ย้อนหลัง-ย้อนแย้ง

ของเก่าก็มีประโยชน์ครับ

วันนี้ขุดของเก่ามาอธิบายความกฎหมาย ว่าด้วยเรื่อง กฎหมายมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ เพื่อเทียบเคียงกรณี นายกฯ ๘ ปี มาตรา ๑๕๘ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีผลย้อนหลังไปถึงปี ๒๕๕๗ หรือไม่

ในอดีตกูรูกฎหมายให้ความเห็นประเด็นนี้เอาไว้เยอะ

เพจ บรรทัดฐานคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญ โพสต์เอาไว้เมื่อปี ๒๕๖๐ ความดังนี้ครับ

"...หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง

แนวคิดนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  บางตำรา มีการเจาะลึกไปในรายละเอียดว่า  บางกรณีก็อาจย้อนหลัง  บางกรณีก็ไม่อาจย้อนหลังได้ 

ในเรื่องนี้  มีความเห็นของทั้ง ๒ ฝ่าย  มาให้อ่านกันครับ

โดยเป็นคำวินิจฉัยที่ ๓-๕/๒๕๕๐   เรื่อง อัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย

ศาสตราจารย์(พิเศษ)  ดร.อักขราทร  จุฬารัตน  (อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ)  (เสียงข้างมาก)  ในคดีนี้ 

เห็นว่า  หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังนี้  เป็นหลักที่เกิดจากคำกล่าวตั้งแต่สุภาษิตลาติน  Nullum crimen sine lege  ไม่มีการกระทำความผิดหากไม่มีกฎหมายกำหนด  และ  Nulla poena sine lege  บุคคลจะไม่ต้องรับโทษหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ 

หลักกฎหมายดังกล่าว  มิใช่เป็นหลักกฎหมายที่เป็นหลักเด็ดขาดแต่อย่างใด  คือ  จะตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษทางอาญามิได้ 

ความคิดในสมัยแรก  ๆ  แม้จะมีขึ้นเพื่อให้มีการป้องกันสิทธิเสรีภาพของเอกชน  แต่ในระยะเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันแนวคิดในทางกฎหมายเห็นว่า  สังคมต้องมีการพัฒนาและกฎหมายที่ได้ตราขึ้นใหม่ย่อมเป็นที่เข้าใจและยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่ต้องดีกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิมเป็นธรรมต่อสังคมและเหมาะสมกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว 

ดังนั้น  ในทางกฎหมายจึงมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับอำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังได้  โดยเฉพาะในอันที่เห็นว่าจะเป็นไปเพื่อป้องกันหรือทำให้หมดไปในสิ่งที่เห็นว่าเป็นอันตรายหรือเป็นที่มาของความไม่เป็นธรรม  เพื่อคุ้มครองให้เกิดความมั่นคงและความยุติธรรมในสังคมด้วย 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในตำราความรู้เบื้องต้นกฎหมายทั่วไปของประเทศต่าง  ๆ 

อย่างไรก็ตาม  หลักในเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังก็ยังคงยึดถือในกรอบของการลงโทษทางอาญาเป็นหลัก

แต่ทั้งนี้  นายธานิศ  เกศวพิทักษ์  (อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ)  (เสียงข้างน้อย)  ในคดีนี้  เห็นว่า  เหตุผลสำคัญที่รัฐไม่พึงออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น  เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลที่มีต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ  

ทั้งนี้เพราะหากการปกครองในบ้านเมืองใด  รัฐไม่ยึดมั่นในภาษิตกฎหมายบทหนึ่งว่า  “ไม่มีความผิด  ไม่มีโทษ  ถ้าไม่มีกฎหมาย”  ราษฎรย่อมไม่มีหลักประกันว่าสิ่งที่ตนได้กระทำไปในวันนี้ในอนาคตกาลวันข้างหน้าจะไม่มีกฎหมายย้อนหลังออกมาเอาผิดให้เป็นผลร้ายแก่ตนหรือไม่ 

ดังนั้น  นานาอารยประเทศจึงมิใช่เพียงมีข้อจำกัดห้ามออกฎหมายย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลเฉพาะกรณีที่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาเท่านั้น 

หากแต่ได้นำหลักการตามภาษิตกฎหมายที่ว่านี้ไปใช้บังคับแก่การตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลในกรณีอื่น  ๆ  ด้วย 

เช่น  คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับโทษทางภาษีว่า  หลักการไม่มีบังคับย้อนหลังของกฎหมายไม่ได้ใช้บังคับแต่เฉพาะกับกฎหมายที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทางอาญาเท่านั้น  หากแต่ต้องขยายไปใช้บังคับแก่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทุกประเภทด้วย 

และศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันก็เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  การตรากฎหมายย้อนหลังไปใช้บังคับกับข้อเท็จจริงที่จบลงแล้วให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลจะกระทำไม่ได้..."

มีนักกฎหมายหลายคนที่พูดถึง หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย  และหนึ่งในนั้นคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อครั้งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเห็นปรากฎอยู่ใน หนังสือ การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง ตีพิมพ์ เมื่อปี  ๒๕๕๒ โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื้อหาบางตอนของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" มีดังนี้

"...ในนิติรัฐ นอกจากหลักความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่อยู่ เคียงคู่กันไป คือ หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย

หลักการดังกล่าวเรียกร้องว่า บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐต้องได้รับหลักประกันจากรัฐว่าบุคคล สามารถเชื่อมั่นในความคงอยู่ของกฎหมาย กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือการตัดสินใจใด ๆ ของรัฐ โดยไม่ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นธรรมและปราศจากเหตุผล

หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย (Le principe de confiancelegitime) ปรากฏในระบบกฎหมายหลายประเทศเช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสสเปน โปรตุเกส กรีซ และสหภาพยุโรป เป็นต้น โดยนำไปบังคับใช้ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป และผูกมัดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายปกครอง

เช่น การไม่มีผลย้อนหลังของกฎหมาย การไม่มีผลย้อนหลังของคำสั่งทางปกครอง การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งและผู้เกี่ยวข้องได้รับไปแล้วโดยสุจริต ความรับผิดของรัฐในกรณีออกกฎหมายและคำสั่งที่ส่งผลเสียต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรณีเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นต้น...

...หากคิดว่าหลักกฎหมายเหล่านี้สลับชับซ้อน ก็ลองคิดง่าย ๆ ว่า หากวันหนึ่ง เราตัดสินใจกระทำการอย่างบางประการ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด หรือมีโทษ (ไม่ว่าจะอาญาหรือไม่ก็ตาม) วันข้างหน้ามีกฎหมายกำหนดให้การกระทำ นั้นถือเป็นความผิดและมีโทษ (ไม่ว่าจะอาญาหรือไม่ก็ตาม) และให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนออกกฎหมายนี้ด้วยวิญญูชนพิจารณาแล้วกฎหมายนี้เป็นธรรมหรือไม่?             ตัวอย่างดังกล่าว อาจไกลตัวเกินไป ลองเปลี่ยนตัวอย่างให้เกี่ยวข้องมากขึ้น

สมมติว่า วันหนึ่งมีการออกพระราชบัญญัติ กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยคดีโดยใช้และตีความกฎหมายผิดเพี้ยน หรือสร้างหลักการประหลาด อาจถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่งได้ ถ้าเกษียณอายุไปแล้ว ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จบำนาญ ทั้งนี้ไม่ว่าการวินิจฉัยนั้นจะเกิดก่อนหรือหลังพระราชบัญญัตินี้

ต่อมา มีกระบวนการกล่าวหาว่า ตุลาการกลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันวินิจฉัยในคดี หนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วว่า ได้ร่วมกันสร้างหลักการประหลาดในระบบกฎหมายไทย นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติภูมิต่อนักกฎหมายและบรรพตุลาการ ศาลที่ทำหน้าที่ พิจารณาคดีเห็นด้วยกับข้อกล่าวหา เพราะการปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษา

และการตัดเงินบำเหน็จบำนาญไม่ใช่โทษทางอาญา ย่อมมีผลย้อนหลังได้ และผล ร้ายย้อนหลังนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ป้องกัน "มิให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบกฎหมาย โอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง" จึงวินิจฉัยให้ปลดผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เคยร่วม วินิจฉัยคดีดังกล่าวออกจากตำแหน่ง

ถามว่า ในสายตาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ คน คำวินิจฉัยในคดี สมมตินี้ชอบด้วยหลักนิติรัฐและเป็นธรรมหรือไม่ พระราชบัญญัติสมมตินี้ชอบด้วยหลักนิติรัฐและเป็นธรรมหรือไม่?

หากคำตอบคือไม่ ฉันใดฉันนั้น ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ และคำวินิจฉัยที่ ๓-๕/๒๕๕๐ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการ บริหารพรรค ๕ ปี ก็ย่อมขัดกับหลักนิติรัฐและไม่เป็นธรรมดุจกัน...   

ต้องค่อยๆอ่านทำความเข้าใจ ก็พอแยกแยะได้ว่าครั้่งหนึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะประเด็น กฎหมายมีผลย้อนหลังหรือไม่ 

จะเห็นได้ว่าคำอธิบายของ ปิยบุตร ใช้ลูกล่อลูกชนแพรวพราว ยกตัวอย่างเหน็บแนมศาล เพราะขณะนั้น "ปิยบุตร" เป็นคนหนึ่งที่มองว่า ไม่อาจย้อนหลังไปเอาผิดกลุ่มนักการเมืองบ้านเลขที่ ๑๑๑ ในพรรคไทยรักไทยได้

พูดไปมันก็ใกล้เคียงกัน เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า นายกฯอยู่ได้แค่ ๘ ปี

มาเขียนใหม่เมื่อ ๕ ปีที่แล้วว่า อยู่เกิน ๘ ปี ไม่ได้จะเป็นเผด็จการ

ครับ...ไม่ต้องสรุปอะไร เพราะผู้ที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายนี้่คือศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง