นั่นคือคำถามใหญ่จากหลายฝ่าย เมื่อนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตัดสินใจทำอะไรหลายอย่างที่ละเมิดข้อตกลงและคำร้องขอจากเพื่อนสมาชิกอาเซียนด้วยกันอย่างไม่สนใจไยดีกับปฏิกิริยาทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้ ศาลเมียนมาตัดสินจำคุกอดีตผู้นำพลเรือน อองซาน ซูจี 3 ปี พร้อมใช้แรงงานหนักข้อหาทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของเธอได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย
อองซาน ซูจี ปีนี้อายุ 77 ปี ก่อนหน้านี้ก็ถูกศาลทหารพม่าตัดสินในข้อหาอื่นๆ จำคุกรวมกันแล้วกว่า 20 ปี
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ศาลมีคำสั่งให้ต้อง “ใช้แรงงานหนัก” หนักด้วย
แต่ไม่มีรายละเอียดว่า “แรงงานหนัก” ที่ว่านี้คืออะไร
คนที่เคยติดคุกในพม่าบอกสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ชีวิตนักโทษมีความยากลำบากในเรือนจำเมียนมา
และในช่วงหลังนี้มีรายงานข่าวเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการบังคับให้ใส่กุญแจมือและใช้แรงงานหนักในเรือนจำ
นอกจากซูจีแล้ว อดีตประธานาธิบดีเมียนมา วิน มินต์ ผู้เป็นจำเลยร่วม ต้องรับโทษเช่นเดียวกับซูจีในคดีเดียวกันเหมือนกัน
หากรวมคำตัดสินของศาลพม่าในคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โทษจำคุกรวมกันมากกว่า 17 ปี
แต่เธอปฏิเสธทุกข้อหา
ข่าวบอกว่าทุกวันนี้เธอถูกขังเดี่ยวในเรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงเนปยีดอ
รัฐบาลทหารเมียนฟ้องเธอในคดีอาญาไม่ต่ำว่า 20 คดี นับตั้งแต่ มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
ก่อนหน้านี้ไม่นาน มิน อ่อง หล่าย ก็เดินหน้าประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหาร 4 คน
โดยไม่สนใจคำร้องขอจากนายกฯ ฮุน เซน ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้
อีกทั้งยังไม่มีวี่แววว่าเขาจะยอมทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนเพื่อสร้างความสมานฉันท์และแก้ไขวิกฤตของเมียนมาแต่ประการใด
นักวิเคราะห์ในอาเซียนเองมองว่า พม่าภายใต้การนำของรัฐบาลทหารไม่ให้ราคาอาเซียนเลย
และอาเซียนเองก็ “ไร้น้ำยา” ที่จะทำอะไรให้เมียนมายอมรับมติของตน
บทความใน Council on Foreign Relations หรือ “สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “คลังสมอง” ของตะวันตกเมื่อสัปดาห์ก่อนพาดหัวว่า
“ความล้มเหลวโดยสมบูรณ์ของอาเซียนในเมียนมา”
ผู้เขียนเป็นนักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิดมาตลอด
Joshua Kurlantzick วิพากษ์ว่าอาเซียนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการเดินหน้าใช้ความรุนแรงและอำนาจเบ็ดเสร็จในการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงมาตลอด
เขาบอกว่า 1 ปีครึ่งหลังการรัฐประหารในปี 2564 ที่จัดตั้งกองทัพเมียนมาขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการ รัฐบาลเผด็จการทหารยังคงรณรงค์ต่อต้านกลุ่มต่อต้านอย่างโหดร้าย
กองทัพได้กำหนดเป้าหมายทั้งองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์และกองกำลังป้องกันประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มการประท้วงอย่างสันติที่ไม่ประสบผลสำเร็จเพื่อประท้วงการทำรัฐประหาร กองทัพยังคงละเมิดสิทธิครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ
ในขณะเดียวกันก็จับชาวโรฮีนจาไว้ในค่ายกักกันเสมือนจริง และเพิ่มแรงกดดันนักเคลื่อนไหว โดยล่าสุดได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง 4 คน
กองทัพพม่ายังปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและ “กองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน” (People’s Defence Force) ในภาคต่างๆ ของประเทศ
เขาบอกว่าอันที่จริง อาเซียนเป็น “อัมพาต” ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร
เพราะแม้จะเชิญ มิน อ่อง หล่าย ไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาหลังรัฐประหารไม่นาน และแม้มีข้อตกลง 5 ข้อ โดยให้อาเซียนส่ง “ทูตพิเศษ” เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกลุ่มที่มีข้อพิพาทต่างๆ แต่ก็ไร้ผล
เมื่อกัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน พยายามเล่นบทเป็นคนกลางโดยการยอมต้อนรับ มิน อ่อง หล่าย แต่ก็หาได้ผลในทางบวกแต่ประการใดไม่
ความจริงเราไม่ต้องให้นักวิเคราะห์นอกอาเซียนนำเสนอความเห็นแนวทางที่ไร้ความหวังเลย
เพราะนักวิชาการ, นักการทูตและสื่อมวลชนที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดก็สรุปเกือบจะตรงกันหมดว่า
กรณีพม่าทำให้อาเซียนเสียความน่าเชื่อถือไปมาก
อีกทั้งเมื่อสมาชิกอีก 9 ชาติเองก็มีความเห็นแตกต่างกันในรูปแบบของการจัดการกับ มิน อ่อง หล่าย ก็ยิ่งทำให้อาเซียนเดินต่อเรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก
สมาชิกอาเซียนบางประเทศ เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ยืนกรานว่าจะต้องแสดงความขึงขังเอาจริงกับ มิน อ่อง หล่าย
ส่วนสมาชิกอาเซียนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องการใช้วิธีประนีประนอม โดยอ้างว่าหากยิ่งต้อนเมียนมาติดมุมก็ยิ่งจะทำให้ช่องทางของการติดต่อสื่อสารยากขึ้น
อาเซียนในฐานะเป็นองค์กรจึงทำอะไรมากไม่ได้
แม้ในวงเล็กๆ จะมีการเสนอให้ลงโทษเมียนมาด้วยการ “ระงับความเป็นสมาชิกอาเซียน” ของรัฐบาลทหารพม่าจนกว่าจะมีความคืบหน้าในทางสร้างสรรค์ แต่ในทางปฏิบัติก็เหมือนจะมีการ “คว่ำบาตร” รัฐบาลทหารพม่าอยู่ในที
แต่ก็ยังไม่ปรากฏมีผลกดดันให้ มิน อ่อง หล่าย ยอมแสดงท่าทีที่ยอมผ่อนปรนแต่อย่างใด
ล่าสุดการไปเยือนเมียนมาของ “ทูตพิเศษ” จากสหประชาชาติ Noeleen Heyzer ก็จบลงด้วยการออกแถลงการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่ไปกันคนละทาง
มิหนำซ้ำฝั่งทหารเมียนมายังออกรายงานยาวเหยียดกว่า 5,000 คำ เพื่อวิพากษ์ว่าตัวแทนจากสหประชาชาติคนนี้มี “อคติ” และไม่มีความเข้าใจในสภาพที่แท้จริงของปัญหาในเมียนมา
ขณะที่ Heyzer เองก็ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเธอได้เรียกร้องขอพบกับ อองซาน ซูจี, ขอให้มีการหยุดยิง และให้มีกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ก็ได้รับคำตอบที่เป็นไปทางลบอยู่เหมือนเดิม
เป็นที่มาของคำว่า “อาเซียนเป็นง่อยกรณีเมียนมา”
ที่ยากจะปฏิเสธได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ