ใกล้เข้ามาแล้วครับ...
วันพรุ่งนี้ (๑๔ กันยายน) จับตาไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีนัดประชุมคดี "นายกฯ ๘ ปี"
จะแค่ไต่สวน
หรือวินิจฉัยคดีเลย
แต่ก็มีการนำเสนอแง่มุมใหม่ที่น่าสนใจ และดูจะเป็นการลดแรงกระแทกกระทั้นให้ทุกฝ่ายได้ คือข้อเสนอของ "สดศรี สัตยธรรม" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง ๒๐ คนให้การในศาล
ซึ่งก็คือไต่สวนเพิ่มเติม
เหตุผลน่ารับฟังครับ คุณสดศรี บอกว่า....
"...เหมือนกรณีการสร้างบ้านเมื่อบ้านเกิดปัญหา คนที่จะให้คำตอบได้อย่างดีที่สุดคือช่างที่ก่อสร้างบ้าน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ กรธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ดังนั้นในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนน่าจะให้ กรธ.ทั้ง ๒๐ ท่าน เป็นพยานศาล ในการให้การเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าเหตุผลอะไรถึงมีการบัญญัติมาตรา ๑๕๘ เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ และมาตรา ๒๖๔ ด้วย..."
“...น่าจะเป็นผลดีและเป็นการที่จะเคลียร์ข้อกฎหมายนี้ได้ชัดเจนจากผู้ยกร่างเอง โดยที่ศาลไม่ต้องไปตีความอะไรเลย แต่ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลในการบัญญัติกฎหมาย เพราะรายงานการประชุมเป็นเพียงบทสรุป ซึ่งจะสู้รายงานจากปากของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้...”
แต่ถึงที่สุดแล้วผลลัพธ์มีแค่ ๒ ทาง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อ หรือจะหยุดลงแค่นี้ โดยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทน จนกว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หากได้ไปต่อ "ลุงตู่" กลับมาทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ทันที
แต่หากหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามมาตรา ๒๗๒ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องทำให้เสร็จสิ้นเมื่้อไหร่
แต่กรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ มาตรา ๒๗๒ วรรคท้าย กำหนด ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน เพื่อพิจารณารายชื่อนายกฯ คนนอก ตามที่ที่ประชุมรัฐสภาเสนอ
ก็ไม่ได้บอกว่าให้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่
ลุ้นการเมืองวันนี้ ไม่ต่างจากลุ้นหวยสักเท่าไหร่
ไม่รู้ว่าเลขที่ออกคืออะไร
แต่ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ก็สร้างความคาดหวังให้ใครหลายๆ คนได้ครับ
พรรคการเมืองพากันเคลื่อนไหวคึกคัก ก็เพราะความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไปนี่แหละครับ ทุกพรรคจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน
จับพลัดจับผลู "ลุงตู่" ไม่ได้ไปต่อ แล้วเลือกนายกฯ คนใหม่ไม่ได้ ก็มีโอกาสยุบสภาอยู่เหมือนกัน
เรื่องยุบสภา "วิษณุ เครืองาม" อธิบายไว้น่าสนใจทีเดียว
ในทางทฤษฎี "ลุงป้อม" ยุบสภาทำได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย
ยกตัวอย่างสมัยพฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออก "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นรองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ในขณะนั้นเตรียมคิดว่าจะยุบสภา ซึ่งมีอำนาจ
แต่คิดไปคิดมาให้เขาไปหานายกฯ ใหม่มายุบสภาดีกว่า
จนได้ "อานันท์ ปันยารชุน" มาเป็นนายกฯ แล้วเข้ามายุบสภาในที่สุด
ช่วงนั้น "มีชัย ฤชุพันธุ์" รักษาการนายกฯ อยู่ ๑๗ วัน
สภาเลือกนายกฯ คนใหม่ เดิมเป็นชื่อ "ณรงค์ วงศ์วรรณ" แต่ต้องแต่งตัวเก้อเป็นแม่สายบัว เพราะติดแบล็กลิสต์อเมริกา รถประจำตำแหน่ง "อาทิตย์ อุไรรัตน์" ประธานสภาผู้แทนราษฎร เลี้ยวเข้าบ้าน "อานันท์ ปันยารชุน" แทน
"อานันท์ ปันยารชุน" เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย
นั่งเก้าอี้ ๑๐๕ วัน จัดแจงทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย จึงยุบสภา
การเลือกตั้งเดือนกันยายน ๒๕๓๕ ครั้งนั้นนับเป็นการเลือกตั้งที่ผู้คนตื่นตัวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ถ้าเหตุการณ์ปัจจุบันจะซ้ำรอยเดิม ต้องหานายกฯ คนใหม่มาแทน "ลุงตู่" ให้ได้
หลังเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก ค่อยยุบสภา
แต่ทั้งหมดนี้ลืมให้หมด หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "ลุงตู่" อยู่ต่อ
อยู่ต่อถึงปี ๒๕๖๘ หรือ ๒๕๗๐ ก็เป็นเรื่องที่ "ลุงตู่" และพรรคพลังประชารัฐต้องไปจัดการวางแผนเรื่องอนาคตทางการเมือง
เพราะหากครบ ๘ ปี ในปี ๒๕๖๘ อนาคตทางการเมืองของ "ลุงตู่" ไม่สวย
จะไปหาเสียงบอกประชาชนว่า เป็นนายกฯ ได้แค่ ๒ ปี ก็ดูกระไรอยู่
และในทางการเมือง คงไม่มีพรรคการเมืองไหนนำการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ แค่ครึ่งเทอม ไปเป็นยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้งแน่นอน
ออกมาหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐ อาจเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ก็เป็นได้
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "ลุงตู่" อยู่ต่อได้ถึงปี ๒๕๗๐ ก็ง่ายขึ้นมาหน่อย เพราะสอดคล้องกับเทอม ๔ ปี ของสภาผู้แทนราษฎรพอดี
การเสนอชื่อ "ลุงตู่" เป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงสมเหตุสมผล
นั่นแค่เรื่อง "ลุงตู่" นะครับ พรรคพลังประชารัฐ ยังมีชะตากรรมที่ยากลำบากในการเลือกตั้่งครั้งหน้า เพราะฉี่กันไม่สุด
วานนี้ (๑๒ กันยายน) "ลุงป้อม" ให้สัมภาษณ์ว่า
"...พื้นที่ไหนที่พรรคเศรษฐกิจไทยส่งลง เราก็ไม่ลง ไม่เป็นอะไร รวมถึงในพื้นที่ภาคเหนือด้วย..."
แน่นอนครับแฟนคลับ "ลุงตู่" ไม่ปลื้มเอามากๆ กับแนวคิดสับหลีกพื้นที่เลือกตั้งกับ พรรคธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้เขย่าเก้าอี้ "ลุงตู่"
"ลุงป้อม" ยังต้องอาศัย "ธรรมนัส"
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากพรรคพลังประชารัฐยังคงยืนยัน เลือก "ลุงตู่" เป็นแคนดิเดตนายกฯ
เรื่องแบบนี้ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ
อย่าลับลวงพราง
ต้องยอมรับความจริงว่า กระแสรักลุงตู่ จำต้องเลือกพลังประชารัฐนั้น ลดลงจากการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ เยอะครับ
กระแส "ลุงตู่" เองก็ยังสู้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ได้
หากถอดรหัสนี้กันไม่ได้ ก็เท่ากับยกเก้าอี้นายกฯ ให้ "อุ๊งอิ๊ง" ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ