ลี้ภัยในแดนฟ้าขาว

    พ.ศ.2518 กลางเดือนเมษายนเขมรแดงกรีฑาทัพเข้ากรุงพนมเปญ ปลายเดือนเดียวกันกรุงไซง่อนแตก เดือนสิงหาคมขบวนการปฏิวัติลาวหรือปะเทดลาวที่เวียดนามเหนือสนับสนุนเข้ายึดนครหลวงเวียงจันทน์ ในภูมิภาคอินโดจีน เว้นไทยและพม่า ระบอบคอมมิวนิสต์มีชัยเหนือโลกประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก

    ในส่วนของลาวมีผู้หลบลี้หนีภัยข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยทั้งช่วงลาวแตก และผู้ที่หลบหนีการเรียกตัวไปสัมมนาหลังจากนั้น รวมๆ แล้วมีมากถึงราว 3 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรลาวขณะนั้นทั้งประเทศ

    พวกเขาอาศัยอยู่ตามศูนย์อพยพในหลายจังหวัดภาคอีสาน ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าให้การช่วยเหลือประสานงานส่งต่อไปยังประเทศที่สาม อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา

    อาจจะไม่เคยได้ยินว่ามีอาร์เจนตินาอยู่ในบัญชีประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัยสงครามชาวลาว ผมเองก็ไม่ทราบจนกระทั่งก่อนหน้าเดินทางมายังอาร์เจนตินาไม่นาน

    ชาวลาวในศูนย์อพยพส่วนใหญ่อยากเดินทางไปตั้งรกรากในสหรัฐ แต่คิวเข้าสหรัฐนั้นยาวและการคัดกรองก็ค่อนข้างเข้มงวด หลายครอบครัวตกสัมภาษณ์ ขณะที่อาร์เจนตินาในเวลานั้นเป็นประเทศที่ผู้อพยพจำนวนมากไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตั้งอยู่ส่วนใดของโลก

    อาร์เจนตินาไม่มีเงื่อนไขมากนัก และว่ากันว่าเป็นเพราะรัฐบาลทหารที่เข้ายึดอำนาจจาก “อิซาเบล เปรอน” เมื่อ พ.ศ.2519 กำลังแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศ (แม้ว่าจะได้รับการยอมรับจากสหรัฐอยู่แล้ว) และความที่เป็นรัฐบาลทหารชาตินิยมจึงเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์ แถม UNHCR ยังมอบเงินให้ผู้ลี้ภัยครอบครัวละ 1 หมื่นเหรียญฯ ผ่านรัฐบาลอาร์เจนตินา

    ผู้ที่สมัครใจเดินทางมาอาร์เจนตินาส่วนมากลี้ภัยอยู่ที่ศูนย์ฯ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวนหนึ่งจากศูนย์ฯ จังหวัดหนองคาย และอีกไม่มากจากศูนย์ฯ จังหวัดเลย มีรถไปรับเพื่อเดินทางเข้าศูนย์พักคอยที่ย่านดินแดง กรุงเทพมหานคร ก่อนขึ้นเครื่องบินไปยังสหรัฐ แล้วต่อเครื่องมาลงที่สนามบิน Ezeiza กรุงบัวโนสไอเรส

    การเดินทางมีขึ้นรอบแรกเมื่อ พ.ศ.2522 และรอบที่ 2 พ.ศ.2523 รวมจำนวนผู้อพยพที่มาถึงอาร์เจนตินา 293 ครอบครัว แบ่งเป็นชาวลาว (รวมม้งจำนวนหนึ่ง) 262 ครอบครัว ชาวกัมพูชา 25 ครอบครัว และเวียดนาม 6 ครอบครัว

    ครอบครัวหนึ่งๆ จะมีพ่อแม่ในวัยทำงาน ลูกๆ อายุประมาณ 4-12 ขวบ สมาชิกครอบครัวหนึ่งมีอย่างน้อย 3 คน เมื่อถึงกรุงบัวโนสไอเรส ทางรัฐบาลอาร์เจนตินาก็จัดหาที่อยู่เป็นอาคารชั่วคราวในสนามขนาดใหญ่ ก่อนส่งไปตามเมืองต่างๆ ที่มีพืชผักผลไม้ให้เก็บเกี่ยว

    ผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่เป็นในผู้ลี้ภัยได้เล่าให้ผมฟังว่า ช่วงแรกทำงานโดยที่ไม่ได้รับค่าแรง และไม่ได้เรียนภาษาสเปนตามที่ตกลงกันไว้ เงินที่ UNHCR ให้มาครอบครัวละ 1 หมื่นเหรียญฯ ก็ได้รับครอบครัวละ 860 เหรียญฯ เท่านั้น รัฐบาลอาร์เจนตินาอ้างว่านำเงินที่เหลือไปจ่ายเป็นค่าที่อยู่และค่าอาหารหมดแล้ว ไม่นานคนลาวรวมตัวกันประท้วง UNHCR ทราบเรื่องก็เข้ามาแก้ปัญหาโดยการซื้อบ้านให้ครอบครัวละหลัง หางานให้ทำ และจัดครูมาสอนภาษา

     รัฐบาลอาร์เจนตินาตั้งเป้าจะรับผู้ลี้ภัยให้ได้ถึง 5,000 ครอบครัว แต่ UNHCR สั่งให้หยุดไว้แค่นั้น

    เวลาผ่านไปหลายครอบครัวก็ย้ายหลักแหล่งไปตามความถนัดในการประกอบอาชีพ ชาวลาวอาศัยอยู่มากที่สุดในเมืองโปซาดัส (Posadas) จังหวัดมิซิโอเนส ทางเหนือของประเทศซึ่งได้ชื่อว่า “ดินแดนของดินแดง” นั่นคือดินมีสีแดง ทำการเกษตรได้ดี ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่ต่างจากลาวมากนัก สามารถปลูกพืชแบบเดียวกับที่ลาวได้หลายชนิด

    ปัจจุบันชาวลาวผู้อพยพทั้งหมดได้รับสัญชาติอาร์เจนตินา เด็กที่เกิดใหม่อยู่ในรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 โดยรุ่นที่ 1 คือหัวหน้าครอบครัวเมื่อ 43 ปีก่อน เวลานี้บางคนเป็นทวดหรือไม่ก็ปู่ยาตายาย อายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 70 กลางๆ รุ่นที่ 2 คือบรรดาเด็กน้อยที่นั่งเครื่องบินมาเมื่อ พ.ศ.2522 และ 2523 ตอนนี้อายุประมาณ 50 ปี รุ่นที่ 3 อายุราว 10-20 กลางๆ และบางครอบครัวมีรุ่นที่ 4 แล้ว ส่วนมากเป็นเด็กก่อนวัยเรียน และเริ่มมีเด็กลูกครึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

    เมืองที่ชาวลาวอาศัยอยู่รองลงมาจากโปซาดัส อยู่ห่างลงมาทางใต้ประมาณ 1,100 กิโลเมตร ชื่อว่าเมืองจาโกมุส (Chascomus) อยู่ในเขตจังหวัดบัวโนสไอเรส ไกลจากเมืองหลวงกรุงบัวโนสไอเรส 130 กิโลเมตร และอีกเมืองที่มีชาวลาวอาศัยอยู่เป็นลำดับรองลงไป อยู่ห่างจากจาโกมุสประมาณ 30 กิโลเมตร ชื่อเมืองรันโจ (Rancho) โดยจาโคมุสมีคนลาวประมาณ 30 ครอบครัว เมืองรันโจมีประมาณ 20 ครอบครัว คนลาวในอาร์เจนตินารุ่น 1 และรุ่น 2 จะรู้จักกันทั้งหมดและมีการไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ

    สำหรับตัวเลขจำนวนประชากรเชื้อสายลาวในอาร์เจนตินาทั้งหมด ผมยังไม่พบใครที่สามารถให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดว่ามีอยู่เท่าไหร่ แต่เท่าที่ทราบคือแม้จะเป็นรุ่นที่ 3 และ 4 เข้าไปแล้ว จำนวนคนเชื้อสายลาวในอาร์เจนตินากลับเพิ่มขึ้นไม่มาก หลายคนเมื่อมีโอกาสก็จะย้ายถิ่นฐานหรือไปหางานทำในสหรัฐ บางคนไปฝรั่งเศส หรือดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส หรือแม้แต่กลับ สปป.ลาว สาเหตุหลักเพราะภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาย่ำแย่ลงทุกวัน พวกเขามาถึงอาร์เจนตินาตอนที่ค่าเงิน 1 เปโซมีมูลค่ามากกว่า 1 เหรียญสหรัฐ ต่อมาไม่นาน 1 เปโซเท่ากับ 1 เหรียญสหรัฐ จนปัจจุบันมากกว่า 200 เปโซถึงจะแลกได้ 1 เหรียญสหรัฐ

    ผมได้รับการบอกกล่าวว่า เมื่อ 13 ปีก่อนชาวลาวที่มีบ้านในเมืองจาโคมุสครอบครัวหนึ่งได้ย้ายไปอยู่สหรัฐ เจ้าของบ้านได้พบกับพระกิตติโสภณวิเทศ (พระเศรษฐกิจ สมาหิโต) หรือหลวงพ่อเศรษฐี เจ้าอาวาสวัดนาคปรก กรุงเทพมหานคร ตอนที่หลวงพ่อเศรษฐีเดินทางไปสหรัฐ ชาวลาวท่านนั้นเกิดศรัทธาต่อหลวงพ่อเศรษฐี ถวายบ้านและที่ดินที่เมืองจาโคมุสสำหรับดัดแปลงเป็นวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่งในอเมริกาใต้ทั้งทวีป ยังไม่มีวัดไทยแม้แต่แห่งเดียว (ส่วนวัดลาวนั้นมีแล้วที่เมืองโปซาดัส) ต่อมาหลวงพ่อเศรษฐีมอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนาคปรกท่านหนึ่งมาดูแลรับผิดชอบในตำแหน่งเจ้าอาวาส และตั้งชื่อวัดว่า “วัดหลวงอาร์เจนตินา”

    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวัดหลวงอาร์เจนตินามักจะว่างเว้นพระสงฆ์จำวัดครั้งละนานๆ ยิ่งมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาพระไทยห่างหาย ปีนี้โควิด-19 ซาลง พระธรรมทูตสายต่างประเทศ 2 รูปจะมาจำพรรษา โดยผมจะขอเป็นเด็กวัด หรือที่ภาษาลาวเรียกว่า “สังกะลี” สักระยะหนึ่ง

    เราเดินทางด้วยรถบัสจากกรุงบัวโนสไอเรสมาถึงสถานีขนส่งเมืองจาโกมุสตอนเย็นวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ผู้ที่มารับเราชื่อ “อุ้ม วงวิจิต” อดีตทหารในกองทัพลาว บ้านเดิมอยู่แขวงสะหวันนะเขต ผมเรียกแกว่า “พ่ออุ้ม” ปีนี้พ่ออุ้มอายุ 73 ปีแล้ว เป็นหัวหน้าครอบครัวที่เดินทางมาอาร์เจนตินาพร้อมภรรยาและลูกๆ เมื่อ พ.ศ.2522 เวลานี้ได้รับเงินสวัสดิการผู้สูงอายุจากรัฐบาลอาร์เจนตินา สมัยที่ยังไม่เกษียณพ่ออุ้มทำงานสารพัดอย่าง

    ตอนหลังผมได้คุยกับแกบ่อย เล่าให้ฟังว่า สมัยที่อยู่ในกองทัพลาวนั้นแกเป็นทหารเสนารักษ์ ต้องเข้าไปในสมรภูมิเพื่อปฐมพยาบาลช่วยชีวิตทหารลาวที่ได้รับบาดเจ็บ แกได้รับปืนพก 1 กระบอก หากพบร่างบาดเจ็บที่พอขนกลับไปรักษาตัวได้ก็จะยกใส่เปลหาม หากพบร่างที่บาดเจ็บสาหัสชนิดที่ว่าไม่รอดแน่ แต่ยังไม่ตาย กำลังทุรนทุรายอย่างหนัก แกก็จะกล่าวขอขมาลาโทษต่อเพื่อนร่วมชาติผู้ชะตาอาภัพ แล้วใช้ปืนพกกระบอกนั้นช่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน และครั้งหนึ่งแกต้องยิงเพื่อนตัวเองแท้ๆ ทั้งน้ำตา

    ในค่ายผู้อพยพที่จังหวัดอุบลราชธานี แกเล่าว่าผู้ลี้ภัยที่เป็นสตรีอายุน้อยและยังไม่มีครอบครัวเมื่อเข้าไปช่วงแรกๆ จะเป็นที่หมายปองของเจ้าหน้าที่ไทยบางคน หลายรายถูกบังคับขืนใจ พ่ออุ้มเคยช่วยให้สตรีคนหนึ่งพ้นเงื้อมมือเจ้าหน้าที่ชั่วไปได้ด้วยการโกหกว่าเธอเป็นคนรักของตน

    พ่ออุ้มขับรถยนต์ยี่ห้ออัลฟาโรเมโอ แต่ในอาร์เจนตินา รถอิตาเลียนไม่ใช่รถหรู และรถของพ่ออุ้มก็ต้องมีอายุ 20 ปีเป็นอย่างต่ำ จากสถานีขนส่งถึงวัดหลวงอาร์เจนตินาระยะทาง 2.5 กิโลเมตร พ่ออุ้มจอดหน้าประตูวัดที่มองจากข้างนอกดูไม่ต่างจากบ้านคน มีพระสงฆ์ชาวลาว 3 รูปจาก “วัดรัตนรังสิยาราม (แก้วสว่าง)” หรือวัดลาวเมืองโปซาดัสได้รับกิจมนต์มายังจาโกมุสในช่วงเวลานี้พอดี พระลาว 2 รูปที่ยังหนุ่มช่วยยกกระเป๋าเดินทางของพวกเราลงจากรถพ่ออุ้มและนำเข้าไปในวัด แล้วจึงสนทนาทำความรู้จัก และดูจะสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

    สองวันต่อมาพระทั้ง 5 รูปได้รับกิจนิมนต์ไปยังบ้านชาวลาวหลังหนึ่งในเมืองรันโจ เป็นงานสวดบังสุกุลทำบุญกระดูกให้กับผู้ที่เพิ่งวายชนม์ไปไม่นาน โดยวิธีปฏิบัติของทางบ้านเมืองอาร์เจนตินานั้น เมื่อมีคนตายลงและได้รับใบมรณบัตรแล้วก็จะนำร่างไปเผา ญาติรับเศษกระดูกเถ้าถ่านกลับบ้าน ชาวคริสต์โดยทั่วไปนำเถ้ากระดูกไปฝังในสุสาน ส่วนชาวลาวเก็บไว้ที่บ้าน และตั้งแต่มีวัดลาวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2540 พิธีทางพุทธศาสนาก็ได้รับการรื้อฟื้น

    สำหรับการแต่งกายนั้นยังมีผู้หญิงไม่น้อยที่คงนุ่งผ้าถุงและแต่งตัวเหมือนอย่างอยู่ที่เมืองลาว มีผ้าแพรห่มเฉียงสะพายแล่ง ส่วนผู้ชายแต่งตามถนัด แต่ส่วนมากจะคาดผ้าข้าวม้าห่มสะพายแล่งเช่นกัน

    พอพระขึ้นบทสวดพุทธชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากา ญาติโยมก็เริ่มตักบาตร พื้นที่ตักบาตรจัดแยกส่วนออกไปจากห้องทำพิธี บาตรวางเรียงกัน เสริมด้วยพานสีทองและขันสีเงิน ของที่จะใส่บาตร ได้แก่ ข้าวเจ้านึ่ง ใส่ในถุงพลาสติกใบเล็กๆ (ไม่สามารถหาข้าวเหนียวได้) ขนมจำพวกเวเฟอร์ แครกเกอร์ อัลฟาฆอร์ หรือคุกกี้เคลือบคาราเมลแบบอาร์เจนตินา ผลไม้มีส้ม แอปเปิล และกล้วยเป็นหลัก ผู้ตักบาตรยกของที่จะใส่บาตรแต่ละชิ้นขึ้นจรดหน้าผากก่อนวางลงในบาตร ธนบัตรวางในฝาบาตร พวกเด็กๆ ก็ร่วมตักบาตร และทำเหมือนผู้ใหญ่ได้อย่างคล่องแคล่ว

    ตักบาตรเสร็จเจ้าภาพถวายพุ่มเงินทำบุญคล้ายพุ่มผ้าป่า ถวายข้าวพระพุทธ ถวายข้าวพระสงฆ์ เมื่อพระฉันเพลเสร็จ ญาติโยมก็ได้เวลามื้อเที่ยงของตัวเอง ส่วนใหญ่จับกลุ่มกินที่ลานหลังบ้าน นอกจากอาหารสำรับเดียวกับที่พระฉันแล้วก็ยังมีส่วนที่ทำเสริมขึ้นมา เพราะแขกมีจำนวนมาก ไม่เพียงแต่อาหารลาวทั่วไป ยังมีอาหารอาร์เจนตินาอย่างเนื้ออาซาโดหรือเนื้อย่าง บางทีใช้หมูแทน เรียกอาซาโดเหมือนกัน ซึ่งอาซาโดคือการย่างเนื้อใช้ไฟอ่อนๆ นิยมนำส่วนซี่โครงมาย่าง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เครื่องปรุงมีเพียงเกลือเท่านั้น นี่คือวิธีการของ “เกาโช” หรือคนขี่ม้าเลี้ยงวัวในสมัยก่อน

    ในบรรดาลูกหลานชาวลาวที่ร่วมวง คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาพูดลาวไม่ได้ เช่นเดียวกับหลายคนที่เกิดในอาร์เจนตินา แต่ฟังภาษาลาวพอเข้าใจ เพราะฟังพ่อแม่หรือปู่ยาตายายมาตั้งแต่เด็ก

    ตำรวจคนนี้เปิดพุงให้ผมดู สภาพเหมือนถูกคว้านท้องมา มีคนเล่าเป็นภาษาลาวให้ผมฟังว่า วันเกิดเหตุเขาประจำอยู่ที่ป้อมตำรวจแห่งหนึ่ง พอถึงเวลาออกเวรก็ถอดเสื้อกันกระสุนออก ทันใดนั้นมีวิทยุเข้ามาว่านักโทษแหกคุกกำลังขับรถมุ่งหน้าผ่านป้อมของเขา ไม่ทันกลับไปใส่เสื้อกันกระสุน เขาเรียกรถต้องสงสัย อีกฝ่ายไม่จอด แต่สาดกระสุนใส่ท้องของเขา 7 นัดแล้วไปต่อ ส่วนตำรวจหนุ่มถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์

    วันนี้แม้แดดจ้า แต่อากาศไม่ร้อน เดือนพฤษภาคมของซีกโลกใต้ตรงกับฤดูใบไม้ร่วง อีกเดือนเดียวก็เข้าสู่ฤดูหนาว เที่ยงๆ พวกผู้ชายเริ่มดื่มเบียร์กันแล้ว ทั้งรุ่น 1 รุ่น 2 และรุ่น 3 จำนวนหนึ่ง เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับอากาศแบบนี้มีแต่เบียร์

     แต่ไม่แน่ คนรุ่น 1 อาจกำลังคิดถึงเหล้าลาว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก