ครองขวัญ รอดหมวน

ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความหวังของ “ภาคการท่องเที่ยว” หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลได้เดินหน้าผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ ตลอดจนมีการเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยวที่เจอกับมรสุมโควิด-19 อย่างหนักหน่วงในช่วง 2 ปีกว่า เริ่มเห็นทิศทางที่สดใสมากขึ้น โดยกระทรวงการคลังเองก็คาดหวังว่าในปีนี้จะเห็นภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 8-10 ล้านคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปี 2566

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประเมินภาพรวมภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 ว่า 

จะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังไทยมีโอกาสเพิ่มสูงกว่าที่คาดไว้จาก 7.4 ล้านคนเป็นอาจแตะ 10 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหลังผ่อนคลายมาตรการในช่วง ก.ย.2564 นักท่องเที่ยวไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนกระตุ้นทำให้เกิดความมั่นใจในการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น หลังการเปิดประเทศของไทยและการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเริ่มออกไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชีย

 “ในระยะข้างหน้า EIC คาดว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะฟื้นตัวกลับไปที่ก่อนโควิดได้ในช่วงปี 2566 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2567 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีกำลังซื้อบางส่วนจะออกเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวได้ดีจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของไทยอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับมาเดินทางระหว่างประเทศได้ในช่วงปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และทำให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินของไทยเริ่มฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อนโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2567 และ 2568 เป็นต้นไป”

โดยประเมินว่า จำนวนผู้เข้าพักและอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น จาก 1.นักท่องเที่ยวไทยที่มีความมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น แต่กำลังซื้อที่ลดลงกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเลือกเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดเมืองรองเพื่อลดค่าใช้จ่าย และ 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเร่งตัวจาก Pent-up demand ของการท่องเที่ยว แต่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวให้กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก อย่างจีนยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้นคาดว่าธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขัน โดยการจัดโปรโมชั่นและการกำหนดราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายจาก 1.ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคบริการ 2.นักท่องเที่ยวไทยที่มีกำลังซื้อบางส่วนเริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น 3.การแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจโรงแรมจากการลดราคาห้องพักของโรงแรมในระดับ 4-5 ดาว รวมถึงการแข่งขันจากโรงแรมที่เคยปิดบริการชั่วคราวที่เริ่มกลับมาให้บริการมากขึ้น

ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจสายการบินสัญชาติไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเริ่มทยอยฟื้นตัวจากที่หดตัวรุนแรงในปี 2563-2564 จากวิกฤตโควิด-19 และมีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท (คิดเป็น 40% ของรายได้ปี 2562) แต่ก็ยังเผชิญความท้าทายหลายประการที่จะสร้างความเสี่ยงต่อภาวะทางการเงินที่ค่อนข้างเปราะบาง ได้แก่ 1.ภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เร่งตัวขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 2.การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน 3.การฟื้นตัวของขีดความสามารถในการดำเนินการด้านการบิน 4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ 5.การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบิน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นวัตกรรมดัน‘เศรษฐกิจใหม่’

ท่ามกลางกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกขบวนการลงทุน มุมมองใหม่ๆ เข้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางการในเทคโนโลยี

อย่าฉวยโอกาสยามวิกฤต

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ใช้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนในทุกๆ ด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตอย่างอุตสาหกรรม การบริการ การขนส่ง ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันได้ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

อสังหาฯไทยอาจซึมยาว?

สถานการณ์การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนกำลังซื้อหดหาย ภาวะการเงินที่ไม่ผ่อนปรนเหมือนกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากหนี้เสียเริ่มลุกลามไปยังตลาดกลุ่มบน

จับตา“ส่งออกไทย”ท่ามกลางสงครามการค้า

“ภาคการส่งออก” ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกว่าจะขยายตัวได้ 2-3% หลังจากที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568

ผุดสถาบันปั้นซอฟต์พาวเวอร์

ประเทศไทยถือว่ามีซอฟต์พาวเวอร์อยู่หลายแขนง ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดค้นโซลูชัน วิธีการ