รัฐบาลอิตาลีชุดใหม่นายกฯรากฐานฟาสซิสต์

     อายุ 15 ปี จอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) เข้าร่วมงานการเมืองอย่างเข้มข้น จบเพียงมัธยมปลาย เป็นแกนนำจัดตั้งกลุ่มการเมืองสายฟาสซิสต์ ปี 2008 ขณะอายุ 31 นายกฯ ซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชน (minister of youth) เป็นรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในคณะรัฐบาล

     ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมโลนีประกาศตัวว่า “I am Giorgia, I am a woman, I am a mother, I am Italian, I am Christian” ย้ำว่าเธอจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป พร้อมคำขวัญ “God, homeland, family”

ภาพ: จอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni)
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/photo?fbid=645532306940316&set=pb.100044506566624.-2207520000..

มูลเหตุเลือกตั้ง 25 กันยา:

     เลือกตั้ง 25 กันยายน เป็นผลจากการยุบสภาเมื่อนายกฯ มาริโอ ดรากี (Mario Draghi) ลาออกเพราะไม่ได้เสียงสนับสนุนในสภามากพออีกแล้ว รวมถึงกรณีที่พรรคร่วม M5S แตกแยกภายในจากประเด็นควรส่งอาวุธสนับสนุนยูเครนหรือไม่ คนอิตาเลียนเบื่อหน่ายรัฐบาลเดิมๆ เมโลนีเป็นตัวเลือกสดใหม่

     Antonio Gramsci นักการเมืองสายมาร์กซิสต์อธิบายว่า เหตุที่รอบนี้ฟาสซิสต์มาแรงเพราะประเทศรุมเร้าด้วยสารพัดปัญหา ทั้งเงินเฟ้อสูงเกิน 9% แนวทางนาโตต่อยูเครนที่ชาวอิตาเลียนบางส่วนไม่เห็นด้วย น้ำมันเชื้อเพลิงแพงลิบลิ่ว ความแห้งแล้งปีนี้ ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วให้หนักกว่าเดิม คนอิตาเลียนจึงอยากลองพรรคใหม่ๆ

     Andrea Carlo จาก German Historical Institute ในกรุงโรมอธิบายว่าคนอิตาเลียนเหนื่อยหน่ายการเมือง (กระทรวงมหาดไทยรายงานว่าผู้ออกมาใช้สิทธิมีเพียง 64% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับเลือกตั้งปี 2018 ที่มา 72.9%) อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจึงมองหาพรรคแบบนั้น และชี้ว่าปัญหาเฉพาะหน้าคือน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติที่ช่วงนี้แพงลิบลิ่ว

     Nic Cheeseman จาก University of Birmingham อธิบายว่าอาหารแพงน้ำมันขึ้นราคา คนไม่เชื่อถือสถาบันประชาธิปไตยที่มีอยู่ ความไม่เท่าเทียมขยายกว้าง ชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ กังวลผู้อพยพลี้ภัยต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าประเทศนำวัฒนธรรมใหม่มากดทับวัฒนธรรมดั้งเดิม เหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่คนอิตาเลียนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพรรคใหม่ แนวทางใหม่

     ดังนั้น เหตุที่จู่ๆ พรรคขวาจัดได้รับคะแนนนำทุกพรรคไม่ใช่เพราะนิยมเผด็จการฟาสซิสต์ แต่เป็นเพราะเบื่อหน่ายพรรคการเมืองเก่าๆ ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก

     John Farina จาก George Mason University อธิบายว่า คนอิตาเลียนต้องการรัฐบาลที่ทำตามความต้องการของประชาชน หลายปีที่ผ่านมาประชาชนเห็นว่าพวกตนถูกนักการเมืองหลอก จึงเลือกพรรคใหม่หวังว่าพรรคใหม่จะทำตามความต้องการประชาชนไม่ตามต่างชาติหรืออียู แม้กระทั่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็นที่คนอิตาเลียนต่อต้านเพราะคิดว่าเป็นโทษต่อตนมากกว่า หวังรักษาอัตลักษณ์มากกว่าเปลี่ยนแปลงคล้อยตามกระแสโลก

     นักวิเคราะห์บางคนอธิบายว่า เมโลนีใช้ยุทธศาสตร์เลือกตั้งที่เด็ดเดี่ยวคือไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคสายอื่นๆ แม้ได้รับเชิญ (เป็นพรรคเล็กในพรรคร่วม) ตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาพรรค จับขั้วกับพรรคฝ่ายขวาอื่นๆ หวังว่าจะได้โอกาสตั้งรัฐบาลฝ่ายขวาและทำสำเร็จเมื่อกระแสการเมืองเบื่อหน่ายพรรคเก่าต้องการของใหม่ สามารถจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายขวา นำด้วยพรรคขวาจัดแนวเผด็จการฟาสซิสต์ของเธอ

พัฒนาการของพรรค Fdl:

     เมโนลีเริ่มก่อตั้งพรรค Fratelli d'Italia (Brothers of Italy หรือ FdI) เมื่อปี 2013 ยึดแนวคิดขวาจัด (far-right) มีรากฐานจากพรรค Alleanza Nazionale แนวฟาสซิสต์ (pro-fascist party) เป็นสายตรงของเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini,1883-1945) ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ที่เป็นพันธมิตรกับฮิตเลอร์ในสมัยสงครามโลกครั้ง 2

     ครั้งหนึ่งเมโนลีกล่าวว่า “มุสโสลินีเป็นนักการเมืองน้ำดี ทุกอย่างที่เขาทำ เขาทำเพื่ออิตาลี” อย่างไรก็ตามยอมรับว่าบางสิ่งที่มุสโสลินีทำนั้นไม่ถูกต้อง

     หลายคนตั้งคำถามว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้หมายถึงเผด็จการฟาสซิสต์ฟื้นตัวในศตวรรษที่ 21 นี้ใช่หรือไม่ คำตอบคือ “ใช่” ถ้าหมายถึงชื่อ แต่ฟาสซิสต์ปัจจุบันไม่เหมือนสมัยนั้น บริบทต่างกันมาก เมโลนีไม่ใช่ “มุสโสลินีหญิง” แน่นอน พรรคได้ลดทอนความเป็นฟาสซิสต์ มีความเป็นประชานิยมและชาตินิยม แม้เชิงหลักคิดจะต่อต้านสังคมนิยมและต่อต้านเสรีนิยม

     ฟาสซิสต์ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ทางชนชั้นตามแบบสังคมนิยม เห็นว่าทุกคนในประเทศต้องร่วมมือ พลเมืองทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกายเดียวกัน เช่นนี้ประเทศจึงจะเข้มแข็ง เห็นด้วยกับการทำสงครามเพื่อความรุ่งเรือง

     ข้อนี้นักวิชาการบางท่านอธิบายว่าลัทธิฟาสซิสต์เป็นแนวทางขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างหนึ่ง ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวและผลลัพธ์มากกว่าตัวแนวคิดหรือทฤษฎี ดังนั้นแม้เมโลนียกย่องเชิดชูมุสโสลินี แต่เมื่อบริหารประเทศนโยบายรัฐบาลอาจไม่สะท้อนความเป็นฟาสซิสต์มากนัก

แนวนโยบายสำคัญๆ:

     จอร์เจีย เมโลนี ไม่ส่งเสริม LGBT เห็นว่าเป็นภัยต่อสตรีเพศและครอบครัว ต่อต้านเพศเดียวกันแต่งงานกันเอง ต่อต้าน George Soros นักเก็งกำไรข้ามชาติ ต่อต้านผู้อพยพลี้ภัยที่กระทบต่อคนท้องถิ่นชนผิวขาว นิยมผู้นำที่เข้มแข็ง สนับสนุนสิทธิสตรี

     ในด้านนโยบายต่างประเทศ หลักสำคัญคือผลประโยชน์อิตาลีต้องมาก่อน ไม่เห็นด้วยหากจะคล้อยตามอียูทุกเรื่อง เห็นว่าอียูต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องภาคเอกชนและประชาชน

     น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติแพงคือประเด็นเฉพาะหน้าที่พูดถึงกันมาก

     เหล่านี้เป็นบางประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ความจริงแล้วประเทศมีปัญหาค้างเก่าโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่โตช้ามาก หนี้สาธารณะสูงลิบ อัตราว่างงานสูงต่อเนื่องที่ยากจะแก้ในเวลาอันสั้น

สลับเลือกพรรค-สลับเลือกขั้ว:

     การเมืองอิตาลีประกอบด้วยพรรคทุกแนว ทั้งซ้ายจัด ขวาจัด และพวกสายกลาง ถ้ามองแง่ลบคือไม่รู้จะเลือกพรรคใดเพราะเคยเลือกมาแล้วทุกแนว แต่รัฐบาลจากพรรคเหล่านี้ไม่ทำหน้าที่ของตน หลายคนจึงสนใจเลือกของใหม่ อะไรที่แตกต่างจากเดิม

     Fdl เป็นปรากฏการณ์ซ้ำเดิมที่พรรคเล็กๆ (เลือกตั้งปี 2018 ได้คะแนนเสียง 4.4%) กลายเป็นพรรคได้คะแนนสูงสุด เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เป็นอีกครั้งที่พรรคสุดโต่งได้รับเลือกเป็นแกนนำรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แม้ได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการฟาสซิสต์แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อขึ้นเป็นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายแบบฟาสซิสต์เต็มร้อย จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบททั้งในและนอกประเทศ

     ถ้ามองแง่บวกนี่คือความงดงามของประชาธิปไตยที่ ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าได้รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยเสมอไป อาจเป็นแนวเผด็จการฟาสซิสต์หรือสังคมประชาธิปไตยก็เป็นได้ (โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ SPD) เป็นการให้ประชาชนตัดสินใจเลือก เปิดโอกาสให้พรรคแนวเสรีนิยม สังคมนิยม เผด็จการได้ขึ้นมาบริหารประเทศ ทุกพรรคขึ้นมา-ลงไปด้วยการเลือกตั้ง

     ชัยชนะของจอร์เจีย เมโลนี นั้นหอมหวาน เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศด้วยวัย 45 ปี แต่จะอยู่ได้ครบเทอม 5 ปีหรือไม่ ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอิตาลีตอบว่ายากมาก ด้านประชาชนคนอิตาลีคาดหวังรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญโดยเร็วที่สุด เตรียมรับปัญหาที่อาจแรงขึ้นในปีหน้า หากยึดเป้าหมายเฉพาะหน้า ชื่อพรรค คำขวัญ นโยบายพรรค ไม่สำคัญเท่าแก้ปัญหาได้จริง

    ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์หรือสายใดๆ คนอิตาเลียนคาดหวังเหมือนกันคือขอให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น อยู่ดีมีสุข การที่ทุกพรรคทุกสายล้วนเคยเป็นรัฐบาลเป็นหลักฐานในตัวเอง ชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่ไม่ต่างจากคนประเทศอื่น นั่นคือชีวิตความเป็นอยู่ต้องมาก่อน

     รอบนี้เป็นรัฐบาลของพรรคฝ่ายขวา รอบหน้าคงกลับไปเป็นสายกลางบวกฝ่ายซ้ายอีกครั้ง ประชาธิปไตยอิตาลีดูเหมือนวนเวียนอยู่อย่างนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย

อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด

ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง

ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ

เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง