'เส้นแบ่งเกาะไต้หวัน กับจีน' มีอยู่จริงหรือ?

 “เส้นสมมติ” ที่ไต้หวันมักจะอ้างว่าคือ “เส้นแบ่ง” ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะแห่งนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

เพราะจีนปักกิ่งไม่เคยยอมรับ แต่ไต้หวันถือว่าเส้นแบ่งนี้มีอยู่จริง

ฝรั่งเรียกเส้นนี้ว่า Taiwan Strait Median Line

แต่พอเกิดเรื่องพิพาทล่าสุดที่ร้อนแรงจนจีนสั่งซ้อมรบกระสุนจริงอย่างคึกคักรอบๆ เกาะไต้หวัน “เส้นสมมติ” ที่ว่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่กล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียว

ไต้หวันมักอ้างถึงเส้นแบ่งนี้เมื่อกองทัพไต้หวันเผชิญกับเครื่องบินขับไล่จีนในน่านฟ้าระหว่างเกาะและแผ่นดินใหญ่ของจีน

ความจริงทั้ง 2 ฝ่ายไม่เคยตกลงกันในเรื่องเส้นแบ่งนี้อย่างเป็นทางการแต่อย่างไร

ดังนั้นจีนจึงเชื่อว่าสามารถข้ามผ่านได้โดยไม่ละเมิดข้อตกลงใดๆ

วันก่อนที่ภาพโครนจีนบินวนเหนือเกาะใกล้ไต้หวัน และไต้หวันออกมาต่อว่าต่อขาน อีกทั้งยังสอยลงมาจากอากาศ

โฆษกกระทรวงต่างประเทศปักกิ่งบอกว่า “ก็ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นจึงไม่เห็นมีใครต้องตกอกตกใจอะไร”

ปักกิ่งแย้งว่าโดรนลำนั้นเป็นของพลเรือนสมัครเล่น ไม่ใช่เป็นของกองทัพจีนแต่อย่างไร

แต่กระนั้นไต้หวันก็ยังไม่ใช้วิธียิงให้ร่วงลงมา เพราะมีตัวอย่างของการใช้อาวุธเพื่อแก้ปัญหาระหว่างกัน

เส้นที่ว่านี้ถูกขีดจากจุดที่ใกล้เกาะทางใต้ของญี่ปุ่นไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ใกล้ฮ่องกง ผ่านตรงกลางช่องแคบไต้หวัน

ไต้หวันอ้างว่าเคยมีการตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับปักกิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าอันไม่พึงปรารถนาของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนยันว่า “เส้นมัธยฐาน” ที่ว่านี้ไม่มีอยู่จริง

คนที่ติดตามเรื่องนี้บอกว่าเส้นนี้เกิดจากการผลักดันและเสนอแนะของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น เมื่อประเทศตะวันตกแข่งขันกับสหภาพโซเวียตและพันธมิตร

แต่ทุกฝ่ายก็ยอมรับเช่นกันว่าไม่เคยมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ

นักวิเคราะห์การเมืองที่ตรวจสอบประวัติศาสตร์การเมืองจีนกับไต้หวันบอกเพียงว่า “มันเป็นแค่ความเข้าใจบนพื้นฐานของการเมืองในช่วงจังหวะเวลาหนึ่งเท่านั้น”

เส้นนี้เดิมอาจจะมีการอ้างถึงเหตุผลที่ต้องมีเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดของทั้ง 2 ฝ่ายจนเกิดการเบียดเสียดกันขึ้น

แต่มาถึงวันนี้กลายเป็นประเด็นที่ขัดแย้งหนักขึ้นอีก

เพราะเครื่องบินรบของจีนข้ามเส้นแบ่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ทำให้ไต้หวันต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นไปสกัดอากาศยานทางทหารจากแผ่นดินใหญ่เป็นประจำ

ที่ผ่านมาเกือบ 70 ปี เส้นสมมตินี้ก็เสมือน “เป็นที่เข้าใจกัน” ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ และหากไม่มีเรื่องร้อนแรงอะไรก็เป็นการตีเส้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายให้เป็นไปอย่างสันติ

บางสำนักวิเคราะห์บอกว่า “เเนวเขตเเดน” นี้ถือกำเนิดขึ้นตามความคิดของทหารอเมริกันในปี ค.ศ.1954 ในช่วงที่สงครามเย็นกำลังเข้มข้น

แต่วันนี้ท่ามกลางความขัดเเย้งที่ถูกยกระดับสูงขึ้นตลอดเวลา “เส้นแบ่งแดน” นี้ก็ถูกลดความสำคัญลงโดยฉับพลัน

จีนใช้กองทัพเรือที่ทันสมัยเพื่อกดดันไต้หวัน

ดั่งที่เกิดขึ้นชัดเจนหลังการมาเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเร็วๆ นี้

ไต้หวันมองว่าจีนต้องการบีบไต้หวันจนเลิกพูดกันเรื่องการใช้ "เส้นเขตกึ่งกลาง" นี้อีกต่อไป

ขณะที่ไต้หวันยังถือว่า “เส้นแบ่งกลาง” นี้เป็นเรื่องที่ต้องหวงเเหน

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไต้หวัน โจเซฟ วู เคยพูดว่าการเปลี่ยนแปลงสถานภาพปัจจุบันของความสัมพันธ์จีนและไต้หวัน จะเป็นสิ่งที่ไต้หวัน “ไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้”

แต่จะว่าไปแล้วนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เป็นเรื่องที่ยากที่ไต้หวันจะปกป้อง "เส้นเขตกึ่งกลาง" โดยไม่เสี่ยงต่อการยั่วยุจีน

ประธานาธิบดีไต้หวันไช่ อิงเหวิน พูดมาหลายครั้งว่าไต้หวันจะไม่เป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นก่อน

และไม่เป็นที่เเน่ชัดว่าไต้หวันจะได้รับการสนับสนุนของนานาชาติเพียงพอที่จะป้องปรามไม่ให้จีนลาดตระเวนในบริเวณนี้หรือไม่

เพราะย่านนั้นเป็นเส้นทางสำคัญของการขนส่งสินค้าของโลก

ช่องเเคบไต้หวันมีความกว้าง 180 กิโลเมตร แต่ในจุดที่เเคบที่สุด "เส้นเขตกึ่งกลาง" ห่างจากน่านน้ำไต้หวันประมาณ 40 กิโลเมตรเท่านั้น

กองเรือจีนมีกิจกรรมใกล้น่านน้ำไต้หวันอยู่เป็นประจำ และทำให้ความพยายามใดๆ ของจีนที่จะปิดกั้นไต้หวันทางทะเลทำได้ง่ายขึ้น

ในช่วงไม่นานนี้เรือของทั้ง 2 ฝ่ายปฏิบัติการเดินเรือตอบโต้กันเหมือน "แมวจับหนู" ทางการทหาร

โดยที่เรือจีนพยายามเดินทางวนเวียนใกล้เรือไต้หวัน และข้ามเส้นกึ่งกลางของทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการของกองทัพอากาศจีนควบคู่ไปด้วย

ประธานาธิบดีไต้หวันออกมากล่าวหาว่าจีนและรัสเซีย “ก่อกวนและคุกคามระเบียบโลก” ผ่านการซ้อมรบของกองทัพจีนรอบๆ เกาะไต้หวัน และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ไช่อิง เหวิน พบกับวุฒิสมาชิก มาร์ชา แบล็กเบิร์น วุฒิสมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการกองทัพแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่กรุงไทเป เมื่อเร็วๆ นี้ อ้างถึงการเดินหน้าซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันของกองทัพจีน

และบอกว่า “พัฒนาการต่างๆ นี้แสดงให้เห็นว่าประเทศอำนาจนิยมกำลังก่อกวนและคุกคามระเบียบโลก”

วุฒิสมาชิก มาร์ชา แบล็กเบิร์น ตัวแทนพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี เน้นย้ำการสนับสนุนของสหรัฐฯ กับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงต่างประเทศจีนไม่รอช้า ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของ ส.ว.แบล็กเบิร์น และเรียกร้องให้เธอยุติการสื่อสารอย่างเป็นทางการทุกรูปแบบกับไต้หวัน เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องไปยังไต้หวัน

แต่บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ ก็ยังตบเท้าเยือนไทเปอย่างต่อเนื่อง

ไม่ได้แสดงความเกรงใจปักกิ่งแต่ประการใด

ดังนั้น “เส้นแบ่งชายแดน” ระหว่างเกาะไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่จึงเป็นเรื่อง “เรื่องสมมติ” ที่สลายหายไปต่อหน้าต่อตาเมื่อความตึงเครียดถูกเร่งเครื่องขึ้นจนทั้ง 2 ฝ่ายจงใจจะ “พูดกันคนละเรื่อง” หรือ “ไปไหนมา สามวาสองศอก” ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว