ได้เวลาตัดสินใจเสียที

การควบรวมกิจการของธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยที่ไม่ได้ทำให้กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทำกันมานานแล้ว และผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะได้รับบริการที่ดีขึ้น ได้มีนวัตกรรมต่างๆ ที่พัฒนาคุณภาพชีวิต และหลายๆ ครั้งก็จะได้ราคาที่ถูกลงเพราะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็จะได้ประโยชน์จากการ “แบ่งปัน” ทั้งข้อมูล ภูมิปัญญา ความสามารถ ทรัพยากร ที่จะทำให้มีศักยภาพการแข่งขันที่ดีขึ้น เรื่องการควบรวมที่หลายคนติดตามในช่วงเวลานี้

คือการควบรวมระหว่าง True กับ DTAC ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม เรื่องนี้ยืดเยื้อมานานแล้ว ทางคณะกรรมการ กสทช.ทำประชาพิจารณ์ไปหลายครั้งแล้ว ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะมองเห็นประโยชน์มากกว่าโทษ มีเพียงนักวิชาการบางคนเท่านั้นที่คิดไปเองแบบตีตนไปก่อนไข้ว่าจะเป็นการ “ผูกขาด” และจะทำให้ “ราคาแพงขึ้น”

“ผูกขาด” นั้นไม่ใช่แน่ เพราะยังมีผู้ให้บริการรายอื่นอยู่ ทั้ง AIS และ NT และ AIS ก็เป็นผู้ที่มีส่วนครองตลาดสูงสุดในเวลานี้ หลังจากการควบรวมของ True และ DTAC แล้ว บริษัทหลังการควบรวมจะไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาด แต่จะมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ผลักดันให้ AIS ต้องปรับปรุงการให้บริการเพื่อปกป้องส่วนครองตลาดของตน และผู้ให้บริการทุกคนต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคมานำเสนอ เพื่อช่วงชิงส่วนครองตลาด

“ราคาแพงขึ้น” ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น ในเมื่อยังมีการแข่งขันที่ไม่ใช่การผูกขาด และหากยังไม่มีเทคโนโลยี การบริการที่ดีกว่า ผู้ประกอบการรายใดขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลให้ผู้บริโภคยินดีจ่ายราคาที่เพิ่มขึ้น ก็เท่ากับฆ่าตัวตาย ไม่มีใครเขาทำกัน แต่ก็มีคนมโนไปเองแบบไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ในการแข่งขันที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ถ้าหากมองฉากทัศน์ตามความเป็นจริง เราเชื่อว่าการแข่งขันด้านราคาจะเข้มข้นขึ้น เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างด้านเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรม และด้านบริการได้ ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาและการใช้การส่งเสริมการขาย (Sakes Promotion) ในรูปแบบของสิ่งล่อใจทางการเงิน (Financial Incentives) ที่เป็นการลด แลก แจก แถมนั้น น่าจะเข้มข้นมากขึ้น

การพูดว่าการควบรวมของ True และ DTAC เป็นการผู้ขาดจึงเป็นการมโนไปเอง เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีความจริงเชิงประจักษ์ใดๆ สนับสนุนการมโนดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นคัดค้านการควบรวมดังกล่าว คณะกรรมการ กสทช.จึงขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กสทช.จะต้องพิจารณาอนุมัติการควบรวมหรือไม่ บัดนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบกลับ กสทช.ตามที่ได้ขอให้ศึกษาประเด็นการควบรวมกิจการของ True และ DTAC คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับกรณีการรวมธุรกิจ ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ โดยผู้ควบรวมจะต้องจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. ทั้งนี้สามารถทำได้ทั้งล่วงหน้าและหลังการควบรวม ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาสอดคล้องและตรงกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่ กสทช.มอบหมายให้ทำการศึกษาประเด็นการควบรวมกิจการของ True และ DTAC เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การควบรวมระหว่าง True และ DTAC ที่ยืดเยื้อมานานจะได้มีทางออกเสียที เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กรุณาพิจารณาชี้แนะทางออกตามที่ กสทช.ร้องขอ ก็ควรถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจให้ตรงตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

การควบรวมครั้งนี้มีประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่จะได้รับบริการที่ดีขึ้น และจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มว่าจะเข้มข้นขึ้น ผู้ประกอบการก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกาภิวัตน์ที่ดีขึ้น เพราะเป็นการควบรวมระหว่างบริษัทไทยและบริษัทของยุโรป ทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันความรู้ และภูมิปัญญา ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน สามารถลดต้นทุนในการแสวงหานวัตกรรมเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าให้แก่ผู้บริโภค เป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทที่มีคนไทยเป็นเจ้าของในเวทีโลก

คนที่ห่วงเรื่องราคาแพงขึ้นนั้น ถ้าหากเข้าใจกลไกการแข่งขันทางการตลาดจะไม่คิดเช่นนั้นแน่นอน ในขณะเดียวกัน กสทช.ก็มีอำนาจตามประกาศฉบับปี 2561 ในการออกมาตรการหรือเงื่อนไขเพื่อป้องกันการกระทำใดๆ ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติและผู้บริโภค รวมทั้งการกำหนดเพดานของราคาค่าบริการตามหลักการของการแข่งขัน ถ้าหากผู้ให้บริการรายใดไม่สามารถสร้างความแตกต่างด้านเทคโนโลยีและการบริการได้ การขึ้นราคาคงไม่ใช่ยุทธศาสตร์การตลาดที่ดี การที่ผู้บริการรายใดจะคิดราคาแพงกว่าผู้บริการรายอื่นนั้น เขาจะต้องสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนจนทำให้ผู้บริโภคมองเห็นความคุ้มค่าที่จะยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้น ถ้าเทคโนโลยีไม่มีความแตกต่างกันก็ต้องสู้ด้วยราคา ถ้าหากบริการไม่แตกต่างกันก็ต้องสู้ด้วยราคา เวลานี้ธุรกิจโทรคมนาคมยังมีเทคโนโลยีและการบริการที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ให้บริการคงไม่คิดจะทำลายธุรกิจของตัวเองด้วยการขึ้นราคา โดยไม่มีเหตุผลให้ผู้บริโภคพิจารณาว่าสมควรจะจ่ายในราคาที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการยุค 4.0 ตระหนักดีว่าจะต้องดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล ในยุคนี้ขบวนการพิทักษ์สิทธิ์ของผู้บริโภค (Consumerism) มีความเข้มแข็งมาก ผู้บริโภคจะสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น ไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่สนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น พวกเขายังพร้อมที่จะพากันประณามผู้ประกอบการรายนั้นบนพื้นที่ Social Media ในลักษณะที่เราเรียกกันว่า Drama ถึงเวลานั้น ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผู้ประกอบการจะเสียหาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กสทช.ต้องตัดสินใจตามคำชี้แนะของกฤษฎีกา อย่าให้มีการยืดเยื้อต่อไปอีกเลย เพราะความล่าช้าในการตัดสินใจจะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และประเทศชาติที่จะต้องแข่งขันในเวทีโลกาภิวัตน์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัคนาธนูกับเค้าโครงชีวิตปี 2568

ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุขภาพอนามัย-หนี้สิน-ลูกน้องบริวาร และเกือบตลอดปีผู้หลักผู้ใหญ่อวยสถานะ-ยศ-เงินทองให้ แต่มีช่วงซ้อมรับทุกข์และการได้ความผิดที่ไม่ได้ก่อ

เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร

ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง

'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้

ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง

ได้ฤกษ์ 'นายพล' ล็อต 2

ผ่านเดดไลน์ตามคำสั่ง ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทุกหน่วยส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

'ดร.เสรี' กรีดเหวอะ! ใครมีลูกสาวเก่งพอที่จะเป็นนายกฯ ต้องบอกลูกให้มีผัว 9 คนอยู่ใน 9 ภาค

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า ใครมีลูกสาวที่เก่งพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องบอกลูกนะคะ