หากเราจะพิจารณานิยามของคำว่า “การเมือง” ในมุมหนึ่งเราจะพบว่า “การเมืองคือการจัดสรรแบ่งปันอำนาจและทรัพยากรของประเทศชาติแก่สมาชิกในประเทศอย่างเป็นธรรม” มนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิที่พึงมี 3 ประการ
คือ 1) สิทธิในการปกป้องชีวิตของตนเองให้มีความปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง 2) สิทธิในการแสวงหาความสุข และ 3) สิทธิในการแสวงหาและสะสมทรัพย์สิน แต่หากเราทุกคนใช้สิทธิทั้ง 3 นี้แบบตามใจตนเอง ไม่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้สิทธิของเราแต่ละคน สังคมก็คงจะวุ่นวาย สับสนอลหม่าน วุ่นวายไปหมด จึงมีการกำหนด “สัญญาประชาคม”
ขึ้น ตามหลักของสัญญาประชาคมก็คือ พวกเราที่เป็นประชาชนจะยินดีสละสิทธิของเราส่วนหนึ่งให้กับคณะบุคคลที่จะเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ จัดระเบียบการใช้สิทธิของพวกเราอย่างเหมาะสม เป็นธรรม เพื่อเป็นการจัดระเบียบสังคม โดยผู้ที่ได้รับสิทธิที่พวกเรายอมเสียสละนั้นจะต้องไม่ละเมิดสิทธิที่เราสงวนไว้ หากวันใดพวกเขาออกกฎระเบียบ กำหนดกติกาที่มาละเมิดสิทธิที่เราสงวนไว้ เราก็สามารถที่กำจัดพวกเขาออกไปได้
ตามหลักของสัญญาประชาคมดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดกลุ่มบุคคลที่ปรารถนาจะเข้ามาเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และกติการดังกล่าวหลายกลุ่มหลายพวก ที่จะเข้ามาเสนอตัวให้ประชาชนเลือกให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นคณะบุคคลผู้จัดระเบียบสังคมด้วยการตรากฎหมาย การกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ เป็นผู้กำหนดให้มีโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในประเทศสามารถที่จะรักษาสิทธิที่พึงมีเอาไว้อย่างยุติธรรม บุคคลเหล่านี้คือ “นักการเมือง” เมื่อพวกเขารวมตัวกันเป็นชาวคณะที่ต้องการเข้ามาเป็นผู้กำหนดกติกาเพื่อจัดระเบียบสังคม ก็ก่อให้เกิด “พรรคการเมือง” เมื่อมีพรรคการเมืองหลายพรรคเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้กำหนดกติกาเพื่อจัดระเบียบสังคม จึงจำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งให้ประชาชนออกเสียงว่าต้องการให้พรรคการเมืองหรือชาวคณะไหนมาเป็นผู้จัดระเบียบ กำหนดกติกาของสังคม เพื่อการจัดสรรแบ่งปันอำนาจและทรัพยากรของประเทศแก่ประชาชนที่เป็นสมาชิกของประเทศอย่างเป็นธรรม
ตราบใดที่พวกเขาใช้สิทธิที่ประชาชนมอบให้อย่างเป็นธรรม มีจริยธรรม ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล พวกเขาก็จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างราบรื่น แต่เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำลายสิทธิในส่วนที่ประชาชนสงวนไว้ พวกเขาก็จะต้องถูกกำจัดโดยประชาชนด้วยวิธีการที่หลากหลาย บางครั้งก็คือการไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งต่อไป บางครั้งก็อาจจะเกิดจากการปฏิวัติของประชาชนอออกมาชุมนุมขับไล่ให้พวกเขาต้องลงจากอำนาจก่อนเวลาที่กำหนดไว้ หรือบางครั้งหากการเคลื่อนไหวของประชาชนไม่อาจทำให้พวกเขาสำนึกและลาออกไป พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารที่มีอาวุธและกองกำลังที่เรารู้จักกันว่าเป็นการทำ “รัฐประหาร” คือยึดอำนาจของพวกเขา แล้วมีการกำหนดกฎเกณฑ์กติกากันใหม่ด้วยความหวังว่าจะไม่ก่อให้เกิดการกระทำที่ไร้จริยธรรม ผิดหลักธรรมาภิบาล เมื่อมีการกำหนดกติกากันใหม่แล้ว ก็จะมีการเลือกตั้งหาผู้เข้ามาจัดระเบียบสังคม บริหารประเทศชาติให้เกิดการพัฒนา การจัดสรรแบ่งปันอำนาจและทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นธรรมต่อไป
สิ่งที่พัฒนาเคียงคู่มากับการเลือกตั้งคือวัฒนธรรมการหาเสียง ในเวลานี้หลายคนมองว่าวัฒนธรรมการหาเสียงของนักการเมืองของไทยเรามีหลายอย่างที่น่ารังเกียจ และไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาประเทศ
- บางพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการสัญญาเกินจริง เมื่อได้รับเลือกตั้งมาบริหารประเทศก็ไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่หาเสียงไว้ได้
- บางคนก็หาเสียงด้วยการด่าหาความด้อยค่าพรรคอื่น แทนที่จะบอกว่าตนเองจะเข้ามาทำอะไร กลับหาเสียงด้วยการสร้างวาทกรรมด้อยค่าพรรคอื่น หลายครั้งเป็นการแขวะ แซะ เสียดสีที่ไม่เหมาะสม
- บางคนประกาศนโยบายเพื่อเอาใจประชาชนผู้มีสิทธิในการลงคะแนน โดยหวังจะได้คะแนนเสียง แต่ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวที่อาจจะส่งผลร้ายต่อประเทศ เช่น เป็นการทำลายวินัยการเงินการคลังของประเทศ เป็นการบ่มเพราะนิสัยของการงอมืองอเท้ารอคอยการให้ประโยชน์จากรัฐบาล กลายเป็นสังคมที่อ่อนแอ และไม่มีวินัย
- บางคนมีเป้าหมายในการจะแสวงหาคะแนนเสียงจากกลุ่มเยาวชน Gen Y และ Gen Z จึงยอมผ่อนปรนกติกาและระเบียบวินัยบางเรื่อง ทำให้เกิดความหย่อนยานในการจัดระเบียบสังคม ทำให้อนาคตของประเทศน่าเป็นห่วงที่เยาวชนของเราจะเติบโตมาแบบคนไม่มีวินัย ไม่ให้ความสำคัญกับกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันในสังคม
วัฒนธรรมการหาเสียงข้างต้นนี้เป็นวัฒนธรรมที่น่ารังเกียจ ถ้าหากคนที่เรียกตัวเองว่า “นักการเมือง” ที่อาสาเข้ามาพัฒนาประเทศชาติ จัดระเบียบสังคม เคารพสิทธิของประชาชน ไม่กระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิที่ประชาชนขอสงวนไว้ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่น่ารังเกียจนี้ พวกเขาไม่ควรที่จะสัญญาเกินจริง พวกเขาควรจะบอกว่าเขาจะเข้ามาทำอะไรเพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยไม่ต้องด้อยค่าพรรคอื่นแบบยกตนข่มท่าน แซะ แขวะ พรรคอื่นๆ และไม่ควรนำเสนอนโยบายและโครงการที่จะก่อให้เกิดผลเสียแก่ประเทศชาติและพฤติกรรมของประชาชนเพื่อให้ได้คะแนนเสียง
เวลานี้ เรากำลังได้เห็นการเคลื่อนไหวของพรรคต่างๆ ที่เตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เรายังคงได้เห็นวัฒนธรรมการหาเสียงที่น่ารังเกียจเหล่านี้อยู่ จนเราไม่อาจจะหวังได้ว่าการเมืองของประเทศไทยจะดีได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเราก็เป็นห่วงว่าสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อให้ได้คะแนนเสียงนั้น อาจจะมีสิ่งที่ส่งผลเสียแก่ประเทศชาติ และพฤติกรรมของประชาชนที่อ่อนแอ ไร้วินัย หย่อนยานต่อการเคารพกฎกติกาที่สำคัญในการจัดระเบียบสังคม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลัคนาธนูกับเค้าโครงชีวิตปี 2568
ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุขภาพอนามัย-หนี้สิน-ลูกน้องบริวาร และเกือบตลอดปีผู้หลักผู้ใหญ่อวยสถานะ-ยศ-เงินทองให้ แต่มีช่วงซ้อมรับทุกข์และการได้ความผิดที่ไม่ได้ก่อ
ดร.เสรี ลั่นรังเกียจ วาทกรรมแซะสถาบัน
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า เกิดวาทกรรมใหม่ "ใบอนุญาตที่ 2"
เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร
ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง
'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้
ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง
ได้ฤกษ์ 'นายพล' ล็อต 2
ผ่านเดดไลน์ตามคำสั่ง ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทุกหน่วยส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
'ดร.เสรี' กรีดเหวอะ! ใครมีลูกสาวเก่งพอที่จะเป็นนายกฯ ต้องบอกลูกให้มีผัว 9 คนอยู่ใน 9 ภาค
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า ใครมีลูกสาวที่เก่งพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องบอกลูกนะคะ