สงครามยูเครนลากยาวมาถึงวันที่ 202 เกิดอาการพลิกผันในแนวรบด้านตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก...รวมถึงภาคใต้ที่ส่อไปในทางที่จะเห็นการสู้รบยืดเยื้อข้ามปี
ข่าวหลายกระแสบอกตรงกันว่า ทหารยูเครนตีโต้และรุกกลับอย่างได้ผลในฝั่งตะวันออก หลังรัสเซียสั่งถอนทัพในคาร์คิฟ
ขณะที่ยูเครนอ้างเป็น “ชัยชนะ” ในสนามรบครั้งแรกในรอบหลายเดือน ฝั่งรัสเซียบอกว่าการสั่งทหารให้ล่าถอยครั้งนี้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
คือการ “ถอยตั้งหลัก” เพื่อเปิดฉากการโจมตีรอบใหม่
ข่าวทางการของยูเครนและสื่อตะวันตกอ้างว่า กองทัพยูเครนได้ยกระดับการรุกโต้กลับอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ทางตะวันออกของยูเครนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่กองทัพรัสเซียถอนทหารออกจากเขตปกครองคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตดอนบัสทางตะวันออกทางด้านยุทธศาสตร์การสู้รบ
นักวิเคราะห์ด้านสงครามบางสำนักบอกว่า ความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดของทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งเมื่อสงครามเข้าสู่เดือนที่ 7 หลังรัสเซียส่งทหารเข้ามายึดยูเครน
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ออกทีวีประกาศอย่างร้อนแรงเมื่อค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า
“กองทัพรัสเซียได้แสดงให้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาทำได้ – นั่นคือ การถอยทัพกลับไปให้เห็นแต่เพียงหลังของพวกคุณ” หลังจากรัสเซียประกาศถอนกำลังออกจากเขตปกครองคาร์คิฟในวันเดียวกันนี้
วันต่อมาผู้นำยูเครนคนนี้ก็โพสต์คลิปวิดีโอของทหารยูเครนชักธงชาติยูเครนขึ้นสู่ยอดเสาในเมืองชกาลอฟสก์ (Chkalovsk) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ยูเครนอ้างว่าสามารถยึดคืนกลับจากรัสเซียในการรุกโต้กลับ
สื่อตะวันตกใช้คำว่า counter-offensive สำหรับการตีโต้กลับครั้งนี้เพื่อตอกย้ำว่าทหารยูเครนกำลังปรับโหมดการสู้รบจากที่เคย “ตั้งรับ” (defensive) มาเป็น “เชิงรุก” (offensive)
แต่เดิมรัสเซียเป็นฝ่ายรุก วันนี้ยูเครนบอกว่ากองทัพยูเครนเองกำลังตอบโต้การรุกด้วยการตีกลับ หรือ counter-offensive
พลเอกวาเลรี ซาลุชนี ผู้บัญชาการทหารบกยูเครน อ้างว่าทหารยูเครนสามารถยึดคืนพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร จากทหารรัสเซียตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา
คลิปวิดีโอของฝ่ายยูเครนอ้างว่า ทหารบางส่วนของตนได้รุกกลับถึงจุดที่ประชิดติดชายแดนรัสเซีย ห่างไปเพียง 50 กิโลเมตรจากพรมแดนรัสเซียด้วยซ้ำไป
ยูเครนอ้างว่ารัสเซียกำลังเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญ หลังจากที่ตอนเริ่มสงครามใหม่ๆ นั้นมอสโกก็พลาดเป้าของการยึดกรุงเคียฟเมืองหลวงตั้งแต่สัปดาห์แรก
อีกทั้งที่ทหารรัสเซียเคยวางแผนเข้ายึดเขตปกครองคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือในการสู้รบระยะต้นก็พลาดเป้าไปเช่นกัน
ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียออกข่าวไปในทำนองว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนเดิม รัสเซียไม่ได้พลาดท่าเสียทีทหารยูเครนอย่างที่กล่าวอ้างกันแต่ประการใด
แถลงการณ์จากมอสโกบอกว่า การถอนทหารบางส่วนจากเมืองอิสยุม (Izyum) และพื้นที่อื่นๆ ในเขตปกครองคาร์คิฟนั้นเป็นยุทธการทางทหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยรบรัสเซียในเขตปกครองโดแนตสก์ทางตะวันออกเท่านั้น
ประเทศตะวันตกที่กำลังตีความความเคลื่อนไหวล่าสุดในสมรภูมิยูเครนว่าเป็นจุด “พลิกผันสำคัญ” ของการสู้รบ
ฝ่ายข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมอังกฤษตอกย้ำว่า รัสเซียมีแนวโน้มที่จะถอนทหารจากพื้นที่ก็จริง แต่การสู้รบยังร้อนแรงต่อเนื่องในเมืองสำคัญใกล้เคียง เช่น คูเปียนสก์ (Kupiansk) และอิสยุม
นักวิเคราะห์ทางทหารตะวันตกมองว่า ถ้าทหารยูเครนรุกคืบโต้กลับได้อย่างต่อเนื่องจริงๆ ก็จะทำให้ยูเครนเข้ายึดครองการขนส่งระบบรางสายสำคัญ
เป็นเส้นทางที่รัสเซียเคยใช้ในการส่งเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียทางตะวันออกของยูเครนได้
ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกแถลงการณ์เผ็ดร้อนเป็นลายลักษณ์อักษรที่มุ่งไปที่รัฐบาลรัสเซีย
"พวกคุณยังจะทึกทักไปเองว่าเราเป็นประเทศเดียวกันอยู่อีกไหม? พวกคุณคิดว่าจะทำให้เรากลัว, จะบดขยี้เราให้แหลก, จะบีบคั้นให้เรายอมพวกแกได้อีกไหม?
“พวกคุณยังไม่เข้าใจอีกหรือว่าเราเป็นใคร? เรายืนหยัดเพื่ออะไร? ประชาชนของเราปรารถนาอะไร?
“อ่านริมฝีปากผมให้ดีนะ : จะตัดก๊าซให้ไม่มีใช้หรือไม่มีพวกคุณ? ไม่มีพวกคุณ จะทำลายโรงไฟฟ้าให้ไม่มีไฟใช้หรือไม่มีพวกคุณ? ไม่มีพวกคุณ จะต้องอดอยากหรือไม่มีพวกคุณ? ไม่มีพวกคุณ
“ความหนาวเหน็บ, หิวโหย ความมืดและความกระหายไม่น่ากลัวและถึงตายเท่ากับมิตรภาพจอมปลอมและความเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่พวกคุณกล่าวอ้าง. สุดท้ายความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์จะต้องเกิด. แล้วเราจะมีแก๊ส, ไฟฟ้า, น้ำและอาหาร...โดยไม่มีพวกคุณ!"
ความหมายของเซเลนสกีคือ ไม่ว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเพียงใดก็จะเลือกที่จะอยู่กับความยากเข็ญเหล่านั้นมากกว่าที่จะยอมให้รัสเซียมายึดครอง
อีกด้านหนึ่งของสงครามคือความสุ่มเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังไม่มีข้อตกลงว่าจะมีการหยุดยิงบริเวณนั้นหรือไม่อย่างไร
บริษัท อีเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครนออกแถลงการณ์ ว่าด้วยสถานการณ์ที่น่ากังวลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริชเชีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในยูเครนและในยุโรป ตั้งอยู่ที่เมืองซาโปริชเชีย ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ริมแม่น้ำไนเปอร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
แถลงการณ์นั้นแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องปิดทำการเตาปฏิกรณ์ตัวสุดท้าย ซึ่งเป็นตัวที่ 6 ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะกลัวว่าอาจมีการรั่วไหลของกัมมันตรังสี
ระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเจอกับเหตุขัดข้องมากมายหลายประการ ตั้งแต่ทหารรัสเซียเข้ามายึดและเปิดศึกกับทหารยูเครนที่ปักหลักอยู่อีกข้างหนึ่งของแม่น้ำ
และเพื่อป้องกันอันตรายอันไม่พึงประสงค์ ก็ทำให้ต้องลดการทำงานของระบบลง ส่งผลให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าภายนอกที่เหลืออยู่เพียงเส้นเดียว
โดยหันไปพึ่งระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองที่ยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ
สหประชาชาติเสนอผ่าน IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานพลังงานปรมาณูของยูเอ็น และรัฐบาลยูเครนเรียกร้องการกำหนดให้พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าซาโปริชเชียเป็นเขตปลอดทหาร แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปกับฝ่ายรัสเซียได้
ความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติก็ยังหลอนคนทั้งโลกถึงวันนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว