พรรคอนาคตใหม่ได้ทำการกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคเป็นจำนวนทั้งสิ้น 191,200,000 บาท จากการทำสัญญาเงินกู้สองฉบับ ฉบับแรกเป็นจำนวนเงิน 161,200,00 บาท และฉบับที่สองเป็นจำนวนเงิน 30,000,000 บาท โดยในสัญญาฉบับแรกระบุว่า “ ‘ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินกู้ กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าสัญญาสิ้นสุดลง ทั้งนี้ หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ผู้กู้ต้องรับผิดในเบี้ยปรับวันละ ๑๐๐ บาท (หนึ่งร้อยบาท) จนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินกู้คงค้าง ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในงวด ที่ผิดนัดเสร็จสิ้น’ หลังจากนั้น ผู้ถูกร้องได้ชำระเงินกู้ยืมดังกล่าว จำนวน ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๒ จำนวน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ จำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท และครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒ จำนวน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน จำนวน ๗๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องได้ชำระดอกเบี้ยรายเดือนของเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายนของปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีการแก้ไขสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่หนึ่ง ในข้อ ๒ จากเดิม ระบุว่า “… กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน …” เปลี่ยนเป็น “… กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกปี …”
“ส่วนสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สอง ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ วงเงินกู้ จำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยในสัญญาข้อ ๒ ระบุว่า “ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตรา ร้อยละ ๒ ต่อปีของต้นเงินกู้เท่าที่ผู้กู้ยังคงค้างชำระ” ซึ่งผู้ถูกร้องได้รับเงินกู้ยืมดังกล่าวในวันทำสัญญา กู้ยืมเงิน จำนวน ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้อง ได้บริจาคเงิน ให้แก่ผู้ถูกร้อง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท”
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ มีความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพ ในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกำหนดกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีการบริหารกิจการภายในของพรรคการเมือง ที่เป็นไปตามหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เน้นโดยผู้เขียน) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตั้งแต่เริ่มแรก และกำหนดให้การบริหาร การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ของพรรคการเมือง สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย อันเป็นการป้องกันมิให้ พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้ปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรค แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงได้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ขึ้นเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บัญญัติไว้”
และ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่งบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปี และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว และวรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อควบคุมพรรคการเมืองในการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคลที่มีมูลค่าไม่เกินสิบล้านบาทต่อปี อันเป็นมาตรการป้องกันมิให้พรรคการเมืองถูกบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นนายทุนพรรคการเมืองเพื่อบงการหรือมีอิทธิพล ครอบงำและชี้นำการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนแต่เพียงผู้เดียว หรือกลุ่มเดียวได้ ทำให้การบริหารกิจการของพรรคการเมืองไม่เป็นไปโดยอิสระและทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในพรรคการเมืองไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อันเป็นการทำลายหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ และอาจส่งผลทำให้พรรคการเมือง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บงการหรือผู้มีอิทธิพล เหนือพรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมมูลค่าการรับบริจาคของพรรคการเมืองเพื่อสร้างเสริม ให้พรรคการเมืองมีการบริหารกิจการที่มีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมือง เป็นสถาบันของประชาชนที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ”
ขอให้สังเกตข้อความในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ มีความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกำหนดกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีการบริหารกิจการภายในของพรรคการเมือง ที่เป็นไปตามหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เน้นโดยผู้เขียน) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตั้งแต่เริ่มแรก และกำหนดให้การบริหาร การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ของพรรคการเมือง สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย อันเป็นการป้องกันมิให้ พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้ปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรค แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงได้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ขึ้นเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บัญญัติไว้”
และนำข้อความข้างต้นไปเปรียบเทียบกับการศึกษาของ Anika Gauja (Political Parties and Elections: legislating for representative democracy. London: Routledge, 2010.) ที่พบว่า ประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายจารีตประเพณีและมีวัฒนธรรมของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เหมือนกัน (common law democracies) และเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางการเมืองที่อยู่ในระดับเดียวกัน อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย แม้จะมีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน แต่มีแนวโน้มที่กฎหมายพรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้จะมีพัฒนาเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ Gauja ชี้ว่า การที่แต่ละประเทศในห้าประเทศนี้มีกฎหมายควบคุมสถานะและการดำเนินกิจกรรมต่างๆของพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน เป็นเพราะผู้บัญญัติกฎหมายและผู้พิพากษาตีความตัวบทกฎหมายของแต่ละประเทศมีชุดปทัสถานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยตัวแทนและการทำหน้าที่ของตัวแทนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การจัดวางตำแหน่งแห่งที่และการออกมาตรการควบคุมพรรคการเมืองในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามไปด้วย แต่ที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้วางอยู่บนหลักการพื้นฐานร่วมกัน นั่นคือ ทุกประเทศล้วนต้องการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเกิดสภาวะรวมศูนย์ในพรรคการเมือง (corruption and centralization in party politics) เพื่อสร้างเวทีทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทุกพรรค
ดังนั้น จากมุมมองทางรัฐศาสตร์ การกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคย่อมมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดสภาวะรวมศูนย์อำนาจขึ้นในพรรคการเมือง !
แล้วพรรคการเมืองอื่นๆในประเทศไทยมีการกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคหรือไม่ ? และพรรคการเมืองในประเทศตะวันตกมีการกู้ยืมเงินในลักษณะนี้หรือไม่ ? เพราะข้อโต้แย้งประการหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ในการสู้คดีคือ “การกู้ยืมเงินในระบบกฎหมายต่างประเทศ พรรคการเมืองกู้ยืมเงินได้ โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกัน และเมื่อเทียบเคียงกับนานาอารยประเทศแล้ว การกู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมปกติ ที่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้ทั่วไป และยังมีพรรคการเมืองอีก ๑๖ พรรคการเมือง ที่มีการกู้ยืมเงินซึ่งปรากฏในงบการเงินของพรรคการเมือง ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑” ! จริงหรือไม่ ? โปรดติดตามตอนต่อไป
(ส่วนหนึ่งของงานวิจัย “เงินทางการเมืองในมุมมองเชิงเปรียบเทียบกรณีศึกษาประเทศไทย สหราชอาณาจักรและสวีเดน” ภายใต้โครงการวิจัยศึกษารัฐธรรมนูญ: การออกกฎหมายเพื่อรองรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2563)
(แหล่งอ้างอิง: คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่องพิจารณาที่ ๓๗/๒๕๖๒ วันที่ ๒๑ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๒๑ ก วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ หน้า 24; คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่องพิจารณาที่ ๓๗/๒๕๖๒ วันที่ ๒๑ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๒๑ ก วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ หน้า 24; คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่องพิจารณาที่ ๓๗/๒๕๖๒ วันที่ ๒๑ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๒๑ ก วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓ หน้า ๓๘-๓๙; Anika Gauja, Political Parties and Elections: legislating for representative democracy (London: Routledge, 2010))
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร