ทัศนาอีกวาซู (ฝั่งบราซิล)

แม่น้ำอีกวาซูมีความยาวทั้งสิ้น 1,320 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่บนภูเขา Serra do Mar ใกล้ๆ เมืองกูริติบา เมืองหลวงของรัฐปารานา สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล แม่น้ำไหลคดเคี้ยว แต่มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก

พอถึงกิโลเมตรที่ประมาณ 1,200 ก็มีแม่น้ำซานอันโตนิโอจากทางทิศใต้ไหลมาสมทบ แม่น้ำซานอันโตนิโอนี้ทำหน้าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างอาร์เจนตินาทางทิศตะวันตกและบราซิลทางตะวันออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แม่น้ำอีกวาซูที่ไหลต่อไปหลังจากรวมกับแม่น้ำซานอันโตนิโอก็ยังเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างบราซิลทางฝั่งขวา (ทิศเหนือ) และอาร์เจนตินาทางฝั่งซ้าย (ทิศใต้)

เหลืออีก 20 กิโลเมตรก่อนบรรจบกับแม่น้ำปารานา อีกวาซูไหลเป็นรูปตัว J (บนลงล่าง) ตรงฐานหรือส่วนโค้งของตัว J นี้เองมวลน้ำมหึมา ประมาณครึ่งหนึ่งของแม่น้ำที่ไหลมาก็ตกลงสู่เหวลึก หรือ “แคนยอน” สูงราว 80 เมตร ซึ่งได้รับการเรียกขานว่าเป็น “คอหอยปีศาจ” (The Devil’s Throat)

น้ำที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ส่วนมากอยู่กับฝั่งอาร์เจนตินา ไหลตีโค้งขวาไปตกลงหน้าผาเป็นแผง แผ่กว้างตลอดแนวฝั่งซ้ายของแม่น้ำ หากมองจากฝั่งบราซิลจะเห็นน้ำตกส่วนที่เลยจากคอหอยปีศาจไปทางขวามือเป็นน้ำตก 2 ชั้น สูงชั้นละประมาณ 40 เมตร

ความงามที่ได้จากธรรมชาติสรรค์สร้างนี้ทำให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และได้รับการลงคะแนนให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติยุคใหม่ ซึ่งเป็นการลงคะแนนทางเว็บไซต์และโทรศัพท์ระหว่างปี ค.ศ.2007-2011 จัดโดยองค์กร New 7 Wonders Foundation

นี่คือน้ำตกอีกวาซู บราซิลเรียก Cataratas do Iguaçu อาร์เจนตินาเรียก Cataratas del Iguazú ทั้งนี้คำว่า Cataratas หมายถึง “ชุดของน้ำตก” นั่นคือน้ำตกที่มีมากกว่า 1 ม่านน้ำมารวมกัน ส่วนน้ำตกเดี่ยวๆ จะเรียก Salto แปลตรงตัวว่า “กระโดด” หลาย Salto จึงจะเรียกว่า Cataratas สองคำนี้เขียนเหมือนกันทั้งในภาษาสเปนและโปรตุเกส แต่ออกเสียงต่างกันเล็กน้อย

เราออกจากร้านอาหารตอนเกือบๆ บ่าย 2 ใช้เวลา 15 นาทีถึงลานจอดรถของอุทยานแห่งชาติอีกวาซู (บราซิล) ลุงบาซี-โชเฟอร์ของเราเดินนำไปยังจุดจำหน่ายตั๋ว มีเจ้าหน้าที่ในยูนิฟอร์มคอยแนะนำวิธีการซื้อตั๋วจากเครื่องออกตั๋วอัตโนมัติกับนักท่องเที่ยว แต่เรามีลุงบาซีที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วก็เลยไม่ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่

ตั๋วราคาใบละ 107 เรียล หรือประมาณ 750 บาท ตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้ราคาจะต่างไปจากชาวบราซิลซึ่งอยู่ที่ 63 เรียล และพลเมืองจากประเทศกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUL) ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย จ่ายคนละ 85 เรียล ความจริงตั๋วสามารถซื้อมาล่วงหน้าได้จากทางเว็บไซต์ของอุทยาน แต่ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้ต้องระบุเวลาเข้าอุทยานไว้ล่วงหน้า หากนักท่องเที่ยวไม่มีตารางเวลาที่แน่นอนก็ไม่ควรเสี่ยง

ได้ตั๋วแล้วเราก็แยกกับลุงบาซี แกจะคอยอยู่แถวๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานซึ่งมีพื้นที่นั่งเล่น-เดินเล่นกว้างขวาง รวมถึงร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึก แกให้ข้อมูลว่าหากต้องการขึ้นเฮลิคอปเตอร์ดูน้ำตกก็ให้ออกมาจากอุทยานไม่เกิน 4 โมงครึ่ง จุดขึ้นเฮลิคอปเตอร์อยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร และให้บริการเที่ยวสุดท้าย 5 โมงเย็น ค่าบริการคนละ 100 ดอลลาร์ พระคุณเจ้าทั้งสองท่านมีความสนใจอยู่ไม่น้อย

คิวสำหรับขึ้นรถบัส 2 ชั้นพลังงานไฟฟ้าไม่ยาวนัก เราขึ้นไปนั่งชั้น 2 มีหลังคา ด้านข้างเปิดรับลม ยิ่งนั่งไปยิ่งหนาวเพราะลมพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ รถจอดตามป้ายที่กำหนด มีทั้งหมดประมาณ 7 ป้าย รวมถึงป้ายสำหรับคนที่ต้องการลงไปเดินป่า

ระยะทางทั้งหมด 12 กิโลเมตร รถวิ่งประมาณ 15 นาทีถึงจุดจอดสุดท้ายหน้าโรงแรม Belmond Hotel das Cataratas จากห้องพักของโรงแรมสีชมพูฝั่งที่หันหน้าเข้าหาน้ำตกบางห้องสามารถมองเห็นน้ำตก หรือหากต้องการชมอย่างใกล้ชิดก็แค่ลงจากห้องพักแล้วเดินไปราวๆ 200 เมตร ส่วนเสียงของน้ำตกนั้นแค่เปิดหน้าต่างห้องพักก็ได้ยินแน่นอน โดยระยะที่ได้ยินน้ำตกได้ไกลที่สุดคือ 24 กิโลเมตร

จากจุดจอดรถบัส เราจะยังมองไม่เห็นน้ำตก เพราะมีแนวของต้นไม้ขึ้นบังทัศนวิสัย ต้องเดินหน้าไปนิดหน่อยจึงจะเห็นน้ำตกอยู่ทางขวามือ ตอนนั้นผมยังไม่รู้ เดินไปตามลูกศรบอกทาง ถอยหลังไปสิบกว่าเมตรแล้วเดินลงเนินไป ไม่ถึง 1 นาทีก็ถึงจุดชมน้ำตกจุดแรก น้ำตกอีกวาซูที่เห็นอยู่ในฝั่งประเทศอาร์เจนตินา เป็นม่านน้ำตก 2 ชั้น ช่วงปลายๆ ในเดือนพฤษภาคมที่เรามาเยือนเพิ่งจะผ่านพ้นเดือนที่น้ำน้อยที่สุดมาหมาดๆ แต่ได้ข่าวว่าเมื่อไม่นานมานี้ฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้น้ำไหลหลากคล้ายหน้าน้ำ

เนื่องจากเป็นม่านน้ำช่วงปลาย น้ำที่ตกลงมาก็จะกลายกลับเป็นแม่น้ำอีกครั้ง เห็นเรือของอุทยานนำนักท่องเที่ยวนั่งไปท้าคลื่นและรับละอองน้ำเพื่อถ่ายภาพมุมเงยของน้ำตกแบบ Frog’s Eye View ผู้โดยสารในเรือจำเป็นต้องใส่เสื้อกันฝนและต้องใช้กล้องที่กันน้ำ คนขับเรือจะพาไปรับน้ำที่ตกลงมาหากว่าต้องการ ป้ายรถบัสสำหรับเดินไปลงเรืออยู่ก่อนถึงโรงแรมสีชมพู เรื่องตั๋วลงเรือคงต้องซื้อมาจากเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ผมดูในเว็บไซต์ทางการของน้ำตกแล้วไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้

มีรายงานว่าตอนที่ “เอลีนอร์ รูสเวลต์” อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนน้ำตกแห่งนี้ ถึงกับเอ่ยออกมาว่า “โอ้ ไนแอการาที่น่าสงสาร” เพราะว่าไนแอการา น้ำตกที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างสหรัฐและแคนาดาเทียบอีกวาซูไม่ติดเลย

น้ำตกอีกวาซูมีความกว้างของม่านน้ำ หรือความยาวของน้ำตกทั้งแผงรวม 2,700 เมตร ถือเป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อวัดกันด้วยความกว้างของม่านน้ำ แม้ว่าม่านน้ำจะหายไปหลายช่วง และสามารถแยกน้ำตกย่อยออกได้ประมาณ 60-275 น้ำตก ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแต่ละฤดู บางช่วงจะหายไปหลายร้อยเมตรและมีเกาะมากั้นทำให้ขาดตอน ทำให้น้ำตกที่ม่านน้ำต่อเนื่องกว้างที่สุดในโลกตกเป็นของน้ำตกวิกตอเรีย พรมแดนธรรมชาติระหว่างแซมเบียและซิมบับเว ซึ่งกว้างถึง 1,700 เมตรในหน้าน้ำหลาก และแยกเป็น 5 ม่านน้ำในหน้าแล้ง

สำหรับความสูงของน้ำที่ตกลงมาของน้ำตกอีกวาซูนั้นมีระยะตั้งแต่ 64-82 เมตร สูงกว่าน้ำตกไนแอการาที่สูง 51 เมตร แต่ต่ำกว่าแม่น้ำวิกตอเรียที่สูง108 เมตร และจะว่าไป แม่น้ำอีกวาซูไม่ได้มีชื่อด้านความสูงเท่าใดนัก เพราะน้ำตกที่สูงที่สุดในโลกนั้นสูงเกือบ 1 กิโลเมตร ได้แก่ น้ำตกตูเกลาในแอฟริกาใต้ และน้ำตกแองเจลในเวเนซุเอลา ซึ่งยังตัดสินได้ไม่แน่ชัดว่าที่ใดสูงกว่ากันแน่ ทว่าน้ำตกทั้งสองเป็นเพียงน้ำที่ตกลงมาจากที่สูงเป็นเส้นแคบๆ ไม่มีลักษณะเป็นม่านน้ำกว้างหลายเมตรแต่อย่างใด

 

จากจุดที่เห็นเรือแล่นเข้าไปรับน้ำตก เราเดินเลียบฝั่งไปทางตะวันออก มีจุดถ่ายภาพหลักๆ อีก 2 จุด จากนั้นก็ถึงไฮไลต์ของอีกวาซูฝั่งบราซิล นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปบนสะพานสีเขียว สะพานทอดเหนือน้ำออกไปหลายทิศทาง เลือกถ่ายภาพได้ตามสะดวก หากเดินไปบนสะพานจนไกลสุดจากฝั่งก็จะมองเห็น “คอหอยปีศาจ” อยู่ไม่ห่างออกไปทางซ้ายมือหรือทางทิศตะวันออก เพียงแต่วันนี้ละอองน้ำมีมาก นอกจากทำให้ตัวเปียกแล้วก็มองเห็นคอหอยปีศาจไม่ค่อยชัด

จุดถ่ายภาพยอดนิยมอีกจุดบนสะพานกลางน้ำนี้ก็คือบริเวณกึ่งกลางสะพาน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีม่านน้ำกว้างเป็นฉากหลัง ม่านน้ำจุดนี้ไม่สูงนักแต่สวยมาก และนี่คงจะเป็นม่านน้ำแห่งเดียวที่น่าภูมิใจซึ่งอยู่ในเขตแดนบราซิล

หากจะสรุปอยู่ในประโยคเดียวผมก็ขอพูดว่า “การเที่ยวอีกวาซูฝั่งบราซิลก็เพื่อดูน้ำตกของฝั่งอาร์เจนตินา” แต่ถ้าใครชอบรุ้งกินน้ำ ซึ่งไม่ธรรมดา เพราะนี่คือรุ้งกินน้ำตก ผมก็ขอสรุปว่ารุ้งกินน้ำของฝั่งบราซิลดูจะมีตำแหน่งที่ดีกว่าฝั่งอาร์เจนฯ ซึ่งควรมาเห็นในช่วงบ่ายแก่ๆ ถึงเย็น เพราะพระอาทิตย์จากทิศตะวันตกส่องมากระทบละอองน้ำที่ลอยขึ้นเหนือน้ำตก ทำมุมงามแบบพอดิบพอดี

เวลาใกล้ 5 โมงเย็น เราขึ้นลิฟต์ไปยังจุดที่สูงที่สุดสำหรับการชมน้ำตกหากไม่นับการขึ้น ฮ.ดูน้ำตก พอพูดถึงการขึ้น ฮ.ดูน้ำตก ผมก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับพระคุณเจ้าทั้งสองท่าน เวลาขึ้น ฮ.กำลังจะหมดลง

ก่อนจากกันวันนี้ ผมขอแนะนำท่านผู้อ่านที่ต้องการชมภาพน้ำตกซึ่งผมได้นำมาฝากว่าควรเข้าชมจากเว็บไซต์ไทยโพสต์ และการชมจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊กจะจุใจกว่าเวอร์ชันมือถือ

แล้วนำมาเปรียบเทียบกับน้ำตกอีกวาซูเมื่อชมจากฝั่งอาร์เจนฯ ในวันอาทิตย์หน้าครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย