ตั้งตารอเลย
พรุ่งนี้ (๓๐ กันยายน) บ่ายสาม ได้รู้กันครับ หมู่หรือจ่า
หยุดแค่นี้หรือไปต่อ
ก็ถือเป็นข่าวใหญ่ในรอบปีครับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญคงจะยัดทะนาน นักข่าวน่าจะเดินเบียดกันเพราะไม่มีที่ว่างสำหรับใคร
การบ้านการเมืองก็เช่นกันครับ นาทีนี้ไม่มีที่ว่างให้ใครได้เดินกันง่ายๆ
ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง นักการเมือง ผู้นำมวลชน ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น
ย้ำกันอีกทีครับ แนวทางวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีอยู่ ๒ แนวทางหลักๆ
วินิจฉัยตามคำร้อง กับ วินิจฉัยตามคำร้องแต่เพิ่มเติมในรายละเอียดเพื่อความชัดเจน
กลับไปดูคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
...ประสงค์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา ตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๕๙ ง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗)
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๕๘ ง ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒) พล.อ.ประยุทธ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันจนถึงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า ๘ ปี นับแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป...
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องอย่างเคร่งครัด ประเด็นจะแคบแค่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ ๘ ปีในวันที่ ๒๕ สิงหาคมที่ผ่านมาหรือไม่
ถ้าใช่ก็จบ
ถ้าไม่ใช่ศาลก็ยกคำร้องไป
แต่ศาลอาจจะไม่วินิจฉัยต่อว่า ให้นับ ๑ ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ไปจบในวันที่เท่าไหร่ เพราะฝ่ายค้านไม่ได้ถามประเด็นดังกล่าว
หากฝ่ายค้านอยากให้เคลียร์ประเด็นนี้ ก็ต้องยื่นคำร้องใหม่
ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าไหร่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะขึ้นกับฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องใหม่เมื่อไหร่ด้วย
แต่กรณีที่จะวินิจฉัยในวันที่ ๓๐ กันยายนนี้ ใช้เวลาไปกว่า ๑ เดือน
อีกแนวทางศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเกินคำร้อง
คือหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าให้เริ่มนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ก็ต้องมีรายละเอียดครับว่า เริ่มนับหนึ่งเมื่อไหร่ ไปจบตอนไหน
หลักๆ มีอยู่ ๒ แนวทาง
๑.นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ฉะนั้นวาระ ๘ ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๘
๒.ให้เริ่มนับหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ จะไปสิ้นสุดวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๗๐
แต่หากตีความตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดทุกตัวอักษรจะมีแนวทางที่ ๓ ขึ้นมา
เพราะการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มิได้ใช้บทปกติในรัฐธรรมนูญ แต่ใช้บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๗๒
ให้ ส.ว. ทั้ง ๒๕๐ คน มีสิทธิ์ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ จึงมิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๕๘ ที่บัญญัติว่า
"...พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง..."
ฉะนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่มีการนับหนึ่ง
แนวทางนี้ดูจะสุดโต่ง แต่หากพิจารณาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า การนับหนึ่งตามมาตรา ๑๕๘ นั้นยังไม่ได้เริ่้มต้นขึ้น
ครับ...นั่นคือแนวทางที่ควรรู้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีแนวทางวินิจฉัยที่แตกต่างออกไปก็ได้
แต่ทั้งหมดก็ต้องอ้างอิงตามตัวบทในรัฐธรรมนูญ
จะให้เหตุผลเหมือนคดีซุกหุ้นในอดีตไม่ได้
ครั้งนั้น "จุมพล ณ สงขลา" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้น ให้เหตุผลว่า
"ผมก็ตัดสินของผมโดยยึดหลักประชาธิปไตยและหลักรัฐศาสตร์ว่า นายกฯ ทักษิณไม่ได้มีความผิด สาเหตุที่ผมตัดสินแบบนี้ก็เพราะผมเห็นแล้วว่าประชาชนเขาพร้อมใจกันเทคะแนนเสียงให้ไทยรักไทย ๑๑ ล้านเสียง นี่คือเสียงสวรรค์ของประชาชนที่พร้อมใจกันเลือกทักษิณให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสิบกว่าคนจะมาไล่เขาลงจากตำแหน่งได้อย่างไร วันนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายกฯ ทักษิณผิด ป่านนี้คุณรู้ไหมจะเกิดอะไรขึ้น คุณเห็นพลังประชาชนที่มาให้กำลังใจนายกฯ ทักษิณวันมาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไหม ขนาดกล้านรงค์ (จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.) ยังต้องหลบออกประตูหลังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไล่เขาออก ป่านนี้ศาลรัฐธรรมนูญถูกเผาไปตั้งแต่วันตัดสินคดีไปแล้ว"
สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
เพราะไม่มีม็อบไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อเท่านั้น
เช่นกันวันที่ ๓๐ กันยายน จะมีม็อบไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามวินิจฉัยเข้าข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เอามาเป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัยแน่นอน
ทุกอย่างเป็นไปตามตัวบทรัฐธรรมนูญครับ
ใครจะพอใจหรือไม่พอใจคำวินิจฉัย ไม่ใช่สิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านต้องคำนึงถึง
และไม่เป็นเหตุให้เบี่ยงเบนคำวินิจฉัย
ส่วนตัวยังมองบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวาระการดำรงตำแหน่งยังไม่สิ้นสุด
จบงานใหญ่ เคลียร์งานเก่าหมด อาจมีการแสดงสปิริตทางการเมือง
เป็นสปิริตที่นักการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่เคยคิดแสดงมาก่อน
เราอาจได้ยินวลีอมตะอีกครั้ง
ผมพอแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ