไปให้เพื่อนที่เมืองไทย จากนั้นเขาก็เอาเงินนี้ส่งกลับมาเป็นบลูดอลลาร์
หากซื้อของในร้าน หรือกินข้าวในภัตตาคาร บางที่จะแสดงราคาทั้งสกุลเงินเปโซและดอลลาร์ให้ลูกค้าเลือกจ่าย ราคาที่แสดงนั้นเป็นอัตราแลกเปลี่ยนตามเรตบลู แต่ถ้าเราจ่ายด้วยบัตรเครดิต เราจะถูกชาร์จในอัตราแลกเปลี่ยนทางการ และถ้าเผลอไปกดเอทีเอ็ม เงินเปโซก็จะไหลออกมาในเรตทางการเช่นกัน ชาวต่างชาติจึงนิยมพกดอลลาร์มาแลกเป็นสกุลเปโซใส่กระเป๋า และไม่ควรแลกทีเดียวมากๆ เพราะทิ้งไว้ไม่กี่วันมาแลกใหม่ก็จะได้เปโซมากขึ้นไปอีก
ตอนที่ผมปรารภกับคนลาวในเมืองจาโกมุสว่าจะแลกเงินเรตบลูได้ที่ไหน ต่างมีคนสนใจอยากขอแลกไว้เสียเอง และในเมื่อผมอาศัยอยู่ในวัดหลวงอาร์เจนตินา เวลานั้นมีพระลาวจากวัดลาวโปซาดัสมาจำวัดอยู่ 3 รูป ท่านอาวุโสสูงสุดจึงได้รับโอกาสก่อน ผมแลก 200 ดอลลาร์ ได้เงินเปโซ 40,000 เปโซมาปึกใหญ่ เนื่องจากว่าท่านมีแต่ธนบัตรที่ได้จากการทำบุญของญาติโยมใบละ 100 หรือ 200 เปโซ ทำให้เวลาผมไปไหนมาไหนไม่สามารถเอาใส่กระเป๋าตังค์ได้ ต้องพกเป้ไปด้วย
เมื่อพระลาวกลับวัดลาวเมืองโปซาดัสไปแล้ว ค่าเงินเปโซตกลงไปอีก ผมแลกอีก 4-5 ครั้ง ไม่เคยต้องไป Cueva มีคนจ้องอยู่ตลอด พร้อมให้ราคาตามที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ ครั้งหนึ่งก่อนผมจะเข้าไปเที่ยวในกรุงบัวโนสไอเรส รัฐมนตรีเศรษฐกิจถูกกดดันอย่างหนัก ผมแลกเงินกับเอื้อยแต๋นก่อนไป ได้ 1 ดอลลาร์ต่อ 245 เปโซ เที่ยวบัวโนสไอเรสได้สามสี่วันก็กลับมาจาโกมุส ได้ข่าวว่ารัฐมนตรีลาออกแล้ว นึกว่าจะดีขึ้น ค่าเงินกลับหล่นไปถึง 340 เปโซ ก่อนจะค่อยๆ กระเตื้องกลับมาอยู่ที่เฉียดๆ 300 เปโซในเวลาต่อมา
เป็นที่สังเกตได้ว่า ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณสัปดาห์ละครั้งเนื่องจากค่าเงินที่ร่วงลง แต่มีอยู่ 3 สิ่งที่ราคาไม่ค่อยกระดิกขึ้นไป นั่นคือ กาแฟ เบียร์ และไวน์ นับว่าเป็นโชคดีเหลือล้นของคนที่พึ่งพา 3 สิ่งนี้
ระยะทางระหว่างวัดกับตัวเมืองจาโกมุส หรืออาจเรียกได้ว่า “ตัวอำเภอ” นั้นเฉลี่ยประมาณ 3 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับว่าจะไปตรงจุดไหน ไป-กลับเท่ากับประมาณ 6 กิโลเมตร ไม่มีรถเมล์ ไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่วัดไม่มีจักรยาน อูเบอร์ยังเข้าไม่ถึง จะโทร.เรียกแท็กซี่ก็พูดภาษาเขาไม่ได้ ถ้าผมจะเข้าเมืองต้องเดินสถานเดียว ซึ่งก็มีความจำเป็นต้องเดินเพราะต้องไปซื้ออาหารจำพวกขนมปัง ชีส แฮม ไข่ และกาแฟสำเร็จรูปมาเตรียมให้พระคุณเจ้า 2 ท่านสำหรับฉันเช้าอยู่แล้ว เฉลี่ยเดินเข้าตัวอำเภอทุกๆ 3 วัน
มื้อเที่ยงมีพ่อออก-แม่ออกที่เกษียณอายุแล้วมาถวายเพลถึงวัด เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้บิณฑบาต หลังพระฉันเสร็จ พ่อออก-แม่ออกเรียกให้ผมกินข้าวด้วยกัน กินเสร็จคุยกันต่อ พ่อออก-แม่ออกกลับบ้านประมาณบ่าย 2 โมง จากนั้นผมจะ “เซียสตา” หรืองีบนอนตอนบ่ายตามธรรมเนียมชาวละตินเสียอีกเกือบครึ่งชั่วโมง โอ้เอ้อยู่อีกสักพัก ราวบ่าย 3 โมงก็ออกเดิน ประมาณครึ่งชั่วโมงถึงตัวอำเภอ ก่อนอื่นจะแวะดื่มกาแฟ ผมมีร้านประจำอยู่ 4 ร้าน วนกันไปมา รู้สึกดีที่ได้ดื่มกาแฟสด กาแฟ 1 แก้วและมีเดียลูนาหรือครัวซองต์แบบฉบับอาร์เจนตินา 1 ชิ้น ตกชุดละ 300 เปโซ หรือประมาณ 50 บาทเท่านั้นสำหรับร้านใหญ่ และ 200 เปโซสำหรับร้านเล็ก
วันไหนไปถึงตัวเมืองเย็นหน่อย ผมก็ดื่มเบียร์แทนกาแฟ เบียร์คราฟต์สดจากถังไพนต์ละ 300 เปโซ ดื่มครั้งละไม่เกิน 2 ไพนต์ จากนั้นเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้ออาหารแล้วก็แวะโซนเครื่องดื่ม เบียร์ในอาร์เจนตินานั้นมีแบบขวดลิตรซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ราคาลิตรละประมาณ 30 บาทสำหรับเบียร์ตลาด ถ้าเป็นเบียร์คราฟต์ราคาเพิ่มขึ้น 2 หรือ 3 เท่า เบียร์ขวดในอาร์เจนตินามีระบบคืนขวด เมื่อเอาขวดไปคืนก็จะได้เงินประกันขวดกลับมา บางร้านเชื่อใจลูกค้าไม่ต้องจ่ายประกันขวด ดื่มเสร็จค่อยเอาไปคืน แต่ผมชอบซื้อเบียร์คราฟต์แบบกระป๋องขนาดประมาณครึ่งลิตร เดินดื่มระหว่างทางขากลับมากกว่า ราคาพอๆ กับเบียร์ขวดลิตร
สำหรับไวน์ ผมยกให้อาร์เจนตินาเป็นสวรรค์ของคนชอบดื่มไวน์ที่มีงบจำกัด ยิ่งถ้าชอบองุ่นพันธุ์มัลเบ็ก ท่านมาถูกที่แล้ว และราคาถูกเหลือเชื่อยิ่งกว่ากาแฟและเบียร์
ในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ มีไวน์ราคาตั้งแต่ 200 เปโซไปจนถึงราวๆ 2,000 เปโซ ส่วนมากอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 เปโซ เท่ากับไม่เกิน 5 ดอลลาร์ ทั้งหมดที่ว่ามารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 21 เปอร์เซ็นต์แล้ว
และเพื่อเป็นการตอบแทนเอื้อยแต๋นและอ้ายน้อย ผมจะซื้อใส่กระเป๋าทุกครั้งที่เดินเข้าเมือง บางครั้ง 1 ขวด บางครั้ง 2 ขวด
เอาอาหารเก็บที่วัด แล้วเอาไวน์ไปแกล้มมื้อเย็น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง
เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้
แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ
ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว
ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย
คำอวยพรปีใหม่ 2568
ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง
ก้าวสู่ปีใหม่ 2568
สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว