พอพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ยกประเด็นเรื่อง “เงินบาทแข็งไป” และอยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์ นักวิชาการหลายค่ายต่างก็ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง
นี่ย่อมเป็นหัวข้อที่สำคัญ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทยในวงกว้าง
บางช่วงก็จะมีคนบางวงการบ่นว่าเงินบาทแข็งไป
บางช่วงก็จะมีคนอีกบางวงการร้องเรียนว่าเงินบาทอ่อนไป
ช่วงนี้เสียงวิจารณ์ที่เราได้ยินก็จะเป็นไปในทางที่ว่า ถ้าเงินบาทอ่อนไปเรื่อยๆ จากวันนี้ที่ 37 บาทกว่าๆ ใกล้ 38 บาท เศรษฐกิจก็จะแย่ลงไปอีก
ถึงขั้นที่พลเอกประวิตรขอให้รัฐมนตรีคลังไปปรึกษาหารือกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ
และยังหลุดออกมาว่า อัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่แถวๆ 35 บาท
พอมีเสียงวิพากษ์ว่าการเมืองไม่ควรไปกดดันธนาคารกลาง พลเอกประวิตรก็ออกตัวว่า ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นเท่าไหร่ ขอให้ปรึกษากันเท่านั้น
ใครที่ติดตามคำชี้แจงของแบงก์ชาติมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นตอนที่มีเสียงบ่นว่าเงินบาทแข็งหรือเงินบาทอ่อนเกินไป ก็จะออกมาในแนวที่ว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด และธนาคารกลางก็จะคอยเฝ้าดูไม่ให้ “ผันผวน” มากเกินไป
แบงก์ชาติจะเตือนผู้ประกอบการว่าควรจะต้องบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากเกินไป
ส่วนใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะบอกว่า การแข็งหรืออ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นไปตามแนวโน้มตลาดในภูมิภาค
เปรียบเทียบให้เห็นถึงการแข็งขึ้นหรืออ่อนลงของเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเงินบาทก็จะอยู่ในเกณฑ์กลางๆ เสียเป็นส่วนใหญ่
ครั้งนี้ก็เช่นกัน
ผมเชื่อว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติก็คงจะพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามแนวทางเช่นนี้แหละ
สาเหตุใหญ่เป็นเพราะเงินดอลลาร์แข็งขึ้น เงินบาทและสกุลอื่นๆ ก็จึงอ่อนลง
เงินบาทไม่สามารถจะฝืนแนวโน้มโลกได้ เพราะเราใช้ระบบ “ลอยตัว” ไม่ใช่ “ตายตัว” อย่างที่เคยใช้มาก่อนจนเกิดปัญหาช่วง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” อย่างที่ได้เล่าไว้ในคอลัมน์เมื่อวานนี้
นักการเงินหลายท่าน รวมถึงคุณพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทรยืนยันว่า แบงก์ชาติไม่ควรจะตรึงค่าเงินบาท
เพราะแม้จะทำก็ทำได้ไม่นาน
เหตุผลก็เป็นที่รู้กันจากประสบการณ์จริงของแบงก์ชาติเองว่าต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการรักษาให้อัตราแลกเปลี่ยนไปยืนอยู่ตรงไหน
เหมือนที่นักการเมืองบางคนบางค่ายมักจะแสดงความเห็นไปในแนวทางนั้น
คุณพิพัฒน์บอกว่า ข้อเสนอให้ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างน่าเป็นห่วง “ถ้ามีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองแบบนั้นจริงๆ”
แล้วท่านก็วิเคราะห์ให้เห็นว่า นโยบายแบบนั้นทำได้จริงหรือไม่
โดยอธิบายว่าอัตราแลกเปลี่ยนคือ ราคาเปรียบเทียบของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง
และเป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับ shock ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ
การไปพยายามตรึงค่าเงินจึงเป็นการสะสมความไม่สมดุล และอาจจะนำไปสู่การปรับครั้งใหญ่ คล้ายๆ ที่เกิดกับวิกฤตต้มยำกุ้งได้
ค่าของเงินถูกกำหนดโดย demand และ supply ของเงินสกุลนั้น
เช่น demand เงินบาทก็คือความต้องการซื้อเงินบาท เช่น การส่งออกสินค้าและบริการ หรือเงินทุนเข้าประเทศ ที่อาจจะเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไร
ส่วน supply ก็คือความต้องการเอาเงินบาทออก เช่น การนำเข้าสินค้าและบริการ หรือเงินทุนไหลออก
ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนตามตลาดอยู่ที่ 37 แปลว่า demand และ supply ตกลงราคากันอยู่แถวนั้น
การตรึงค่าเงินที่แข็งกว่าที่ตลาด (เช่น 35) คือให้แบงก์ชาติไปตั้งโต๊ะซื้อเงินบาทในราคาที่แพงกว่าตลาดอยากจะขาย (หรือขายดอลลาร์ในราคาถูกกว่าที่ตลาดอยากจะซื้อ) แน่นอนก็คงตรึงอัตราแลกเปลี่ยนได้ในระยะสั้น
แต่ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยน คงมีคนเอาเงินบาทมายกให้ แลกกับดอลลาร์ จน reserves หมดหน้าตักได้กันง่ายๆ
ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อค่าเงินบาทก็เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่สะท้อนดุลการค้าสินค้าและบริการ (รวมถึงการท่องเที่ยว)
และดุลบัญชีทุน ที่สะท้อนความน่าสนใจของต่างชาติมาลงทุนในไทย และคนไทยไปลงทุนต่างประเทศ (ทั้งลงทุนทางตรง เงินกู้ ลงทุนในหุ้นและพันธบัตร)
คุณพิพัฒน์บอกว่า แม้จะมีคนบอกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่ทั้งในทฤษฎีและปฏิบัติก็ต้องยอมรับว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยนแน่ๆ โดยเฉพาะถ้าส่วนต่างนั้นใหญ่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ท่านให้นึกภาพว่าวันนี้ ใครเอาเงินไปฝาก 3 เดือน ดอลลาร์ได้เกิน 3% แล้ว ฝากเงินบาทได้ 0.55% แม้จะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
ถ้าไม่คิดว่าบาทจะแข็ง เอาเงินไปฝากดอลลาร์น่าสนใจมาก
ถ้าคนเอาออกเยอะๆ บาทก็อ่อน ยิ่งส่วนต่างตรงนี้ใหญ่ขึ้น ยิ่งทำให้ทางเลือกนี้เย้ายวนขึ้นไปอีก
ถ้าถามว่าเราตรึงค่าเงินให้นิ่งนานๆ ได้ไหม คำตอบก็คือได้
แต่แบงก์ชาติคงต้องแทรกแซงค่าเงินกันมากกว่านี้
และเราต้องยอมเห็นทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นลงตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและปัจจัยพื้นฐาน
คุณพิพัฒน์บอกว่า ในประเทศที่ตรึงค่าเงินไว้กับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็ต้องยอมสละอัตราดอกเบี้ยให้ขยับตามดอกเบี้ยของประเทศนั้น
เช่น ถ้าจะยึดค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ต้องเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไปตาม Fed จะมานั่งคิดนั่งเลือกคงไม่ได้
ดังนั้นถ้าวันนี้เราอยากเห็นค่าเงินแข็งขึ้น เราก็คงต้องลุ้นให้การท่องเที่ยวกลับมาเยอะๆ เร็วๆ เร่งเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ
ทำประเทศให้น่าสนใจ น่าลงทุน หรืออาจจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไม่ให้ส่วนต่างใหญ่ขนาดนี้
การแทรกแซงค่าเงินทำได้แค่ชะลอ หรือลดความผันผวนระยะสั้นเท่านั้น
แต่จะยืนท้าลมแรงๆ นานๆ คงไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่สอดคล้องกัน
หรือไม่งั้นก็ต้องใช้ capital control คือห้ามส่งเงินออก ซึ่งก็คือการปิดประเทศกันไปเลย แต่ต้นทุนคงใหญ่มหาศาลทีเดียว และไม่ work ในระยะยาวอยู่ดี
ข้อสรุปที่เป็นสัจธรรมแห่งชีวิตก็คือ
“เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี นโยบายทุกอย่างมีต้นทุนเสมอ”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ